fbpx

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 8 เงินดิจิทัล part 2

อุปทาน มูลค่า และธุรกรรม  Thank you for reading this post, don't forget to subscribe! การที่จะสร้างสินทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตของอุปทานที่ต่ำหรือคงที่อย่างคาดเดาได้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทางทฤษฎีมาตลอด แต่เช่นเสมอมา ความเป็นจริงนั้นยุ่งยากซับซ้อนกว่าทฤษฎีอยู่เสมอ รัฐบาลไม่มีวันที่จะยอมให้กลุ่มเอกชนใดๆสร้างเงินขึ้นมาเองและล่วงละเมิดเข้าไปยั

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 8 เงินดิจิทัล part 2

18 Nov 2020

อุปทาน มูลค่า และธุรกรรม

 

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

การที่จะสร้างสินทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตของอุปทานที่ต่ำหรือคงที่อย่างคาดเดาได้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทางทฤษฎีมาตลอด แต่เช่นเสมอมา ความเป็นจริงนั้นยุ่งยากซับซ้อนกว่าทฤษฎีอยู่เสมอ รัฐบาลไม่มีวันที่จะยอมให้กลุ่มเอกชนใดๆสร้างเงินขึ้นมาเองและล่วงละเมิดเข้าไปยังวิถีทางหลักที่รัฐบาลใช้ในการจ่ายเงินให้กับตัวเองและเติบโตขึ้นมาได้ รัฐบาลจึงมีความต้องการที่จะผูกขาดการผลิตเงินและพ่ายต่อแรงเย้ายวนในการทำการเพิ่มอุปทานของเงินอยู่เสมอ แต่ด้วยการถือกำเนิดขึ้นของบิตคอยน์ โลกได้ก้าวมาถึงรูปแบบของเงินสังเคราะห์ที่มีกฎเหล็กควบคุมและค้ำประกันอัตราการเจริญเติบโตของอุปทานที่ต่ำของมัน บิตคอยน์ได้นำเอานักเศรษฐศาสตร์มหภาค นักการเมือง ประธานาธิบดี ผู้นำการปฏิวัติ เผด็จการทหาร และพวกนักวิเคราะห์ตามทีวีออกไปจากนโยบายการเงินอย่างสิ้นเชิง การเติบโตของปริมาณอุปทานเงินเป็นไปตามการทำงานของโปรแกรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าที่ได้รับการยอมรับโดยสมาชิกทุกคนในโครงข่าย

 

มันอาจมีช่วงเวลาหนึ่งตอนที่สกุลเงินนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นใหม่ๆ ที่ยังเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของมัน แต่ช่วงเวลานั้นก็ได้ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ในทางปฏิบัติแล้วตารางกำหนดการการเพิ่มขึ้นของบิตคอยน์เป้นสิ่งที่ไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับบันทึกธุรกรรมทั้งหมดของมัน7 แม้อัตราการเจริญเติบโตของอุปทานบิตคอยน์ในช่วงปีแรกๆจะมีระดับที่สูงมาก และการรัรบประกันว่าตารางการผลิตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอัตราการเพิ่มขึ้นของอุปทานก็ตกลงและความน่าเชื่อถือของโครงข่ายในการรักษาตารางการผลิตนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นและยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกๆวันที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใดๆเกิดขึ้นกับระบบ 

 

บล็อคของบิตคอยน์จะถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีร่วมทุกๆ 10 นาทีโดยประมาณ ในวันที่ระบบถือกำเนิดขึ้น ผลรางวัลสำหรับแต่ละบล็อคถูกกำหนดไว้ที่ 50 บิตคอยน์ต่อบล็อค ทุกๆประมาณสี่ปีหรือหลังจากผ่านไป 210,000 บล็อค รางวัลในแต่ละบล็อคก็จะลดลงครึ่งหนึ่ง การฮาล์ฟวิ่งครั้งแรกเกิดขึ้น ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 โดยหลังจากวันนั้นอัตราการผลิตบิตคอยน์ก็ตกลงเหลือ 25 บิตคอยน์ต่อบล็อค ในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.2016 มันก็ลดลงอีกครั้งหนึ่งเหลือเพียง 12.5 บิตคอยน์ต่อบล็อค และจะลดลงเหลือ 6.25 ในปีค.ศ. 2020 จากกำหนดการดังกล่าวบิตคอยน์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ และวิ่งเข้าหาจำนวน 21 ล้านบิตคอยน์ประมาณปีค.ศ. 2140 โดยหลังจากนั้นจะไม่มีการผลิตบิตคอยน์เพิ่มขึ้นอีกแม้แต่น้อย (ดูรูปที่ 14)

 

รูป (ภาพแสดงอุปทานและอัตราการเติบโตของอุแทานบิตคอยน์บนสมมติฐานว่าบล็อคใหม่ถูกสร้างขึ้นทุกๆสิบนาที) รูปที่ 14 อุปทานและอัตราการเติบโตของอุปทานบิตคอยน์บนสมมติฐานว่าบล็อคใหม่ถูกสร้างขึ้นทุกๆสิบนาที

 

เนื่องจากเหรียญใหม่จะถูกสร้างขึ้นเมื่อมีการสร้างบล็อคใหม่ขึ้นเท่านั้น และแต่ละบล็อคที่เกิดขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการประมวลผลพรูฟ-ออฟ-เวิร์ค มันจึงมีค่าใช้จ่ายในการผลิตบิตคอยน์ขึ้นมาใหม่ เมื่อราคาของบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้น โหนดจำนวนมากขึ้นก็เข้ามาทำการแข่งขันกันประมวลผลพรูฟ-ออฟ-เวิร์คเพื่อแย่งชิงเงินรางวัลในแต่ละบล็อค ซึ่งจะทำให้ระดับความยากในการประมวลพรูฟ-ออฟ-เวิร์คเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้รับเงินรางวัล ต้นทุนในการผลิตบิตคอยน์จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาด

 

