สวัสดีครับในช่วงนี้กระแสของ DeFi นั้นได้เป็นกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ และได้ผลตอบที่น่าตกใจบางแพลทฟอร์มนั้นให้ผลตอบแทนถึง 1000% ต่อปีเลยทีเดียว จนทำให้มีคนเริ่มพูดว่า DeFi นั้นจะทำให้ตลาดคริปโตเกิดฟองสบู่เหมือนที่เคยเกิดใน ICO ในช่วงปี 2017 หรือเปล่า
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!
ความคาดหวังและการสร้างมูลค่าจากสิ่งที่ยังไม่มี
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ฟองสบู่ในโลก Cryptocurrency เราไปเข้าใจในถึงหลักการสร้างมูลค่าจากควาามดคาดหวังและ Story กันก่อนนะครับ
ปัจจุบันโลกเรานั้นหมุนด้วยกงล้อหนี้หรือมูลค่าของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ธรรมชาติของคนเรานั้นเราจะยอมเสียเงินหรือความมั่งคั่งของเราในวันนี้ เพียงเพราะเราคาดหวังว่าจะได้มันมากขึ้นในอนาคต เช่น เราซื้อกองทุนเพราะเราคาดหวังว่ามันจะเกิดกำไรจากลงทุน เราซื้อหุ้นเพราะเราคิดว่าราคามันจะขึ้นคิดว่ามันจะมีปันผล หรือถ้าพูดง่ายๆคือมูลค่าของสิ่งเหล่านี้นั้นเกิดจากการตัดสินใจส่วนบุคคลที่ซื้อสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความต้อง การและสร้างเป็นมูลค่าขึ้นมา แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจจะเกิดจากการพิจารณาจากหลายปัจจัยหรือทฤษฎีต่างๆก็ตาม
และเหตุการณ์ฟองสบู่มักจะเกิดจากการที่ผู้คนตัดสินใจทำการขายสินทรัพย์ใดๆพร้อมกันซึ่งอาจจะเกิดความคาดหวังนั้นพังทลายลงด้วยเหตุผลต่างๆ หุ้นเป็นตัวอย่างที่ดี นักลงทุนในหุ้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือหุ้นที่เกิดจากการระดมทุนก็ตาม นักลงทุนต่างต่างหวังว่ามันจะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตและเมื่อความเชื่อมั่นนั้นพังทลายลงด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม มูลค่าของมันก็จะตกลงมาอย่างฮวบฮาบ
Cryptocurrency กับความแตกต่างของตลาดหุ้น
Cryptocurrency ของนั้นเป็นสิ่งที่แปลกมากสำหรับผู้คนที่คุ้นชินกับตลาดหุ้นหรือตลาดทุนเดิม มันสามารถถูกสร้างขึ้นได้โดยไม่ผ่านตัวกลางมันเป็นแค่โปรแกรมแหละหน่วยทางดิจิทัลที่สามารถแต่งเติมเรื่องราวอะไรลงไปก็ได้ และยังสามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วต้นทุนต่ำและไม่ถูกจำกัดเวลาเปิดปิดเหมือนตลาดหุ้น
แม้ว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจแต่ในอีกแง่หนึ่งมันมีความฉาบฉวยอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างเช่นในการระดมทุนหุ้น หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัท Start Up นั้นคุณจะสามารถขายมันได้ก็ต่อเมื่อมันเข้าสู่ตลาดหุ้นแล้วหรือไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องขายมันแก่เจ้าของบริษัทหรือทำการขายระหว่างบุคคล
แต่ในทางกลับกัน Cryptocurrency นั้นกลับเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องง่ายกว่ามากยิ่งเป็น Token ICO ทั้งหลายนั้นคุณสามารถทำการซื้อขายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งนี้กลับเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียเพราะมันสามารถมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนในเชิงบวกหรือเชิงลบได้รุนแรงกว่าหุ้นเมื่อมีการซื้อหรือขาย
ICO กับฟองสบู่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อเราย้อนกลับไปในช่วงปี 2017-2018 ที่ ICO เติบโตอย่างรวดเร็วโดยมันมีมูลค่ารวมประมาณ 22 พันล้านดอลลาร์และเริ่มแตกเมื่อประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์ ซึ่ง ICO นั้นเป็นกระบวนการระดมทุนที่ไม่ต่างจากบริษัท Start Up ที่ขายฝันที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำกำไรได้
