fbpx

Stablecoin มีเงินดอลลาร์ค้ำประกันอยู่จริงไหม?

Stablecoin เป็นหนึ่งในเหรียญ cryptocurrency ที่มี marketcap สูงอันดับต้นๆและถ้าเทียบเรื่องปริมาณซื้อขายแล้วมันถือเป็นที่ 1 ของตลาดเลยทีเดียวโดยคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า stablecoin เป็นเหรียญที่ไม่มีความเสี่ยงและมีดอลลาร์ค้ำประกันในอัตราส่วน 1:1 แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดๆ วันนี้แอดมินจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักในอีกแง่มุมหนึ่งของ stablecoin ที่ผู้คนนิยม

Stablecoin มีเงินดอลลาร์ค้ำประกันอยู่จริงไหม?

19 Jun 2021

Stablecoin เป็นหนึ่งในเหรียญ cryptocurrency ที่มี marketcap สูงอันดับต้นๆและถ้าเทียบเรื่องปริมาณซื้อขายแล้วมันถือเป็นที่ 1 ของตลาดเลยทีเดียวโดยคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า stablecoin เป็นเหรียญที่ไม่มีความเสี่ยงและมีดอลลาร์ค้ำประกันในอัตราส่วน 1:1 แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดๆ วันนี้แอดมินจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักในอีกแง่มุมหนึ่งของ stablecoin ที่ผู้คนนิยมใช้งานกันว่าแท้จริงแล้ว stablecoin แต่ละตัวมีกลไกการทำงานอย่างไรและมันมีความเสี่ยงตรงไหนที่ควรระวังกันบ้างครับ

อะไรคือ Stablecoin ?

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

ในช่วงแรกของตลาดคริปโตผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้เหรียญหลักๆอย่าง BTC, ETH สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนและเก็งกำไรแต่ปัญหาคือตลาดคริปโตนั้นมีความผันผวนของราคาอย่างมาก จากเดิมวันนี้เราได้กำไรจากเหรียญใดสักเหรียญจำนวน 10% พรุ่งนี้ตื่นมาอาจจะขาดทุน 5% ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรสำหรับตลาดนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การใช้งานของ cryptocurrency มีความจำกัดและเกิดการใช้จ่ายจริงในชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบากเพราะมูลค่าของเหรียญในแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด จะแปลงค่าเงินเป็นดอลลาร์หรือบาทก็ค่อนข้างจะวุ่นวายหลายขั้นตอน

ด้วยเหตุนี้จึงมีคนสร้าง stablecoin ซึ่งจัดเป็นหนึ่งใน cryptocurrency ขึ้นเพื่อเป็นเสมือนเงินที่มีมูลค่าคงที่โดยมีการรองรับด้วยสินทรัพย์อ้างอิงต่างๆ  เราสามารถใช้ stablecoin เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาอีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกในการแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น เช่น ถ้าเราได้กำไรจากการซื้อขายเหรียญคริปโตและอยากล็อคกำไรนั้นไว้ไม่ให้ผันผวนตามราคาเหรียญนั้นๆก็สามารถแปลงเป็น stablecoin ซึ่งมีมูลค่าคงที่ได้และเราก็สามารถใช้ stablecoin นั้นเป็นสื่อกลางในการโอนจ่ายได้ทั่วโลก

แต่อีกหนึ่งเป้าหมายของ stablecoin ก็คือการเป็นระบบการเงินให้แก่กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินหรือ Unbanked ได้ เพราะถ้าเรารับเรื่องความเสี่ยงของ stablecoin ได้คุณไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารคุณก็สามารถใช้งานได้

ในวันนี้เราก็จะมาพูดถึง stablecoin ที่ผู้คนนิยมใช้กันมากที่สุดซึ่งก็คือ USDT USDC BUSD DAI และ UST ว่าแต่ละเหรียญใช้อะไรในการค้ำประกันบ้างโดยเราจะแบ่ง stablecoin ออกเป็น 3 ประเภทหลักๆดังนี้

