สำหรับคนที่เข้ามาดูบทความนี้ก็น่าจะรู้จักกับ Bitcoin กันมาบ้างเช่นว่า มันคือเงินดิจิทัล อยู่บนโลกอินเทอร์เนต ไม่ศูนย์กลาง มี Blockchain ซึ่งในบทความนี้เราจะไม่ได้มาเล่าว่าตัว Bitcoin นั้นคืออะไรทำงานอย่างไร แต่เราจะขอเล่าถึงรูปแบบการเงินในอดีตก่อนที่จะมี Bitcoin จนมี Bitcoin ที่ราคาหน่วยละไม่ถึง 1 usd/btc จนกระทั่งมันไปสู่ 20000 usd/btc ในปี 2017 นั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของเงินตราและระบบการแลกเปลี่ยน รวมถึงเข้าใจปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานของระบบการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงเหตุผลของการสร้าง Bitcoin ขึ้นมา
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!การเงินก่อนยุคดิจิทัล
ย้อนกลับไปก่อนที่มนุษย์จะเริ่มมีรัฐบาล ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มมีประเทศ ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มมีสกุลเงิน ระบบแลกเปลี่ยนเดียวที่มนุษย์รู้จักในขณะนั้นก็คือระบบของแลกของ (Barter System) ยกตัวอย่างเช่น นาย A อยากได้ อุปกรณ์เพาะปลูก นาย B อยากได้ยารักษาโรค และถ้าทั้งคู่ต่างมีสิ่งที่ต่างฝ่ายต้องการ การแลกเปลี่ยนมูลค่าสิ่งของก็จะเกิดขึ้น และต่างฝ่ายก็จะได้สิ่งของที่ต้องการ
และถ้า นาย A มีอาหารและต้องการที่จะแลกเปลี่ยนกับอุปกรณ์เพาะปลูก ในขณะที่นาย B มีอุปกรณ์เพาะปลูก แต่ไม่ได้ต้องการอาหารเลยแม้แต่น้อย นาย B ต้องการเพียงยารักษาโรคเท่านั้น ต่างฝ่ายก็จะไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เพราะไม่ได้มีสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องการ แต่ในกรณีนี้หากมีบุคคลที่สาม เช่น นาย C ที่มียารักษาโรคและต้องการแลกกับอาหาร การแลกเปลี่ยนก็จะสมบูรณ์โดยทั้งสามก็จะสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งของที่แต่ละคนต้องการได้
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาของระบบ Barter System นั้นคือ ความยุ่งยากและลำบากหากแต่ละฝ่ายไม่ได้มีสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ ดังนั้น ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนจึงจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้น สิ่งแรกที่มนุษย์นำมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน คือ ‘เกลือ’ เนื่องจากในอดีตเกลือเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับในด้านของมูลค่าเพราะเก็บรักษาไว้ได้นาน และเกลือสามารถนำไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ในยุคต่อมาตัวกลางแลกเปลี่ยนก็ได้เปลี่ยนมาเป็นหินแร่ เช่น ทองคำ หรือ เพชร เนื่องด้วยความหายาก การยอมรับในมูลค่า การปลอมแปลงได้ยาก และสภาพที่คงทน สุดท้ายหินแร่เหล่านั้นก็ถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในการสร้างรูปแบบของเงินที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นั่นก็คือ “เหรียญกษาปณ์” เหมือนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
แน่นอนว่าการเคลื่อนย้ายเงินที่เป็นแร่โลหะจำนวนมากนั้นไม่ได้สะดวกสบายเสมอไป ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นระบบธนาคารหรือสถาบันทางการเงินขึ้นมา โดยธนาคารจะทำการมอบตั๋วธนบัตรให้กับผู้ที่นำทองหรือเงินในรูปแบบอื่น ๆ มาฝาก ซึ่งตั๋วธนบัตรที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของมูลค่าและจะถูกค้ำประกันโดยธนาคารนั้น ๆ ทำให้การแลกเปลี่ยนสิ่งของและการกำหนดมูลค่าของสิ่งของต่าง ๆ สามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้นเมื่อไม่จำเป็นต้องพกเหรียญทองจำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน ปัญหาที่ตามมาก็คือการฉ้อโกงและการปลอมแปลงตั๋วเงินธนบัตรนั้น สามารถทำได้ง่ายกว่าการปลอมแปลงเหรียญหรือโลหะประเภทอื่นๆ
ต่อมาในช่วงการปกครองของราชวงศ์ถัง ประเทศจีนก็ได้คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่โดยการนำกระดาษมาใช้แทนเหรียญกษาปณ์ทั่วไปเพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน แนวคิดนี้ต่างกันกับตั๋วธนบัตรตรงที่ ตั๋วธนบัตรนั้นเป็นเสมือนตัวแทนมูลค่าทรัพย์สินที่เรานำไปฝากธนาคารไว้ แต่เงินกระดาษ (จากนี้จะเรียกว่า ‘ธนบัตร’) สามารถทำตัวเป็นเงินได้เอง สามารถใช้ชำระหนี้ และแลกเปลี่ยนได้ และยังสามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ ที่สะดวกต่อการใช้งานมากกว่าตั๋วธนบัตรอีกด้วย