ในแง่ของกระบวนการนั้น ICO ไม่ได้ผิดอะไรแต่เนื่องจากมันเกิดขึ้นไวเกินไป และความฝันที่แต่ละโครงการนั้นยากที่จะทำให้เป็นจริงได้ในระยะเวลาอันสั้นทำให้น้อยโปรเจคต์นั้นจะสามารถสทำให้เป็นจริงได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้น้อยโปรเจคต์นักที่จะสร้างการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงจากความฝันมา ตอบสนองความเชื่อต่อตลาดและผู้คนให้เอาเงินใส่ลงในตลาด
ส่วนหนึ่งที่สอดคล้องต่อการล่มสลายของ ICO คือการที่ ICO เป็น Utility Token ซะ 90% ของตลาด มันไม่เหมือนกับหุ้นที่เป็นหน่วยของธุรกิจและมีการปันผล และเมื่อโครงการยังไม่เสร็จมันไม่มีการใช้งาน (Utility) มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่ Story ของมันจะไม่มีใครเชื่อถือและล้มตัวลงง่ายๆ และมันเป็น Case study ที่ดีว่าการสร้าง Story ขึ้นมากลวงๆนั้นจะไม่สามารถทำให้ใคร Buy อีกต่อไปแล้ว
เมื่อตลาดนั้นเป็นลักษณะที่ไม่มีอะไรปิดกั้นและผลจากการที่โครงการทั้งหลายล้มเหลว ฟองสบู่จึงเกิดขึ้นโดย มี Token มากมายที่ไม่มีการใช้งานจริงๆ ล้มตายลงไป หรือสิ่งที่ตลกกว่านั้นคือบาง Token กลับยังมีคนซื้อขายกันในปริมาณมากเพียงเพราะ Story มันยังขายได้โดยที่ไม่มีคนใช้งาน Project นั้นจริงๆด้วยซ้ำ
DeFi ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานจริง
คราวนี้เรากลับมาดูที่โลก Defi บ้างโลก Defi นั้นได้แก้ปัญหาเรื่องการใช้งานอย่างน่าสนใจมาก ด้วยการที่สร้างแพลทฟอร์มที่มีการใช้งานได้จริงอย่าง
- Uniswap ตลาดแลกเปลี่ยนไร้ตัวกลาง
- Balancer กองทุนคริปโตไร้ตัวกลาง
- MakerDao แพลทฟอร์มสำหรับสร้าง Stablecoin ไร้ตัวกลางอย่าง Dai
- Compound แพลทฟอร์มกู้ยืมไร้ตัวกลาง
โดยแพลทฟอร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่นั้นมีการถูกพัฒนาให้มีการใช้งานจริงก่อนที่จะสร้างเหรียญ Token เป็นของตัวเอง ทำให้มันสามารถลบข้อครหาจาก ICO ที่ไม่มีการใช้งานทำให้มีคนเชื่อมั่นใน DeFi
นอกจากนี้แพลทฟอร์มเหล่านี้เรายังสามารถ Provide Liquidity หรือเรียกอีกอย่างว่า Liquidity mining ลงในแพลทฟอร์มเหล่านี้โดยจะได้ค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้งานที่มาใช้ตอบแทนแก่คนที่ลงเงินแบบ 100% ซึ่งนี่เป็นแนวคิดของ “การปันผลหุ้น” ที่ชัดเจนมาก
การที่เรานำเงินไปลงนั้นกลายเป็นว่าเราเป็นเหมือน หุ้นส่วนและทรัพยากรของบริษัท และเราก็จะได้ผลตอบแทนตามจำนวนที่เราลง เปรียบเสมือน Platform เหล่านี้คือ Sharing Economy ที่สร้างโครงสร้างของธุรกิจและให้คนมีส่วนร่วมได้
และส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือแพลทฟอร์มเหล่านี้นั้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าธนาคารในรูปแบบการเงินเดิมๆทั้งนั้นโดยการฝาก Stablecoin นั้นสามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 5-30% แสดงให้เห็นถึงว่าเมื่อเราสามารถตัดตัวกลางออกไปได้แล้วผลตอบแทนจริงๆที่ตัวกลางเคยได้รับนั้นมากแค่ไหน
จะเรียกได้ว่า Platform เหล่านี้นั้นสามารถสร้าง Security Token สำเร็จในรูปแบบหนึ่งโดยที่หาได้แคร์รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับที่กว่าจะศึกษาและออกกฎเกณฑ์สำเร็จก็น่าจะใช้เวลาเกือบทศวรรตได้ มันสวยงามมากในแง่ของนวัตกรรม
Governance Token สินทรัพย์ประเภทใหม่ที่มีมูลค่าหรือเปล่า?