1) Stablecoin ที่ถูกค้ำด้วยสินทรัพย์ (Fiat-Backed Stablecoins)
Stablecoin ที่ถูกค้ำประกันด้วยดอลลาร์ในทางทฤษฎีแล้วมันคือเหรียญที่มีเงินดอลลาร์ค้ำประกันไว้ในอัตรา 1:1 หมายความว่า ถ้าบริษัทเหล่านั้นนำเงินดอลลาร์ไปฝากธนาคารไว้ 1 ดอลลาร์ ก็จะออก stablecoin ได้ 1 เหรียญ ตัวอย่างที่เราจะพูดถึงวันนี้คือ USDT USDC และ BUSD

USDT คือตัวยอดนิยมที่สุด ณ ปัจจุบันมี marketcap อยู่ที่ราวๆ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ออกโดยบริษัท Tether 
จากรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา Tether ได้เปิดเผยรายงานเงินสำรอง โดยมีสัดส่วนดังนี้


เงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด เงินฝากระยะสั้นอื่น ๆ และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น 75.85%
เงินกู้ยืมที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 12.55%
หุ้นกู้กองทุนและโลหะมีค่า 9.96%
และการลงทุนอื่น ๆ ที่รวม token ดิจิทัล 1.64%
แต่เมื่ออ่านรายละเอียดจะพบว่า มีเงินดอลาร์ค้ำอยู่เพียง 3.87% ของ 75.85% หรือประมาณ 2.94% เท่านั้น นั่นเท่ากับว่า การที่อ้างว่า USDT มีเงินดอลลาร์ค้ำประกันอยู่ 1:1 จึงถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่จริงเลยสักนิด

USDC (USD Coin) เป็นเหรียญ Stablecoin จากความร่วมมือของ Circle และ Coinbase มีการตรวจสอบ (Attestation) โดยระบุว่า มีเงินดอลลาร์ค้ำอยู่ 100% ซึ่งฝากไว้กับ Custosy ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานควบคุมเงินตราสหรัฐฯ (US Treasury OCC)

BUSD (Binance USD) เป็นเหรียญ stablecoin ของ Binance ที่มีเงินดอลลาร์ค้ำอยู่ 100% โดยฝากไว้ในธนาคารภายใต้การดูแลของสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC-insured) และระบุว่าจะมีการตรวจสอบ (Attestation) Supply ของเหรียญ BUSD เทียบกับเงินดอลลาร์ในทุก ๆ เดือน

2) Stablecoin ที่มี Cryptocurrency ค้ำอยู่ (Crypto-Backed Stablecoins)
Slablecoin ประเภทนี้เป็นการสร้างโดยที่คุณจำเป็นต้องนำ cryptocurrency จำนวนหนึ่งมาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อสร้าง stablecoin ออกมาสักตัว ซึ่งวันนี้เราจะมายกตัวอย่างของ  Dai ให้ดูกันครับ


Dai ถูกสร้างโดย MakerDAO เป็น stablecoin ที่เทียบกับเงินดอลลาร์ในอัตราส่วน 1:1 โดยขั้นตอนคือเอาสินทรัพย์ที่เป็น cryptocurrency อย่าง ETH,WBTC,USDC,USDT หรือเหรียญคริปโตอื่นๆที่ MakerDAO ยอมรับมาค้ำประกันไว้ แต่ด้วยความที่ราคาเหรียญ cryptocurrency มีมูลค่าไม่คงที่และมีราคาที่ผันผวนมาก
ดังนั้นมูลค่าเหรียญที่เอามาค้ำประกันจะต้องมีมูลค่าสูงกว่า stablecoin ที่สร้างขึ้นมา ตัวอย่างเช่น เหรียญ ETH มูลค่า 150 USD จะสร้างเหรียญ Dai ออกมาได้ 100 Dai พูดง่ายๆคือใช้ cryptocurrency มาทำการ Over Collateral โดย cryptocurrency 150%ของเงินต้น จะสร้าง Dai ออกมาได้ 100% ซึ่งกลไกการออกเหรียญ Dai ก็เป็นการ lending อีกรูปแบบหนึ่ง

แล้วถ้าราคา cryptocurrency ที่ใช้ค้ำประกันมีความผันผวนจนไม่สามารถคงมูลค่า 100 USD จะเป็นอย่างไร?
โดยกลไกการสร้าง Dai จะมีกลไกที่ทำการ liquidate(การบังคับขาย) ถ้าเกิดราคาของเหรียญที่ใช้ค้ำประกันต่ำกว่าเหรียญ Dai ที่ถูกสร้างมาจะถูก liquidate เพื่อทำให้เงินต้นไม่ต่ำกว่า Dai ที่ผลิตออกมา ถ้าไม่อยากโดน liquidate ก็ต้องทำการวางสินทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มหรือคืนDai บางส่วนเพื่อ Burn คืนสู่ระบบ