หลังจากทำการกำหนดตารางการเติบโตของอุปทานดังนี้แล้ว ซาโตชิก็ได้แบ่งแต่ละบิตคอยน์ออกเป็น 100,000,000 หน่วยที่ตอนหลังถูกเรียกว่าซาโตชิเพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้สร้างมันขึ้นมา การแบ่งบิตคอยน์ออกเป็นทศนิยม 8 ตำแหน่งหมายความว่าบิตคอยน์จะคงมีอุปทานเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงไปเรื่อยๆจนถึงราวๆปีค.ศ. 2140 จึงจะมีบิตคอยน์ถูกผลิตขึ้นมาเต็มจำนวน 21,000,000 บิตคอยน์ โดยอัตราการเติบโตที่ลดลงเรื่อยๆหมายความว่า 20 ล้านบิตคอยน์แรกจะถูกขุดขึ้นมาในช่วงประมาณปีค.ศ. 2025 เหลือไว้เพียงอีก 1 ล้านเหรียญให้แย่งกันขุดไปอีกกว่าหนึ่งศตวรรษ

 

ปริมาณของเหรียญใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จากที่กำหนดไว้ในโปรแกรมเนื่องจากบล็อคใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกๆ 10 นาทีเท่ากันทุกบล็อค เนื่องจากการปรับระดับความยากง่ายไม่ใช่กระบวนการที่มีความแม่นยำสูงหากแต่เป็นการปรับค่าความยากง่ายทุกๆประมาณสองสัปดาห์ โดยมันอาจมีค่าสูงหรือต่ำกว่าเป้าหมายที่แท้จริงได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของนักขุดหน้าใหม่ที่เข้ามาในแวดวงการขุด ในค.ศ. 2009 ที่มีคนเพียงไม่กี่คนที่เคยใช้บิตคอยน์ อัตราการผลิตนั้นล่าช้ากว่ากำหนดอยู่มากในขณะที่ในปี 2010 มันกลับมีบิตคอยน์เกิดขึ้นใหม่สูงกว่าเป้าหมายทางทฤษฎี แม้ตัวเลขจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ความผันผวนในอัตราการผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขทางทฤษฎีจะลดต่ำลงเรื่อยๆเมื่ออุปทานมีปริมาณสูงขึ้น แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงคือจำนวนเหรียญสูงสุดที่จะสามารถผลิตได้และความจริงที่ว่าอัตราการเติบโตของอุปทานจะลดลงทำให้มีเหรียญใหม่จำนวนน้อยลงเรื่อยๆที่ถูกเพิ่มเข้าไปยังคลังของเหรียญที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง

 

ในช่วงปลายปีค.ศ. 2017 มีเหรียญถูกขุดขึ้นมาแล้ว 16.775 ล้านเหรียญ นับเป็นอัตราส่วนร้อยละ 79.9 จากเหรียญทั้งหมดที่จะสามารถถูกผลิตขึ้นได้ อัตราการเจริญเติบโตของอุปทานในปีค.ศ. 2017 อยู่ที่ร้อยละ 4.35 ลดลงมาจากร้อยละ 6.8 ในค.ศ.2016

 

ตารางที่ 6 ปริมาณ และอัตราการเจริญเติบโตของอุปทานบิตคอยน์

ปี200920102011201220132014201520162017
อุปทาน BTC ทั้งหมด (หน่วย: ล้าน) 1.623

 
5.018 8.000

 
10.613

 
12.199

 
13.671

 
15.029

 
16.075

 
16.775
อัตราการเจริญเติบโตรายปี (หน่วย: ร้อยละ)209.13

 
59.42 32.66

 
14.94

 
12.06 9.93

 
6.80 4.35

เมื่อพิจารณาตารางการผลิตบิตคอยน์ในช่วงปีที่จะถึงโดยละเอียดเราจะได้ตัวเลขคาดการณ์สำหรับอุปทานและอัตราการเติบโตดังนี้ แม้ตัวเลขที่แท้จริงจะผิดเพี้ยนไปบ้างแต่ก็ไม่มากนัก (ดูตารางที่ 7 9)

 

ตารางที่ 7 อุปทานและอัตราการเติบโตของบิตคอยน์ (คาดคะเน)

ปี201820192020202120222023202420252026
อุปทาน BTC ทั้งหมด (หน่วย: ล้าน)17.415

 

 
18.055

 
18.527

 

 
18.855

 

 
19.184

 

 
19.512

 

 
19.758

 

 
19.923

 

 
20.087
อัตราการเจริญเติบโตรายปี (หน่วย: ร้อยละ) 3.82

 
3.68

 

 
2.61

 
1.77

 

 
1.74

  
1.71

 
1.26

 

 
0.83

 
0.82

 

รูปที่ 15 เป็นการคาดคะเนอัตราการเติบโตของอุปทานเงินโดยความหมายอย่างกว้างของสกุลเงินคงคลังหลักของโลกไปอีก 25 ปีในอนาคตโดยอาศัยข้อมูลในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นของอุปทานของบิตคอยน์ตามอัตราการเติบโตที่กำหนดไว้ จากการคำนวนนี้ อุปทานของบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 27 ใน 25 ปีต่อจากนี้ ส่วนอุปทานของทองคำจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 52 เงินเยนของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เงินสวิสฟรังค์ร้อยละ 169 เงินดอลล่าร์สหรัฐร้อยละ 272 เงินยูโรร้อยละ 286 และเงินปอนด์ร้อยละ 429

รูปที่ 15 การคาดคะเนอัตราการเจริญเติบโตของอุปทานใน 25 ปีของสกุลเงินประจำชาติและบิตคอยน์ (ค.ศ. 2016 = 1)

 