แต่อย่างไรก็ตามนั้นการใช้งาน Platform DeFi เหล่านี้นั้นก็ไม่ได้หมายถึงการที่เราถือหุ้นของ Platform นี้แบบ 100% เพราะว่าสิ่งที่หายไปคือ
“ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและควบคุมระบบ”
คล้ายๆกับการเป็นเจ้าของแพลทฟอร์ม
และนั้นทำให้เริ่มมี DeFi Platform เริ่มสร้างเหรียญ Governance Token ออกมามากมายโดยผู้ที่ถือครองเหรียญเหล่านี้จะมีสิทธิ์ในการควบคุม Platform โดยที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ (เพราะเอาไปจ่ายให้คนที่เป็นฝากเงินเป็นสภาพคล่องหมดแล้ว)
คราวนี้แหละโลก Crypto และ Defi ก็ได้ครื้นเครงกันอีกครั้ง เพราะกลายเป็นว่า Governance Token เหล่านี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ เราจะประเมินยังไงว่า
“ความสามารถในการควบคุมเปลี่ยนแปลง Platform แต่ไม่ได้รับผลตอบแทน”
ควรจะมีค่าเท่าไหร่กันแน่
แต่ในแง่หนึ่งแล้วมันเป็น Story ที่ดูมีราคามากกว่า Utility Token ของ ICO อย่างมากตรงที่มันสามารถอ้างได้ว่า Platform ของเรามี Liquidity XXX เท่านี้นะมีคนใช้งานจริง หรือบางแพลทฟอร์มก็มีกองทุนสำรองที่สามารถโหวตได้การมีสิทธิมีเสียงของ Liquidity ขนาดนี้ทำให้เหรียญน่าจะมีมูลค่าแหงๆ แต่เหรียญนั้นไม่ได้มีปันผลนะ ???
มีบางความเห็นที่บอกว่าคนที่มีเหรียญเยอะอาจจะเหรียญแปลงระบบให้นำค่าธรรมเนียมมาจ่ายคนถือเหรียญได้ก็จริง แต่การทำอย่างนั้นไม่ต่างจากการทำลายตัวเอง เพราะ Platform เหล่านี้มีการแข่งขันที่สูงมาก หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นผู้คนจะย้าย Platform แน่นอน นอกจากนี้โมเดลที่แบ่งค่าธรรมเนียมให้กับคนถือเหรียญก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่อย่างใน Kyber Network
โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ดูเหมือนจะถูกตอบโดยความคาดหวังของตลาดอย่างช้าๆและสวยงามอย่างที่เกิดกับ MakerDao ที่มีอายุการพัฒนาแพลทฟอร์มอย่างยาวนานและน่าสนใจด้วยเหรียญ Dai ที่เป็น Stablecoin ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ MakerDao นั้นเติบโตขึ้นอย่างช้าๆและสวยงาม
YFI จุดเริ่มต้นของแชร์อันโปร่งใสในโลก DeFi
ในขณะที่เหรียญ Governance กำลังถูกพิสูจน์โดยตลาดทุกอย่างก็เปลี่ยนไปด้วยการมาของ YFI หรือ Yearn Finance ที่เริ่มมีโมเดลของ “แชร์” มาสร้างมูลค่า YFI ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ว่าคนที่จะได้รับเหรียญนั้นจะต้อง Provide Liquidity ให้แก่ Platform โดยรวมถึงการ Provide Liquidity ให้แก่เหรียญ Governance ของ Platform ด้วย ทำให้ในการรับเหรียญผู้ใช้งานต้องทำการซื้อเหรียญ Platform ซึ่งเป็นการดันมูลค่าของมันส่วนหนึ่ง