เริ่มแรกแนวคิดนี้ถูกใช้ในบางพื้นที่ของประเทศจีนเท่านั้น โดยเงินธนบัตรจะมีการค้ำประกันโดยอำนาจรัฐที่ปกครองพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งในช่วงแรกมีผู้คนต่อต้านแนวคิดการใช้ธนบัตรนี้เนื่องจากเห็นว่ากระดาษไม่ได้มีมูลค่าเท่ากับเหรียญที่เคยใช้กัน แต่เมื่อผู้คนเริ่มเห็นถึงความสะดวกสบายของการใช้เงินธนบัตรแล้ว ผู้คนทั่วทั้งประเทศจีนจึงเริ่มยอมรับมากขึ้น จนกระทั่งสามารถสร้างธนบัตรของสกุลเงินจีนที่รัฐบาลยอมรับให้ใช้ชำระหนี้ได้ในแผ่นดินจีน และแนวคิดเงินธนบัตรนี้ก็ได้แพร่กระจายไปตามยุโรป และทั่วโลกในเวลาต่อมา
การมีขึ้นของธนบัตรทำให้ความคล่องตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เพราะจากการค้าที่ต้องใช้ทองหนัก 1 ตันในการแลกเปลี่ยน กลายเป็นใช้กระดาษน้ำหนักเพียงไม่กี่กรัมแต่มีมูลค่าเทียบเท่ากัน ทำให้การค้าสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ธนบัตรก็ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องพยายามเป็นอย่างมากที่จะสร้างกลไกในการป้องกันการปลอมแปลงหรือการสร้างธนบัตรปลอมขึ้นมาใช้งาน นอกจากนี้แต่ละประเทศก็จะยอมรับเพียงสกุลเงินของประเทศตัวเอง หรือสกุลเงินของประเทศอื่นบางประเทศเท่านั้น และด้วยความแตกต่างของธนบัตรกับตั๋วธนบัตรของธนาคารที่ธนบัตรนั้นจะไม่มีการนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าไปค้ำประกัน ทำให้เงินในรูปแบบของธนบัตรสามารถถูกผลิตออกมาได้เรื่อย ๆ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งถ้ามีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้น จะส่งผลเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างแน่นอน หลายประเทศจึงต้องเริ่มใช้งานระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ในการค้ำประกันมูลค่าของเงินประเทศนั้น ๆ ตามราคาทองคำที่ประเทศตนตั้งราคาซื้อขายเอาไว้ สิ่งนี้ทำให้การผลิตเงินจะถูกจำกัดให้เงินมีมูลค่าไล่เลี่ยกับทองคำที่ประเทศนั้น ๆ มีสำรองไว้
ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก กับอุตสาหกรรม ภาษี รายได้ส่วนบุคคล อัตราการว่างงาน ตลาดหุ้น และอื่น ๆ อีกมากมาย แทบทุกองค์ประกอบของเศรษฐกิจตกต่ำลงจากเหตุการณ์นี้ ผู้คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าระบบ Gold Standard ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง เมื่อไม่มีปริมาณเงินในประเทศเพียงพอ แม้กระทั่งคนจนบางคนยังไม่มีแม้แต่เงินสักเหรียญ ทำให้สหราชอาณาจักรยกเลิก Gold Standard และปล่อยให้เงินปอนด์ลอยตัวในตลาดแลกเปลี่ยนเป็นประเทศแรกในปี ค.ศ. 1931 ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย และสหรัฐอเมริกา ยกเลิกตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้น ในยุคสงครามเวียดนามสหรัฐอเมริกา ขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวลดลง ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอ่อนค่า หลายประเทศที่ถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดความสงสัยว่า สหรัฐอเมริกา พิมพ์ธนบัตรออกมาใช้มากกว่าทองคำที่เป็นทุนสำรองอยู่หรือไม่ จึงนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแลกทองคำกลับมา และแน่นอนว่าสหรัฐฯไม่สามารถหาทองคำให้แลกคืนได้พอ นายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ประกาศยุติ Gold Standard และให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิขของความเชื่อแต่ละประเทศ จนส่งผลให้ทั้งโลกค่อย ๆ ปรับตัวมาใช้ระบบเงินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือระบบเงินตราเฟียต (Fiat Currency) ที่ทำให้การผลิตเงินนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศใช้ทองคำหรือทรัพย์สินบางส่วนมาค้ำประกันมูลค่าของเงินเพื่อไม่ให้เงินลอยตัวเกินไป ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้การผลิตเงินของแต่ละประเทศมีอิสระมากขึ้น สามารถช่วยลดความฝืดเคืองของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในทางกลับกันมันคือดาบสองคม เพราะมันทำให้รัฐบาลสามารถผลิตเงินออกมาได้ตามอำเภอใจ จนเกิดสภาวะเงินเฟ้อ และยิ่งสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจได้