3) Stablecoin ที่รักษามูลค่าด้วย Algorithm(Algorithm-stabilized Stablecoins)
Stablecoin ประเภทนี้จะมี Algorithm ของตัวเองโดยแต่ละตัวจะแตกต่างกันออกไป โดยทั้งหมดจะไม่มี asset ใดๆมาค้ำประกัน มันมีหลักการทำงานอย่างไรวันนี้เราจะยกตัวอย่างของ UST มาเล่าให้ฟังครับ

UST เป็น stable coin ที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก Terra ซึ่งเป็นเครือข่าย Blockchain ของทางเกาหลีใต้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตเงินสำหรับการนำไปใช้ระบบเศรฐกิจจริงๆและ Terra จะมีเหรียญ governance token เป็นของตัวเองชื่อว่าเหรียญ Luna
เราลองมาดูกลไกการทำงานของ UST คร่าวๆกันครับ


ระบบจะสร้าง stablecoin อย่าง UST โดยมี Smart Contract ที่ชื่อว่า Seigniorage เป็นกลไกที่เปลี่ยน Luna ไปเป็นเหรียญ UST โดยที่นำราคา Luna ณ ปัจจุบันแปลงเป็นUST โดยมีอัตรา 1 ดอลลาร์:1 UST
เช่น ตอนนี้ Luna ราคา 6 ดอลลาร์ จะใช้ 1 Luna ในการแปลงเป็น UST ได้ 6 UST
โดย algorithm ของ Terra จะใช้การ arbitrage เพื่อช่วยให้ราคา UST ที่ผลิตไม่ผันผวนหนัก
เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่ demand ของ UST มากขึ้นอาจจะทำให้ราคาเหรียญมากกว่า 1 ดอลลาร์ได้
เช่นราคา UST อยู่ที่ 1.03 ดอลลาร์ ระบบถูกออกแบบมาให้แก้ไขด้วยการทำ arbitrage โดยเราสามารถเอา Luna ที่มีไปผลิต UST ในราคาต้นทุน 1 ดอลลาร์ แล้วในไปขายที่ตลาดในราคา 1.03 ดอลลาร์เพื่อทำกำไรส่วนต่าง การทำแบบนี้ถือว่าเป็นการเพิ่ม supply ของ UST เพิ่มขึ้นและจำทำให้ราคากลับไปเป็น 1 ดอลลาร์ในที่สุด
กลับกันถ้าราคา UST ร่วงมาเป็น 0.97 ดอลลาร์ก็แก้ปัญหาได้โดยเราสามารถซื้อ UST ที่ตลาดในราคา 0.98 ดอลลาร์ไปขายให้ระบบเป็น 1 ดอลลาร์จะเป็นการ Burn UST จากระบบทิ้ง ซึ่งจะเป็นการทำให้ UST มีความเสถียรและมูลค่าอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ โดยประมาณ
ดังนั้นจึงต้องมี liquidity pool ที่คอยมา arbitrage ระหว่าง UST กับ Luna ให้เพียงพอเพราะถ้า supply โตมากขึ้น liquidity pool ก็ต้องทำงานมากขึ้นเช่นกัน


เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของ Stablecoin ทั้ง 3 ประเภท




1)เปรียบเทียบ USDT,USDC และ BUSD ซึ่งเป็น Stablecoin ที่ถูกค้ำด้วยสินทรัพย์
ข้อดีของ USDT,USDC และ BUSD
เป็น Stablecoin ที่มีความซับซ้อนในการสร้างน้อยที่สุด ออกเหรียญตามจำนวนสินทรัพย์ที่ใช้คำประกัน