Andre Crojre ผู้สร้าง YFI นั้นฉลาดมากที่สร้างสูตร 98:2 ขึ้นมาเพื่อทำให้เหรียญที่มีมูลค่าเริ่มจาก 0 สามารถเติบโตได้ และยังเป็นแชร์ที่มีความเสี่ยงต่ำจากอัตราส่วนของเหรียญ YFI แค่ 2% ซึ่งในกรณีที่เกิด Impermanant lose ขึ้้นนักลงทุนอาจจะเสียเงินมากที่สุดเพียงแค่ไม่เกิน 10% เท่ากับว่ามันคือ “แชร์” ที่มีการหมุนเงิน แต่ยังไม่ถึงขั้น “แชร์ลูกโซ่” เพราะคนลงทุนไม่ถึงกับหมดตัวในทีเดียว
แต่ผลที่ได้แน่นอนว่าเกินความคาดหมายของเขามากจากราคาเหรียญของ YFI ที่พุ่งเกินมูลค่าของ Bitcoin ต่อเหรียญไปแล้ว YFI กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนมากมายมองว่า “เห้ยโมเดลนี้แม่งเจ๋งปั่นได้หวะ” ทำให้เราเห็นคนที่ก็อปปี้ YFI ออกมาแก้โน่นนี่นั้นทำแชร์ให้คนเล่นอย่างบันเทิงเช่น YFT YFV หรือแม้กระทั่ง YAM เราจะเห็นว่ามีผู้คนมากมายรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแชร์แต่ก็ยอมที่จะลงเงินปริมาณมากลงไป ซึ่งในระยะยาวหาก “แชร์” เหล่านี้ไม่สามารถสร้าง Story ให้แก่เหรียญหลักได้มันจะมีมูลค่าลดลงอย่างช้าๆ แต่หากทำได้วงล้อแชร์และการหมุนเงินก็จะดำเนินไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด
Sushi Swap กับการปั่นมูลค่าในโลก DeFi
ต่อมาก็ได้เกิดกระแสขึ้นอีกครั้งเมื่อมีแพลทฟอร์มที่ชื่อว่า Sushi Swap ได้สังเกตุว่า Uniswap นั้นยังไม่มี Governance Token เลยได้ทำสิ่งบันเทิงๆด้วยการก็อปปี้ Uniswap มาแล้วทำการแจก Governance Token โดยผู้ใช้ต้องเอา LP Token ของ Uniswap บนแพลทฟอร์มมา Stake แล้วแจกเหรียญ
โมเดลของ Sushi Swap นั้นดูเผินๆนั้นเหมือนจะไม่ใช่แชร์ แต่ใน Sushi Swap นั้นดันมี Pool นึงที่เป็นการทดลองที่เรียกได้ว่าทั้ง น่าสนใจ บ้าคลั่ง และน่ากลัวด้วย นั้นคือ Pool Sushi/ETH โดยผู้ใช้จะต้องทำการ Stake ในอัตราส่วน 50:50 เพื่อรับเหรียญ Sushi โดยคนที่ลง Pool จะได้รับเหรียญเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ Pool อื่นๆทำให้มีคนยอมลงใน Pool นี้เพราะหวังเหรียญโบนัส
แต่อย่าลืมว่า YFI นั้นเป็นแชร์ที่มีอัตราส่วน 2% แต่ Sushi นั้นเป็นแชร์ที่มีอัตราส่วน 50% ในขณะที่ YFI นั้นแบ่งเงินเพียง 2% มาพยุงราคาแต่ Sushi นั้นใช้ถึง 50% ซึ่งมันทำให้ราคา Sushi นั้นพุ่งขึ้นและลงง่ายกว่า YFI หลายเท่าและนั้นก็ส่งผลให้คนจำนวนมาก Fomo กับตลาด DeFi จากผลตอบแทนต่อปีที่มากถึง 2000% ทำให้มูลค่าการตลาดของ DeFi เติบโตขึ้นอย่างบ้าคลั่งเกิน 10 พันล้านดอลลาร์ภายใน 2-3 วันแถมค่า Fee ของ Ethereum ยังพุ่งเป็นประวัติการณ์ การลง Pool ใน Sushi/ETH แม้จะได้รับผลตอบแทนที่ดีมากแต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากเพราะเราต้องลงอัตรา 50:50 ไม่ใช่ 98:2 ทำให้เรามีความเสี่ยงในกรณีที่ราคา Sushi ผันผวน