คำอธิบายดังกล่าวทำให้เราเห็นถึงประโยชน์ของความซื้อง่ายขายคล่องของบิตคอยน์และความสามารถในการตอบโจทย์ในการเป็นเงินของมันได้เป็นอย่างดี ด้วยอัตราการเติบโตของอุปทานที่จะลดลงต่ำกว่าทองคำภายในปี 2025 ทำให้บิตคอยน์มีการจำกัดปริมาณอุปทานที่ทำให้มันสามารถมีความต้องการในการนำมาใช้เป็นแหล่งเก็บมูลค่าที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมันสามารถมีความซื้อง่ายขายคล่องเชิงเวลานั่นเอง การที่มันเป็นดิจิทัลทำให้มันความปลอดภัยและง่ายต่อการส่งมันไปทั่วโลกทำให้มันมีความซื้อง่ายขายคล่องในเชิงระยะทางในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ในขณะที่ความสามารถในการแบ่งหน่วยย่อยออกได้ถึง 100,000,000 ซาโตชิทำให้มันมีสภาพคล่องในการซื้อขายเชิงปริมาณ นอกจากนั้นการตัดการควบคุมแทรกแซงโดยตัวกลางของบิตคอยน์และการที่มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้มีอำนาจใดๆที่จะสามารถทำลายมูลค่าหรือยึดครองมันได้ทำให้มันไม่มีข้อเสียของเงินของรัฐบาล ในขณะที่ยุคสมัยดิจิทัลได้นำมาซึ่งการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพในแทบทุกแง่มุมของชีวิตของพวกเรา บิตคอยน์ก็เป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีทางการเงินครั้งใหญ่ที่นำมาซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางอ้อม อาจเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่มีความสำคัญเทียบเท่าการเปลี่ยนจากวัวและเกลือมาสู่ทองคำและเงินเลยด้วยซ้ำ

 

ในขณะที่สกุลเงินทั่วไปต่างมีอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นและอำนาจในการจับจ่ายลดลงเรื่อยๆ แต่เท่าที่ผ่านมาบิตคอยน์กลับเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอำนาจในการจับจ่ายอย่างยิ่งยวดแม้ว่ามันจะยังมีอุปทานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงและมีจำนวนจำกัดก็ตาม เนื่องจากนักขุดเหมืองที่ทำการตรวจสอบธุรกรรมนั้นได้รับผลตอบแทนเป็นบิตคอยน์ พวกเขาจึงมีส่วนได้ส่วนเสียในการรักษาความมั่นคงของโครข่ายเอาไว้ ซึ่งนั่นก็ยิ่งเป็นการทำให้มูลค่าของบิตคอยน์เพิ่มขึ้นยิ่งขึ้นไปอีก

 

ระบบโครงข่ายบิตคอยน์เริ่มทำงานในเดือนมกราคม ปีค.ศ. 2009 และในช่วงเวลาเริ่มต้นนั้นมันเป็นเพียงโครงการเพี้ยนๆที่มีผู้ใช้งานเพียงไม่กี่คนในกลุ่มรายชื่อจดหมายเกี่ยวกับการเข้ารหัสเท่านั้น จุดที่เรียกว่าเป็นหลักกิโลเมตรที่สำคัญที่สุดของชีวิตของบิตคอยน์คือวันแรกที่เหรียญของมันเปลี่ยนสภาพจากเหรียญที่ไม่มีค่าทางเศรษฐกิจใดๆกลายเป็นเหรียญที่มีราคาตลาด เป็นการยืนยันว่าบิตคอยน์ได้ผ่านการทดสอบโดยตลาดแล้ว กล่าวคือ: ระบบได้ทำงานได้ดีพอที่จะมีใครสักคนยินยอมที่จะจ่ายเงินจริงๆเพื่อแลกกับเหรียญของระบบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.2009 เมื่อตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าออนไลน์นามว่า นิว ลิเบอร์ตี้ แสดนดาร์ด ได้นำบิตคอยน์ขึ้นจำหน่ายในราคา $0.000994 เหรียญสหรัฐฯต่อหนึ่งบิตคอยน์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ได้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยบิตคอยน์เป็นครั้งแรก โดยมีคนชำระบิตคอยน์เป็นจำนวน 10,000 บิตคอยน์เพื่อแลกกับพิซซ่าสองถาดมูลค่า $25 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้บิตคอยน์มีราคา $0.0025 เหรียญสหรัฐฯต่อบิตคอยน์ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆก็ได้ยินถึงบิตคอยน์และสนใจที่จะซื้อมันทำให้ราคาของมันสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 10

 

ความต้องการทางตลาดสำหรับเหรียญบิตคอยน์มาจากข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น (และสามารถถกเถียงได้ว่ายังเป็นสิ่งเดียว) ที่สามารถทำให้ผู้คนสามารถใช้งานระบบเงินสดดิจิทัลที่มั่นคงและใช้งานได้ระบบแรก11 การที่ระบบนี้สามารถทำงานได้สำเร็จในช่วงเริ่มต้นของมันทำให้เหรียญของมันมีคุณค่าในเชิงการเก็บสะสมในกลุ่มนักเข้ารหัสและนักเสรีนิยมดั้งเดิมกลุ่มเล็กๆ ที่ทดลองขุดมันด้วยคอมพิสเตอร์ส่วนตัวของพวกเขาเอง และในที่สุดก็เริ่มซื้อขายมันระหว่างกันและกัน12 สิ่งที่ช่วยสร้างสถาณะการเป็นของสะสมในช่วงแรกนั้นก็คือการที่มันมีปริมาณจำกัดและไม่สามารถปลอมแปลงได้ หลังจากที่ผู้คนเริ่มได้มีโอกาสเป็นเจ้าของและนำมันมาใช้งานบนโครงข่ายของบิตคอยน์จนมันเริ่มมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ บิตคอยน์จึงเริ่มที่จะกลายสภาพเป็นเงินเมื่อผู้คนต้องการใช้มันเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ลำดับขั้นตอนการพัฒนานี้เป็นไปตามทฤษฎีการถดถอยว่าด้วยจุดกำเนิดของเงินโดยลุดวิก ฟอน มีเซส ที่ได้กล่าวไว้ว่าสินค้าที่เป็นเงินนั้นถือกำเนิดจากสินค้าในตลาดที่ได้กลายมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน  สถาณะการเป็นของสะสมในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆของบิตคอยน์นั้นไม่ได้มีมูลค่าต่างไปจากเปลือกหอย หินราย หรือเครื่องประดับที่ทำมาจากโลหะอันมีค่า ที่ล้วนแล้วแต่ได้รับมอบบทบาททางการเงินในเวลาต่อมาและทำให้มูลค่าของมันสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