ข้อเสียของ USDT,USDC และ BUSD
คำว่า Attestation เป็นการเลี่ยงบาลีจากคำว่า Audit ซึ่งความหมายแตกต่างกันอย่างมาก โดยการออก stablecoin ต้องทำการตรวจสอบ(Audit)บัญชีว่ามีเงินสำรองอยู่จริงหรือไม่ แต่ในปัจจุบัน stablecoin ทุกเหรียญไม่มีการตรวจสอบบัญชี(Audit) แต่จะใช้คำว่า Attestation แทนซึ่งหมายถึงการให้ความเห็นเท่านั้นเพื่อเป็นการให้กระบวนการออก stablecoin ทำได้รวดเร็ว

และจากการเปิดเผยเงินสำรองล่าสุดของ Tether ก็พบว่า USDT ไม่ได้มีดอลลาร์ค้ำประกัน 100% ตามที่เคยกล่าวอ้างแต่เป็นการถือสินทรัพย์หลากหลายประเภทไว้แทน
ส่วน USDC, BUSD ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่เช่นกันเพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วเขาใช้เงินดอลลาร์ค้ำประกัน 100% อย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

ความแตกต่างของ USDC และ BUSD
การฝากเงินดอลลาร์ที่ใช้ค้ำประกันของ USDC เป็นการฝากกับ Custody ซึ่งหมายถึงศูนย์รับฝากสินทรัพย์โดยเวลาที่ต้องการเบิกถอนต้องมีการตรวจสอบอย่างถูกต้องว่าเป็นไปตามความต้องการของผู้ฝากสินทรัพย์อย่างแท้จริง
แต่ BUSD เป็นการฝากกับ Bank Account ซึ่งหมายถึงการฝากเงินกับธนาคาร และธนาคารสามารถนำเงินเราไปปล่อยกู้ได้

ความเสี่ยงของการไม่ได้ค้ำประกันด้วยการถือเงินดอลลาร์ 100% คือ หากบริษัทที่ทำการออกเหรียญมีทุนสำรองหรือถือสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่เงินสดก็จะให้ขาดสภาพคล่อง และมีโอกาสขาดทุนจากการผันผวนของราคาสินทรัพย์นั้นๆได้ ยกตัวอย่างเช่นการถือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ถ้าบริษัทนั้นล้มละลายก็อาจจะกลายเป็นหนี้สูญและสร้างความเสียหายตามมาได้

และการที่บริษัทที่ออก stablecoin นำเงินดอลลาร์ที่ถือไว้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันไปปล่อยกู้ต่อไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นกู้เอกชน, พันธบัตรรัฐบาล หรือในรูปแบบใดก็ตาม
มันถือว่าเป็นการ Double-Spending หมายความว่า บริษัทนั้นได้ทำการนำเงินก้อนเดียวกันทำการ Lending ใน 2 ระบบเศรษฐกิจ
เช่น Tether มีเงิน 6หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการค้ำประกัน นำมาสร้าง stablecoin และนำเงินดอลลาร์ที่ค้ำประกันมาปล่อยให้รัฐบาลกู้โดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่ากับว่ามีเงินก้อนเดียวแต่นำมาใช้จ่ายถึงสองครั้งโดยมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การทำแบบนี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจจริงโดยจะเป็นตัวเร่งของอัตราเงินเฟ้อได้ทำให้มีการเกิดเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจจริง แต่กลับกันก็จะส่งผลให้ราคา cryptocurrency พุ่งสูงขึ้นด้วยได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อ marketcap ของ stablecoin เหรียญนั้นๆมีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างมหาศาลจน marketcap ของ stablecoin ใกล้เคียงกับ marketcap ของเงินในระบบเศรษฐกิจจริง

ในแง่ของการเติบโตจะมีข้อจำในเรื่องการขยาย supply โดยต้องหาเงินมาค้ำประกันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆตามการเติบโตของ supply



2) เปรียบเทียบเหรียญ Dai ซึ่งเป็น stablecoin ที่มี Cryptocurrency ค้ำอยู่

ข้อดีของ Dai
เป็น Stablecoin ที่ไม่ต้องการใช้ตัวกลางที่เป็นจุดอ่อนของระบบทุกอย่างอยู่บน Smart Contract ทำให้ทุกอย่างโปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือ

เหรียญ Dai ไม่สามารถถูกสั่งอาญัติเหรียญได้ เหมือน USDT,USDC จากภายใต้คำสั่งขององกรค์ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งถือว่ามีความเป็นอิสระและอธิปไตยค่อยข้างสูง