ข่าววิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความผันผวนของมูลค่าของเงิน นั่นก็คือ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เมื่อประเทศไทยไม่ยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวและทำการบังคับให้เงินบาทมีมูลค่าแบบตายตัวโดยอิงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การโจมตีสกุลเงินจึงเกิดขึ้นจนถึงจุดที่ประเทศไทยไม่มีเงินต่างประเทศสำรองในการบังคับมูลค่าเงินบาทให้อยู่ในสภาพตายตัวได้อีกต่อไป รัฐบาลไทยจึงจำเป็นที่จะต้องปล่อยเงินบาทลอยตัว ซึ่งเป็นการลอยตัวที่สูงและส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างหนักหน่วง เมื่อเงินที่ทุกคนถือในมือมีมูลค่าลดลงเหลือครึ่งหนึ่งในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า ที่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่จะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มอย่างมหาศาล ทำให้ผู้คนมากมายต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากวิกฤตดังกล่าว
เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติมาไกลแค่ไหนจากการใช้สิ่งของในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จากการใช้เกลือในการแลกเปลี่ยน เป็นการค้นพบแร่ธาตุโลหะอันมีค่าทำให้มนุษย์เปลี่ยนมาใช้ทองคำ จากทองคำจึงกลายมาเป็นรูปแบบของธนบัตรที่ไม่มีมูลค่าที่แท้จริงในตัวของมันเอง แต่เงินเหล่านี้มีมูลค่าได้ เพราะมีรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เป็นผู้ค้ำประกัน และควบคุมดูแลให้มันมีมูลค่าที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าวันใดเกิดวิกฤตการณ์ที่รัฐบาลของประเทศนั้นไม่สามารถควบคุมได้ มูลค่าของเงินก็จะแปรผันไปตามปัจจัย ต่างๆ
ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตัวกลางเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเงินเหรียญกษาปณ์หรือธนบัตรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดกัน นั่นก็คือ ตัวกลางเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าในตัวของมันเอง เงินตราจะมีค่าเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีคนยินดีจ่ายมากน้อยแค่ไหนในการแลกเปลี่ยน โดยอุปทานหรือปริมาณเงินในตลาด ของสกุลเงินหนึ่งที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ประเทศนั้นร่ำรวยมากขึ้น หากไม่ได้มีอุปสงค์หรือความต้องการที่เพิ่มขึ้น ผลที่เกิดคือราคาสินค้าทุกชนิดจะมีราคามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการสร้างธนบัตร หรือ เหรียญกษาปณ์ที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวเองนั้น ก็เพื่อให้ระบบแลกเปลี่ยนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์ การที่ประเทศจะมีความมั่งคั่งหรือมีเศรษฐกิจที่ดีได้ ไม่ได้วัดจากว่าคนในประเทศมีเงินมากเท่าไร แต่วัดจากการที่เงิน หรือการไหลเวียนของการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจนั้น มีสภาพคล่องมากเท่าไร ยิ่งมีการใช้จ่ายมากเท่าไร และมีการโอนย้ายของเงินรวดเร็วเพียงใด ระบบเศรษฐกิจก็จะเติบโตได้เร็วขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มูลค่าของสิ่งของเหล่านั้นจะถูกส่งต่อระหว่างคนต่อคน องค์กรต่อองค์กร หรือประเทศต่อประเทศ และทุกครั้งที่ส่งต่อก็จะเกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการแลกเปลี่ยน
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากว่า ‘เงิน’ สามารถถูกส่งถึงกันได้ด้วยความเร็วเทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ต หากการโอนย้ายมูลค่าจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกสามารถทำได้ด้วยการใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที สิ่งนี้จะนำมาซึ่งสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งนี่คือแนวคิด และจุดประสงค์ในการกำเนิดขึ้นของ Cryptocurrency อันที่จริงแล้วแนวคิดเกี่ยวกับเงินดิจิทัลหรือ Digital Currency นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นและมีมาก่อน Bitcoin เสียอีก เพียงแต่ว่าแนวคิดเหล่านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งมาถึงยุคของ Bitcoin
และจบกันไปแล้วนะครับกับประวัติศาสตร์การเงินก่อนยุคดิจิทัล ในตอนต่อไปเราจะมาเล่าให้ฟังว่าเมื่อโลกเรามีอินเทอร์เนตแนวคิดของเงินดิจิทัลเกิดขึ้นแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้างจนกระทั่งมันมาถึงยุคของ Bitcoin