เนื่องด้วยบิตคอยน์นั้นยังใหม่และเพิ่งเริ่มที่จะแพร่ขยายขึ้นเท่านั้น ราคาของมันจึงมีความผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อเกิดความผันผวนในความต้องการขึ้น แต่การที่ไม่มีผู้มีอำนาจใดที่สามารถเพิ่มปริมาณอุปทานของมันได้ตามใจชอบเมื่อราคาของมันสูงขึ้นนั้น สามารถอธิบายได้ถึงเหตุผลที่กำลังอำนาจในการจับจ่ายของมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในความต้องการของบิตคอยน์ เหล่านักขุดเหมืองไม่สามารถที่จะเร่งอัตราการผลิตบิตคอยน์ขึ้นได้มากไปกว่าอัตราที่กำหนดไว้เหมือนกับที่นักขุดเหมืองทองแดงสามารถทำได้ และไม่มีธนาคารกลางที่จะสามารถก้าวเข้ามาเพิ่มปริมาณของบิตคอยน์ให้ล้นตลาดได้อย่างที่กรีนสแปนแนะให้ธนาคารกลางกระทำกับทองคำ 

 

ทางเดียวที่ตลาดจะตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นได้คือการปล่อยให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากพอที่จะจูงใจให้ผู้ถือครองบิตคอยน์ยอมขายบิตคอยน์ของพวกเขาส่วนหนึ่งให้กับผู้ที่เข้ามาใหม่นั่นเอง  สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดในเวลาแปดปีราคาของบิตคอยน์จึงเพิ่มสูงขึ้นจาก $0.000994 เหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อขายบิตคอยน์ครั้งแรกที่มีบันทึกในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2009 มาถึง $4,200 เหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 422,520,000 ในระยะเวลาแปดปี คิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตทบต้นที่ร้อยละ 573 ต่อปี (ดูรูปที่ 16 13)

รูปที่ 16 ราคาของบิตคอยน์ในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ

 

การที่บิตคอยน์จะมีราคาสูงขึ้นได้ จำเป็นต้องมีผู้คนถือครองมันเพื่อเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าโดยไม่นำมันมาใช้จ่าย หากไม่มีผู้คนจำนวนหนึ่งยินยอมที่จะถือครองเงินเอาไว้เป็นระยะเวลานาน กำลังการขายเงินอย่างต่อเนื่องจะกดราคาของมันเอาไว้และทำให้เงินนั้นไม่สามารถมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 มูลค่าตลาดของบิตคอยน์ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดอยู่ในช่วงราวๆ $110 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มันมีมูลค่าสูงกว่าอุปทานของเงินตามความหมายอย่างกว้างของประเทศส่วนใหญ่ หากบิตคอยน์เป็นประเทศ มูลค่าของสกุลเงินของมันจะทำให้มันอยู่ในระดับที่ 56 ของโลก พอๆกับมูลค่าอุปทานเงินของประเทศคูเวตหรือบังกลาเทศ ใหญ่กว่าโมรอคโคและเปรู แต่เล็กกว่าโคลอมเบียและปากีสถาน หากนำมันมาเปรียบเทียบกับมูลค่าอุปทานของเงินตามความหมายอย่างแคบ มูลค่าของอุปทานของบิตคอยน์จะสูงเป็นอันดับที่ 33 ของโลก ใกล้เคียงกับอุปทานเงินตามความหมายอย่างแคบของบราซิล ตุรกี และ อาฟริกาใต้ 14 นับได้ว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอินเตอร์เน็ตที่ระบบเศรษฐกิจออนไลน์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาได้เองโดยความสมัครใจบนโครงข่ายที่ออกแบบโดยนักเขียนโปรแกรมนิรนามนั้นสามารถเติบโตขึ้นมาจนมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของสกุลเงินในรัฐประชาชาติ และสกุลงินประจำชาติส่วนใหญ่ของโลกภายในเวลาเก้าปี 15

 

นโยบายทางการเงินแบบอนุรักษ์นิยมและแรงดึงดูดจากมูลค่าตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นของบิตคอยน์นี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของบิตคอยน์ เนื่องจากมันเป็นเหตุผลที่จูงใจให้นักขุดเหมืองต่างยอมอุทิศกำลังไฟฟ้าและกำลังในการประมวลผลเพื่อทำการตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ อย่างซื่อสัตย์  หากบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นโดยมีนโยบายการเงินที่อ่อนปวกเปียกอย่างที่พวกเคนเซียนหรือการเงินนิยมแนะนำแล้วล่ะก็ มันจะมีอุปทานของเงินที่เติบโตขึ้นไปในอัตราส่วนเท่าเทียมกับปริมาณผู้ใช้งานหรือปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีนั้นมันก็คงเป็นได้เพียงการทดลองที่ไร้ความหมายของกลุ่มนักเข้ารหัสในโลกออนไลน์ มันจะไม่มีกำลังประมวลผลจำนวนมากที่ถูกใช้เพื่อขุดมัน เนื่องจากมันไม่มีประโยชน์ที่จะต้องลงทุนลงแรงในการตรวจสอบธุรกรรมและประมวลผลพรูฟ-ออฟ-เวิร์คเพื่อแลกกับเหรียญที่มีแต่จะเสื่อมค่าลงเรื่อยๆเมื่อมีผู้คนเข้ามาใช้งานระบบมากขึ้น นโยบายการเงินที่เน้นการขยายฐานอุปทานของเงินในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของรัฐและเหล่านักเศรษฐศาสตร์นั้นไม่เคยเอาชนะการทดสอบของตลาดได้ด้วยความสมัครใจ แต่มันกลับถูกบังคับใช้ผ่านกฎหมายของรัฐบาลดังที่ได้กล่าวในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นระบบที่อาศัยการเข้าร่วมโดยสมัครใจโดยไม่มีกลไกใดๆในการบังคับให้ผู้คนจำเป็นต้องใช้มัน

 