ข้อเสียของ Dai
ถ้าตลาดเกิดการปรับตัวลงอย่างรุนแรงอาจทำให้ระบบทำการ liquidate ไม่ทัน ส่งผลให้มีโอกาสที่มูลหนี้จะสูงกว่าตอนที่โดน liquidate ไปแล้ว(เกิดหนี้เสียในระบบ)
อีกหนึ่งข้อเสียของการใช้เหรียญมาค้ำประกันคือทำให้มี Supply ค่อนข้างน้อย ทำให้โตช้ากว่าเหรียญอื่นเพราะต้องจูงใจให้คนมาค้ำเพื่อผลิตเหรียญ Dai
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เหรียญ Dai ขาดเสถียรภาพ เช่น ตอนที่ Dai ใน Exchange ไทยมีราคาพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง สาเหตุมาจากการที่เหรียญมี demand มากแต่กลับกัน supply ของเหรียญน้อยมากจึงทำให้ราคาเหรียญพุ่งสูงทั้งที่เป็น Stablecoin


3)เปรียญเทียบเหรียญ UST ซึ่งเป็น Stablecoin ที่รักษามูลค่าด้วย Algorithm
โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปจะมองว่า Algorithm Stablecoins ของ Terra ไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะไม่มีสินทรัพย์ใดๆมาค้ำประกัน

ข้อดีของ UST
ถ้ามองอีกมุม UST ก็เปรียบเสมือนเงินดอลลาร์ที่มีคนยอมรับได้เพราะความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งคล้ายกับ USTที่สามารถมองว่ามี productivity ต่างๆของ Terra ecosystem เป็นตัวค้ำประกันอยู่ ซึ่งระบบของ Terra นี้มี productivity ค่อนข้างมากและมีการใช้งานจริงได้แก่
– สามารถเทรดหุ้นสังเคราะห์หรือ systhetic stock ได้ผ่าน Mirror Protocol
– สามารถทำการ lendingหรือกู้ยืมสินทรัพย์ ผ่านทาง Anchor Protocol
– มีแอพลิเคชั่น ชื่อว่า Chai ที่ใช้เป็น wallet ในการใช้จ่ายหรือรับเงินได้เลย ซึ่งตอนนี้ใช้อยู่ในประเทศเกาหลี และกำลังพยายามขยายไปประเทศอื่นๆ
ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเชื่อมั่นในระบบของ Terra ecosysten หรือไม่?
เพราะถ้าคุณเชื่อมั่นในระบบ Terra ecosystemใน ก็สามารถเชื่อมั่น UST ได้เช่นกัน

ข้อเสียของ UST
ความเสี่ยงก็คือถ้าเทคโนโลยีหรือระบบ ecosystem ของTerra ไม่มีการเติบโตหรือหยุดพัฒนาเนื่องจากหลายๆปัจจัยก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อ UST อย่างแน่นอน




สรุป Stablecoin 

Stablecoin มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆประกอบกับการใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละคน สำหรับคนที่มีความเข้าใจว่า stablecoin มีดอลลาร์ค้ำประกันในอัตรา 1:1 เมื่ออ่านบทความนี้จบก็คงพอเข้าใจแล้วว่าเพราะอะไรมันถึงไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นใครที่กำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือเลือกถือ stablecoin ตัวไหนไว้ในพอร์ตก็ควรทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในสินทรัพย์ของตัวท่านเอง

 

แถมท้าย เรื่องความผันผวนระหว่าง stablecoin กับเงินบาท

stablecoin ควรมีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์เสมอแต่เราก็ต้องอย่าลืมอีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์นั้นเป็นเลทลอยตัวทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนตามมา โดยถ้าเงินบาทแข็งค่าก็จะทำให้แลกเป็นเงินดอลลาร์ได้น้อยลง เช่น เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว 1 ดอลลาร์ = 31 บาท แต่วันนี้ 1 ดอลลาร์ = 30 บาท นั้นแปลว่าถ้าเราถือ stablecoin ที่มูลค่าเทียบเท่าดอลลาร์ แล้วคิดจะแปลงกลับเป็นเงินบาทในขณะนั้นโดยไม่คำนวณดูให้ดีก็อาจจะทำให้ขาดทุนได้โดยไม่รู้ตัวครับ

Article
Writer

Maybe You Like