แต่ล่าสุด Founder ของ Sushi Swap ได้ทำการเทเหรียญของตัวเองทั้งหมดทุบราคา Sushi ซะเละเทะ ซึ่งใครที่ลงทุนในเหรียญ Sushi หรือลง Pool Sushi ก็น่าจะได้รับบทเรียนไปตามกัน ซึ่งสุดท้าย Founder ก็ได้ทำการคืนเงินในภายหลัง แต่ในแง่นึงแล้วมันก็เป็นการทดสอบความพฤติกรรมของผู้คนเช่นกันว่าจะตอบสนองอย่างไร
Yield Farming กับการซ้อน Smart Contract
ส่วนถัดไปที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของโลก DeFi คือ Platform ที่สร้างมาเพื่อหาผลกำไรในลักษณะซ้อนแพลทฟอร์มอื่นตัวอย่างเช่น Curve และ Yearn Finance
Curve นั้นเป็น DeFi ที่เป็น Liquidity Pool ของ Stablecoin ทำให้คนสามารถซื้อขาย Stablecoin ในราคาต่ำได้แต่อย่างไรก็ตาม Curve นั้นมีการให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงจากการที่เขียน Smart Contract ให้นำเงินทุนไปปล่อยกู้ในแพลทฟอร์มอื่นๆเช่น Compound, Synthetic ทำให้ผมตอบแทนนั้นสูงแต่นักลงทุนก็มีความเสี่ยงด้าน Smart Contract เช่นกัน
ในขณะที่ถ้าเราใช้ Platform อย่าง Uniswap หรือ Compound โดยตรงเราจะมีความเสี่ยงเพียงแค่ Smart Contract ที่อยู่ Platform เท่านั้นแต่ใน Curve เราต้องรับความเสี่ยงของ Smart Contract ที่นำเงินของเราไปปล่อยกู้ใน Platform อื่นๆ ถ้า Smart Contract ของ Compound มีปัญหา Curve ก็จะมีปัญหาเช่นกัน อีกด้วยและแน่นอนว่า Curve ก็มีเหรียญ Governance ของตัวเองเช่นกันซึ่งมันเป็นการสร้างมูลค่าซ้อนขึ้นมาทบกันไปใน Platform อื่นๆ
และแน่นอนว่ามันไม่ได้มีแค่ Curve ยังมี Platform จำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยคุณต้องนำเหรียญของ Platform หรือเหรียญ LP ไป Stake และอย่าลืมว่าเมื่อคุณทำอย่างนั้นคุณอาจจะได้รับผลตอบแทนสูง แต่คุณก็ต้องรับความเสี่ยงหลายด้านเช่นกัน อย่างการฝาก Ycrv ใน Yearn.finance
การปั่นเหรียญในโลก DeFi กับการตลาดที่ก่อให้เกิดความ FOMO
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้กระแสของ DeFi นั้นถูกจุดติดนั้คือผลตอบแทนต่อปีหรือ APY ที่มากอยู๋ในระดับ 1000% ต่อที่ทำให้มีคนจำนวนมากเห็นโอกาส (และโลภด้วย) ทำการยอมใส่เงินเข้าไปทำให้ DeFi เป็นแชร์ที่สามารถหมุนเงินได้ ซึ่งเหตุผลที่แพลทฟอร์ม DeFi สามารถสร้างผลตอบแทนสูงได้มีดังนี้
- แพลทฟอร์มทั้งหลายสร้าง Token Economic คล้ายๆกันคือ “ค่อยๆปล่อยเหรียญที่ละน้อย”
- เมื่อเหรียญมีจำนวนน้อยการดันราคาเหรียญก็ใช้เงินไม่มากและง่าย
- เมื่อราคาเหรียญพุ่งสูงก็จะทำให้ค่า APY ที่ถูกคิดจากราคาเหรียญนั้นพุ่งสูงอย่าง่ายดาย
ทำให้เราถ้าเราสังเกตุดีๆว่าที่ APY สูงขนาดนี้ได้เพราะ Token Economic ถูกออกมาแบบนั้นช่วยเอื้อให้ตัวเลยมันสูง ถ้าเหรียญไม่มี Story ที่ช่วยดันราคาสุดท้ายมันจะสูญเสียมูลค่าทีละน้อยๆไปเรื่อยๆนั่นเอง (แต่ถ้าต่อ Story ได้ทันก็เป็นอีกเรื่อง)