บิตคอยน์จะไม่สามารถดึงดูดอุปสงค์ได้มากพอ ผลก็คือมันจะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่ามันจะประสบความสำเร็จในฐานะเงินสดดิจิทัล แม้ธุรกรรมต่างๆจะสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความเชื่อใจบุคคลที่สาม ตัวโครงข่ายเองกลับจะตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงในการถูกโจมตีโดยผู้ประสงค์ร้ายที่สามารถรวบรวมกำลังประมวลผลจำนวนมากได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ หากไม่มีนโยบายทางการเงินที่อนุรักษ์นิยมและกลไกในการปรับระดับความยากง่ายในการขุด บิตคอยน์ก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการเป็นเงินสดดิจิทัลได้เพียงในทฤษฎีเท่านั้น แต่มันจะยังคงไม่ปลอดภัยเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้งานจริงได้ ในกรณีดังกล่าว คู่แข่งรายแรกที่นำนโยบายทางการเงินแบบอนุรักษ์นิยมมาปรับใช้จะทำให้การบันทึกบัญชีและการผลิตเงินเพิ่มเติมมีค่าใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนที่สูงนี้จะเป็นแรงจูงใจให้นักขุดเหมืองมีความซื่อสัตย์ในการบันทึกบัญชี ส่งผลให้โครงข่ายของมันมันคงปลอดภัยกว่าของคู่แข่งรายอื่นๆ

 

การเจริญเติบโตของราคาสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งานที่เพิ่มขึ้นและอรรถประโยชน์ที่ระบบมอบให้กับผู้ใช้งานของมัน ปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ในขณะที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นจำนวน 32,687 ธุรกรรมในปีค.ศ. 2009 (ที่อัตรา 90 ธุรกรรมต่อวัน) ตัวเลขดังกล่าวเติบโตขึ้นถึงกว่า 103,000,000 ธุรกรรมในปีค.ศ. 2017 (ที่อัตรา 284,797 ธุรกรรมต่อวัน) ตัวเลขจำนวนธุรกรรมโดยรวมที่เกิดขึ้นทั้งหมดสูงถึงเกือบ 300,000,000 ธุรกรรมในเดือนมกราคมปีค.ศ. 2018 โดยตารางที่ 816 และ รูปที่ 1717 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตต่อปี

 

ตารางที่ 8 จำนวนธุรกรรมรายปี และ จำนวนธุรกรรมโดยเฉลี่ยต่อวัน

ปีจำนวนธุรกรรมจำนวนธุรกรรมโดยเฉลี่ยต่อวัน
2009 32,687 90
2010 185,212 507
2011 1,900,652 5,207
2012 8,447,785 23,081
201319,638,72853,805
201425,257,83369,200
2015 45,661,404125,100
2016 82,740,437226,067
2017 103,950,926284,797

รูปที่ 17 จำนวนธุรกรรมต่อปีในโครงข่ายบิตคอยน์

 

แม้ว่าการเจริญเติบโตของจำนวนธุรกรรมจะสูงมากก็ตาม มันก็ยังเทียบไม่ได้กับการเจริญเติบโตทางมูลค่าของบิตคอยน์ทั้งหมด สังเกตได้จากข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นนั้นยังน้อยกว่าจำนวนธุรกรรมที่ควรเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่มีสกุลเงินที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับอุปทานของบิตคอยน์ ปริมาณธุรกรรม 300,000 ธุรกรรมต่อวันเป็นปริมาณธุรกรรมที่มักเกิดขึ้นในเมืองขนาดเล็ก ไม่ใช่ในระบบเศรษฐกิจขนาดกลางที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับบิตคอยน์ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยขนาดของบล็อคของบิตคอยน์ในปัจจุบันที่จำกัดไว้ที่ 1 เมกะไบต์ ทำให้ปริมาณธุรกรรมต่อวันราว 500,000 ธุรกรรมนั้นใกล้เคียงกับปริมาณธุรกรรมสูงสุดที่สามารถถูกบันทึกได้ในระบบบัญชีของบิตคอยน์ แต่แม้ว่าปริมาณธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นจนถึงข้อจำกัดดังกล่าวและเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้ว การเจริญเติบโตทางมูลค่าของบิตคอยน์กลับไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานบิตคอยน์ให้มูลค่ากับมันในการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่ามากกว่าการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นประเด็นที่จะพูดถึงในบทที่ 9

 

มูลค่าทางตลาดของแต่ละธุรกรรมก็สูงขึ้นตามอายุของโครงข่ายด้วยเช่นกัน ลักษณะเฉพาะตัวของบิตคอยน์ทำให้มันเป็นการยากที่จะคาดคะเนมูลค่าที่แท้จริงของธุรกรรมในหน่วยบิตคอยน์หรือเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การคาดเดามูลค่าธุรกรรมอย่างต่ำแสดงให้เห็นว่ามีปริมาณการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เฉลี่ยต่อวันอยู่ราวๆ 260,000 บิตคอยน์ในค.ศ. 2017 โดยมีค่าความผันผวนที่สูงขึ้นตามอายุของบิตคอยน์ แม้มูลค่าของธุรกรรมในหน่วยบิตคอยน์ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเวลาผ่านไป แต่มูลค่าของธุรกรรมเหล่านี้ในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯกลับเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าธุรกรรมของบิตคอยน์สูงถึง $375.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีค.ศ. 2017 และในวันเกิดปีที่ 9 ของมัน บิตคอยน์ได้ทำธุรกรรมโดยรวมไปเป็นมูลค่ากว่าห้าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคำนวนจากมูลค่าธุรกรรมในหน่วยเหรียญสหรัฐ ณ เวลาที่มีการทำธุกรรรม (ดูตารางที่ 9 18)

 

ตารางที่ 9 มูลค่าของธุรกรรมทั้งหมดในระบบโครงข่ายบิตคอยน์เทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ

ปีมูลค่าโดยรวมของธุรกรรมในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ
2009 0
2010 985,887
2011 417,634,730
2012 607,221,228
201314,767,371,941
201423,159,832,297
2015 26,669,252,582
2016 58,188,957,445
2017 375,590,943,877
รวม 499,402,199,987
อีกหนึ่งวิธีในการวัดการเจริญเติบโตของโครงข่ายบิตคอยน์สามารถทำได้โดยการวัดมูลค่าของค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วการทำธุรกรรมบิตคอยน์นั้นสามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับนักขุดที่จะต้องทำการตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมเหล่านั้น ยิ่งมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ธุรกรรมนั้นมีโอกาสที่จะถูกนักขุดเลือกไปบันทึกได้มากกว่าเท่านั้น ในยุคแรกๆที่ปริมาณของธุรกรรมยังไม่มากนัก นักขุดจะทำการบันทึกธุรกรรมที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมใดๆลงในบล็อคด้วยเนื่องจากเหรียญใหม่ที่เกิดจากการขุดบล็อคเองนั้นยังมากพอที่จะคุ้มค่ากับการทำงาน เมื่อความต้องการในการทำธุรกรรมบิตคอยน์เพิ่มมากขึ้น นักขุดก็สามารถเลือกที่จะหยิบเอาเฉพาะธุรกรรมที่มีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่ามาทำการบันทึกได้ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมนั้นมีมูลค่าต่ำกว่า $0.1 เหรียญสหรัฐมาจนถึงปลายปีค.ศ. 2015 และเพิ่มขึ้นสูงกว่า $1 เหรียญสหรัฐฯในช่วงต้นปี 2016 ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในค.ศ.2017 ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทพธุรกรรมโดยเฉลี่ยขึ้นไปสูงถึง $7 เหรียญสหรัฐฯในเดือนพฤษจิกายน (ดูรูปที่ 18 19)

รูปที่ 18 มูลค่าโดยเฉลี่ยของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบิตคอยน์ (หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ)

 

รูปที่ 19 ดรรชนีความผันผวนใน 30 วันของบิตคอยน์ และ ดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

ในขณะที่ราคาของบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเวลาผ่านไป การเพิ่มขึ้นของราคานั้นกลับมีความผันผวนอย่างรุนแรง รูปที่ 19 แสดงถึงค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานย้อนหลัง 30 วันของผลตอบแทนในแต่ละวันในช่วงระยะเวลาห้าปีของการซื้อขายบิตคอยน์ 20 แม้อัตราความผันผวนดูเหมือนว่าจะกำลังลดลง มันก็ยังสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราความผันผวนของสกุลเงินประจำชาติหรือทองคำ และแนวโน้มก็ยังไม่ชัดพอที่จะฟันธงได้ว่ามันจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ รูปที่ 19 แสดงดรรชนีความผันผวนใน 30 วันของดอลลาร์สหรัฐควบคู่ไปด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

 

การศึกษาข้อมูลราคาทองคำ สกุลเงินประจำชาติ และสกุลเงินคริปโตหลักๆ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในอัตราความผันผวนของราคาตลาดของเงินเหล่านี้ โดยการศึกษานี้ได้เก็บข้อมูลผลตอบแทนรายวันตลอดห้าปีที่ผ่านมาของทองคำ เงินรัฐบาลสกุลหลัก และบิตคอยน์  พบว่าเงินประจำชาติสกุลหลักต่างๆนั้นล้วนแล้วแต่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ใหญ่กว่าบิตคอยน์มากกว่าเจ็ดเท่าเลยทีเดียว (ดู ตารางที่ 10 21)

 

ตารางที่ 10 ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละวันในหน่วยร้อยละ และ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานในราคาตลาดของสกุลเงินต่างๆต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 กันยายน ค.ศ. 2011 ถึง 1 กันยายน ค.ศ. 2016

ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงต่อวัน (หน่วย: ร้อยละ)ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
เงินหยวนจีน 0.00002 0.00136
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ 0.00015 0.00305
เงินปอนด์อังกฤษ 0.00005 0.00559
เงินรูปีอินเดีย 0.000190.00560
เงินยูโร −0.00013 0.00579
เงินเยนญี่ปุ่น 0.00020 0.00610
เงินฟรังค์สวิส 0.000030.00699
ทองคำ −0.00018 0.01099
บิตคอยน์ 0.003700.05072
ความผันผวนของบิตคอยน์นั้นมีเหตุมาจากการที่อุปทานของมันไม่มีความยืดหยุ่นเลยแม้แต่น้อยและไม่มีการตอบสนองใดๆต่อความเปลี่ยนแปลงทางอุปสงค์ใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากอุปทานของบิตคอยน์ถูกโปรแกรมให้เติบโตตามอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้า สำหรับสินค้าทั่วไปแล้วนั้น ความเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์หรือความต้องการใดๆย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจในการผลิตสินค้านั้นๆ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาของมันไม่เปลี่ยนแปลงมากนักและทำให้ผู้ผลิตสามารถได้กำไรจากการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ความต้องการที่ลดลงจะเป็นเหตุให้ผู้ผลิตลดปริมาณอุปทานของเขาลงเพื่อลดการขาดทุน สถานการณ์คล้ายๆกันก็เกิดขึ้นกับสกุลเงินประจำชาติต่างๆด้วยเช่นกัน ในขณะที่ธนาคารกลางมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางกำลังการจับจ่ายใช้สอยของสกุลเงินของพวกเขาด้วยการปรับนโยบายทางการเงินเพื่อตอบสนองกับความผันผวนของตลาด  เมื่อกำหนดการผลิตอุปทานไม่มีการตอบสนองใดๆต่ออุปสงค์ และเมื่อไม่มีธนาคารกลางคอยบริหารจัดการอุปทาน มันย่อมมีความผันผวนเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ เมื่ออุปสงค์ยังคงมีการเปลี่ยนอย่างรุนแรงวันต่อวันและตลาดทางการเงินที่ใช้บิตคอยน์ยังอยู่ในวัยแรกเกิด

 

แต่เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมกับขนาดและความซับซ้อนของสถาบันทางการเงินที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับบิตคอยน์ที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของราคาบิตคอยน์ก็ควรที่จะลดลง เมื่อตลาดมีขนาดและสภาพคล่องที่สูงขึ้นความผันผวนในฝั่งอุปสงค์ก็จะมีสัดส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้สร้างตลาดสามารถทำกำไรได้จากการซื้อขายส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายซึ่งจะทำให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงที่นิ่งขึ้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนจำนวนมากในตลาดถือครองบิตคอยน์ด้วยเจตนาที่จะถือมันไว้ในระยะยาว ทำให้มูลค่าตลาดของบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนสามารถเกิดตลาดที่ใหญ่และมีสภาพคล่องได้โดยใช้อุปทานของบิตคอยน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อใดที่ระบบเติบโตขึ้นจนเริ่มมีขนาดที่คงที่ เม็ดเงินที่ไหลเข้าและออกจากตลาดก็จะมีสัดส่วนพอๆกันและทำให้ราคาของบิตคอยน์มีความคงตัว ในกรณีดังกล่าว บิตคอยน์จะมีความมั่นคงพร้อมทั้งมีสภาพคล่องที่สูงพอที่จะทำให้การซื้อขายประจำวันในตลาดไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่มีนัยสำคัญขึ้นแต่อย่างใด แต่ตราบใดที่บิตคอยน์ยังคงมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อไป ราคาที่เพิ่มขึ้นของมันก็จะดึงดูดผู้ใช้งานมาเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ราคาของมันเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก ทำให้การลดลงของความผันผวนดังที่กล่าวมานี้ถูกผลักออกไปไกลขึ้นในอนาคต ตราบใดที่บิตคอยน์ยังเจริญเติบโตอยู่ ราคาของมันก็จะมีพฤติกรรมเหมือนกับหุ้นของบริษัทสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หากการเจริญเติบโตของบิตคอยน์หยุดลงและเริ่มอยู่ตัว มันก็จะเลิกดึงดูดกระแสเงินจากการลงทุนความเสี่ยงสูง และกลายมาเป็นทรัพย์สินที่เป็นเงินทั่วๆไปที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี 