ฟองสบู่ในโลก DeFi
หลังจากที่เราได้อธิบายขั้นต้นไปทั้งหมดแล้วนั้นคำถามคือเหตุการณ์ฟองสบู่จะเกิดขึ้นบนโลก DeFi ซึ่งฟองสบู่นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเชื่อมั่นที่มีต่อ DeFi ทั้งหลายพังลงมานั้น แต่ส่วนที่โลก DeFi ต่างกับ ICO คือมันมีเงินที่เป็น Liquidity ที่ถูกล็อคไว้บน Platform จริงๆมีการใช้งานการปั่นผลและการหมุนเงินจริงๆ ทำให้ตรงจุดนี้มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดฟองสบู่ได้ มันคือการใช้งานอย่างมากแพลทฟอร์มก็คืนเงินที่คนฝากให้กับผู้ฝากเงิน ซึ่งถ้าเราเข้าไปดูใน defipulse เราจะเห็นว่ามันมีเงินกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ถูกล็อคใน DeFi
จุดที่อาจจะทำให้เกิด Bubble ในวงการ DeFi ได้คือส่วนของ Governance Token ที่ถูกปั่นโดยแชร์หรือการสร้าง Story ทั้งหลาย เพราะแม้มันจะมีการใช้งาน (ที่ชัดเจนมั้ง) แต่ความต้องการและการประเมินมูลค่ามันก็ยังไม่ถูกพิสูจน์ที่จะได้รับความเชื่อมั่นที่มากพอ (ยกเว้น MakerDao) ส่วนสำคัญที่เราต้องดูคือ
“มูลค่าของเหรียญ Governance Token ต่อมูลค่าเงินใน Platform”
มันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากเพราะเหรียญ Governance Token ตอนนี้คือ
“อำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบของเงินใน Platform”
(ตอนนี้สวนใหญ่มีแค่นี้อนาคตยังไม่รู้) มันคงจะเป็นเรื่องตลกหากเงินที่ถูก Lock นั้นมีมูลค่าต่ำกว่าเหรียญ Governance Token ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามแม้ว่า Governance Token นี้จะเกิดฟองสบู่แตกก็ตามมันจะไม่เหมือนกับตอน ICO ที่ไม่มีการใช้งาน เพราะมันมีการใช้งานแล้ว เป็นมูลค่าหรือ Story รองรับนั่นเอง และนั่นเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียที่หมายความว่า DeFi จะไม่ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเท่า ICO แต่ก็มีโอกาสฟองสบู่น้อยกว่าเช่นกัน
สรุป
แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วผมก็คงให้คำตอบไม่ได้ว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน จะฟองสบู่แตกไหมแต่มันดูแล้วมีภาษีดีกว่า ICO แน่ๆ ในแง่เทคนิคแล้ว DeFi กำลังทำให้โลก Cryto เข้าสู่การทดลองของโลกการเงินที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้คนจะตอบสนองยังไงต่อ Story ของเหรียญ Governance เหล่านี้ แชร์นี้จะหมุนไปได้เรื่อยๆเหมือนธนาคารหรือจบลงแบบ ICO เพราะสุดท้ายคนคิดว่า เหรียญเหล่านี้ไม่ได้มีค่าอะไร ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินและโลก Crypto เลยทีเดียว (เมื่อไม่ใช่แค่ธนาคารที่ทำแชร์ได้)