ภาคผนวกสำหรับบทที่ 8

 

ต่อไปนี้เป็นการอธิบายถึงเทคโนโลยีทั้งสามที่บิตคอยน์นำมาใช้งานโดยสังเขป:

 

การแฮช คือกระบวนการที่นำเอาชุดข้อมูลใดๆก็ได้มาแปลงเป็นชุดข้อมูลที่มีขนาดที่กำหนด (เรียกว่าแฮช) โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์ที่ไม่สามารถคำนวณย้อนกลับได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ มันเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้สมการนี้เพื่อสร้างแฮชที่มีขนาดเท่าๆกันสำหรับข้อมูลใดก็ได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคำนวณย้อนกลับว่าข้อมูลต้นทางเป็นอะไรจากแฮช การแฮชเป็นกระบวนการที่จำเป็นต่อการทำงานของบิตคอยน์เนื่องจากมันถูกใช้ในการสร้างลายเซ็นต์ดิจิทัล พรูฟ-ออฟ-เวิร์ค ต้นไม้เมอร์เคิล การระบุธุรกรรม แอดเดรสบิตคอยน์ และการใช้งานอื่นๆ โดยหลักแล้ว การแฮชทำให้การสามารถทำการระบุตัวตนของข้อมูลในพื้นที่สาธารณะได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆเลย ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจดูได้ว่าแต่ละฝ่ายมีข้อมูลที่ตรงกันหรือไม่โดยปลอดภัย ไร้การเชื่อใจ และไม่ต้องอาศัยตัวกลางใดๆ

 

พับลิคคีย์คริปโตกราฟฟีเป้นกรรมวิธีในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องโดยอาศัยชุดของตัวเลขที่มีความเกี่ยวข้องกันเชิงคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย: ไพรเวทคีย์ พับลิคคีย์ และดิจิทัลซิกเนเจอร์หรือลายเซ็นต์ดิจิทัลจำนวนหนึ่งลายเซ็นต์หรือมากกว่านั้น ไพรเวทคีย์หรือกุญแจลับที่ต้องเก็บไว้เป็นความลับนั้น สามารถนำมาสร้างพับลิคคีย์หรือกุญแจสาธารณะที่สามารถเผยแพร่แจกจ่ายได้อย่างอิสระเนื่องจากมันไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่ามันถูกสร้างมาจากไพรเวทคีย์ดอกไหนด้วยการตรวจสอบเพียงพับลิคคีย์เท่านั้น กรรมวิธีดังกล่าวถูกใช้ในการตรวจสอบความถูกต้อง กล่าวคือ: หลังจากที่ใครสักคนประกาศพับลิคคีย์ของเขาสู่สาธารณะแล้ว เขาสามารถนำข้อมูลบางอย่างมาทำการแฮช และเซ็นต์กำกับแฮชนั้นด้วยไพรเวทคีย์ของเขาได้ ใครก็ตามที่มีข้อมูลชุดเดียวกันจะสามารถทำการแฮชข้อมูลนั้นเพื่อได้แฮชเดียวกันเพื่อดูได้ว่ามันเป็นแฮชที่ถูกใช้ในการสร้างลายเซ็นต์หรือไม่ จากนั้นเขาสามารถนำเอาลายเซ็นต์มาเปรียบเทียบกับพับลิคคีย์ที่ได้รับมาก่อนหน้าเพื่อดูว่ามันมีความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์กันหรือไม่ เป็นการพิสูจน์ว่าข้อมูลนี้ได้รับการเซ็นต์กำกับแฮชโดยบุคคลที่มีไพรเวทคีย์ที่ถูกต้อง บิตคอยน์นำเอากรรมวิธีการเข้ารหัสแบบพับลิคคีย์มาใช้เพื่อทำให้สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าได้อย่างปลอดภัยบนโครงข่ายที่ไม่มีการป้องกัน ผู้เป็นเจ้าของบิตคอยน์จะสามารถเข้าถึงบิตคอยน์ของเขาได้หากเข้ามีไพรเวทคีย์ที่ผูกไว้กับบิตคอยน์นั้นเท่านั้น ในขณะที่แอดเดรสสาธารณะของมันสามารถที่จะเปิดเผยให้รู้ได้โดยทั่วกัน สมาชิกในระบบทุกคนสามารถตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของธุรกรรมต่างๆได้โดยการตรวจสอบว่าผู้สร้างธุรกรรมมีไพรเวทคีย์ที่จำเป็นในการทำธุรกรรมนั้นหรือไม่ ในโลกของบิตคอยน์ สิทธิในการครอบครองบิตคอยน์มีเพียงรูปแบบเดียวนั่นคือการเป็นเจ้าของไพรเวทคีย์นั่นเอง

 

ระบบเครือข่ายแบบเพียร์-ทู-เพียร์หรือบุคคล-ถึง-บุคคลนั้นเป็นโครงสร้างระบบเครือข่ายที่สมาชิกทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันและกันเท่าเทียมกัน  ระบบไม่มีผู้ควบคุมส่วนกลางที่จะสามารถเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ของโครงข่ายได้ ผู้ควบคุมจุดเชื่อมต่อหรือโหนดที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของโครงข่ายไม่สามารถที่จะยัดเยียดความคิดเห็นของเขาไปยังสมาชิกคนอื่นๆในระบบหรือแก้ไขสิทธิ์ของผู้อื่นได้  ตัวอย่างของระบบโครงข่ายเพียร์-ทู-เพียร์ที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดคือระบบบิตทอร์เรนต์ (ฺBitTorrent) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการสื่อสารสำหรับการแบ่งปันไฟล์บนอินเตอร์เน็ต  ในขณะที่ในระบบรวมศูนย์ ผู้ใช้งานระบบจะทำการดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางที่ทำหน้าที่รับฝากไฟล์เอาไว้ ในระบบบิตทอร์เรนต์ ผู้ใช้งานจะทำการดาวน์โหลดไฟล์จากกันและกันโดยตรง โดยแบ่งไฟล์ออกเป็นส่วนเล็กๆหลายๆส่วน เมื่อผู้ใช้งานได้ทำการดาวน์โหลดชิ้นส่วนของไฟล์มาได้แล้ว เขาจะสามารถกลายเป็นซีด (seed) หรือผู้แจกจ่ายไฟล์นั้นได้ ทำให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆสามารถดาวน์โหลดชิ้นส่วนไฟล์นั้นต่อจากเขาได้ 

 

ด้วยการออกแบบเช่นนี้ ไฟล์ขนาดใหญ่ก็สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่หรือโครงสร้างพื้นฐานที่กว้างขวางในการเผยแพร่ไฟล์ดังกล่าว และยังสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดความบกพร่องจุดเดียวที่จะทำให้ระบบไม่สามารถทำงานได้อีกด้วย ทุกๆไฟล์ที่อยู่ในระบบโครงข่ายนี้ยังถูกป้องกันเอาไว้ด้วยคริปโตกราฟฟิคแฮชที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโหนดต่างๆที่กำลังกระจายไฟล์นั้นอยู่จะไม่กระทำการแก้ไขหรือแพร่กระจายชิ้นส่วนของไฟล์ที่เสียหายนั่นเอง  หลังจากที่หน่วยงานรักษากฎหมายได้ไล่ปิดกิจการบริการแบ่งปันไฟล์แบบรวมศูนย์เช่น Napster คุณลักษณะที่ไม่มีศูนย์กลางของบิตทอร์เรนต์ทำให้ไม่มีผู้รักษากฎหมายคนใดสามารถยับยั้งการทำงานของมันได้  โดยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกทำให้ในครั้งหนึ่งปริมาณการรับส่งข้อมูลของระบบอินเตอร์เน็ตนั้นมาจากบิตทอร์เรนต์มากถึงกว่าหนึ่งในสามของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์ทั่วทั้งโลก บิตคอยน์เองก็ใช้ระบบโครงข่ายที่คล้ายกับบิตทอร์เรนต์ ต่างกันที่ในขณะที่สมาชิกโครงข่ายบิตทอร์เรนต์ทำการแบ่งปันชิ้นส่วนของข้อมูลที่ประกอบกันเป็นหนัง เพลง หรือหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แต่ในโครงข่ายของบิตคอยน์นั้นสมาชิกคอยแบ่งปันบัญชีที่บันทุกธุรกรรมทั้งหมดของบิตคอยน์นั่นเอง

 

 Notes

1 See Nick Szabo, 2001, Trusted Third Parties Are Security Holes . Available on nakamotoinstitute.org 

2 A brief description of the first three of these technologies is provided in the Appendix to this chapter, while proof‐of‐work is discussed in more detail in this chapter and in Chapter 10 . 

3 Konrad Graf, “On the Origins of Bitcoin: Stages of Monetary Evolution” (2013). Available at www.konradsgraf.com 

 

4 ผมไม่มีเจตนาที่จะลากหนังสือเล่มนี้และผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งคำถามทางอภิปรัชญาแต่อย่างใด แต่ผมก็เคยคิดอยู่ครั้งหนึ่งนะว่าบัญชีธุรกรรมของบิตคอยน์นั้นอาจเป็นความจริงเชิงวัตถุวิสัยเดียวในโลกก็เป็นได้ คุณอาจโต้แย้งได้ว่า (ดังที่นักปรัชญาหลายต่อหลายคนก็เช่นกัน) ข้อเท็จจริงใดๆล้วนแล้วแต่เป็นความจริงเชิงอัตวิสัยแล้วแต่ว่าใครจะมองและระดับความเป็นจริงของมันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้พูดและใครเป็นผู้ฟัง แต่บัญชีบันทึกธุรกรรมในระบบบิตคอยน์นั้นเกิดขึ้นจากการแปลงเอาพลังงานไฟฟ้าและกำลังการประมวลผลเป็นความจริงโดยไม่ต้องอาศัยน้ำลายของใครต่อใคร

 

5 หนทางเดียวในการเป็นเจ้าของบิตคอยน์คือการครอบครองไพรเวทคีย์ หากใครสามารถเข้าถึงไพรเวทคีย์ของคุณได้ก็หมายว่าเขาเป็นเจ้าของบิตคอยน์ของคุณ การจารกรรมไพรเวทคีย์ไม่ต่างอะไรกับการจารกรรมเงินดอลลาร์หรือทองคำ กล่าวคือ: มันมีความสิ้นสุดและไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้ ไม่มีผู้มีอำนาจใดที่คุณสามารถร้องเรียนเพื่อขออายัติหรือยับยั้งการจารกรรมได้ นี่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของบิตคอยน์ในฐานะของเงินสดดิจิทัลและเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ที่สนใจลงทุนในบิตคอยน์จำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะนำเงินของตนมาลงทุนในบิตคอยน์ การปกป้องไพรเวทคีย์จากการจารกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และการไม่สามารถปกป้องมันได้ก็เป็นความเสี่ยงอันใหญ่หลวง

6 Ralph Merkle, “DAOs, Democracy and Governance,” Cryonics , vol. 37, no. 4 (July–August 2016): 28–40; Alcor, www.alcor.org

แปลโดย พิริยะ สัมพันธารักษ์ MD ChalokeDotcom, พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว

Article bitcoin-standard
Writer

Maybe You Like