Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ให้จัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไรจากการเทรด Cryptocurrency โดยระบุในกฎหมายว่าพระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ก็คือให้ใช้บังคับในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 นี่ก็ผ่านมาจะหนึ่งสัปดาห์แล้ว ทำไมกระดานเทรดที่เราทำการซื้อขายอยู่ทุกวันนี้ไม่เห็นหักภาษี
ในบทความนี้ ผู้เขียนเพียงอยากแบ่งปันหลักกฎหมายภาษีในมุมของผู้เขียน (เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้อ่านสามารถแบ่งปันความคิดเห็นได้น่ะครับ)
ก่อนจะไปพูดเรื่องว่าทำไมถึงไม่หักภาษี ต้องมาแยกประเด็นก่อน 2 เรื่องครับ คือ ใครมีหน้าที่หักภาษี แล้วหักภาษีได้รึยัง
ต้องกลับมาที่ตัวกฎหมายก่อนครับ เริ่มต้นกันที่มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน …” บทบัญญัติบอกว่าคนจ่ายเงินได้พึงประเมินเป็นคนหักภาษี จึงต้องถามว่าแล้วคนจ่ายคือใคร ลูกค้าหรือกระดานเทรด
การจะตอบคำถามนี้ต้องดูที่ตัวกฎหมายอีกล่ะครับ ไปที่มาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ …”
และดูประกอบกับมาตรา 31 วรรคสอง ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นทรัพย์สินของลูกค้า”
จากกฎหมายทั้งสองมาตราเท่ากับว่ากระดานเทรดเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการซื้อขายแลกเปลี่ยน Cryptocurrency เท่านั้นครับ เงินสดหรือ Cryptocurrency ที่ลูกค้าโอนให้กระดานเทรดยังคงเป็นของลูกค้า ไม่ใช่ของกระดานเทรด เวลาลูกค้าซื้อหรือขาย Cryptocurrency ต้องถือว่าลูกค้าจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ฝ่ายที่ขาย
ตรงนี้ให้นึกภาพของธนาคารครับ เวลาคุณซื้อสินค้าออนไลน์ คุณโอนเงินผ่านธนาคารให้แม่ค้า เงินผ่านธนาคารก็จริงครับ แต่ถือว่าคุณเป็นคนจ่าย และคุณเป็นคนมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่มีธนาคารไหนทำหน้าที่หักภาษีแล้วนำส่งแทนคุณ เหมือนกรณีข้างต้นคือ เงินสดผ่านกระดานเทรดก็จริงครับ แต่ต้องถือว่าคุณเป็นคนจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่คนขาย Cryptocurrency คุณจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้เลยครับ ยกตัวอย่างเช่น
นาย A เอาเงิน 100,000 บาทไปซื้อ 1 BTC ของนาย B
ต่อมานาย A เอา 1 BTC ไปขายให้นาย C ในราคา 150,000 บาท
เท่ากับว่า นาย C จ่ายเงินได้พึงประเมินให้นาย A จำนวน 150,000 บาท
คำถามคือ นาย C จะรู้ได้อย่างไรว่า 1 BTC ของนาย A ซื้อมาที่ราคา 100,000 บาท (เท่ากับนาย A มีกำไร 50,000 บาท) คนรู้คือกระดานเทรดครับ นาย C ไม่มีทางรู้
กรมสรรพากรเปิดช่องให้คนจ่ายเงินได้พึงประเมินมอบอำนาจให้ผู้อื่นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนได้น่ะครับ ปัญหาตรงนี้จึงหมดไปหากนาย C มอบอำนาจให้กระดานเทรดเป็นคนหักภาษีแทน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีกระดานเทรดไหนรับมอบอำนาจจากลูกค้าหักภาษีแทนเลยครับ เลยแว่วมาว่ากรมสรรพากรจะหารือกับ ก.ล.ต. บังคับให้กระดานเทรดเป็นผู้หักภาษีแล้วนำส่งแทน (ทั้งที่ตอนร่างพระราชกำหนดควรกำหนดเพิ่มไปเลยว่าให้กระดานเทรดเป็นผู้หักภาษีแล้วนำส่ง)
สมมติในอนาคตมีการออกประกาศหรือระเบียบให้กระดานเทรดเป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เราต้องมาพิจารณาข้อต่อไปว่าแล้วหักได้รึยัง
กลับไปที่ตัวกฎหมายกันอีกครั้งครับ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ให้จัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน หรือพูดง่าย ๆ คือกำไรนั่นแหละครับ
เราไปดูที่ตัวอย่างกันครับ
นาย A เอาเงิน 100,000 บาทไปซื้อ 1 BTC ของนาย B
นาย A เอา 1 BTC ไปแลก 10 ETH ของนาย C
ขณะนั้น 10 ETH มีมูลค่า 150,000 บาท เท่ากับนาย A มีกำไร 50,000 บาท
คงต้องหยุดที่ตรงนี้ก่อนครับ เพราะมีคำถามขึ้นมาว่ารู้ได้อย่างไรว่า 10 ETH มีมูลค่า 150,000 บาท
กลับไปที่ตัวกฎหมาย มาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่จำเป็นต้องคำนวณราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด” เท่ากับว่า 10 ETH จะมีมูลค่าเท่าใดต้องดูหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกาศกำหนด ซึ่งอาจใช้วิธีดึงราคาหน้ากระดานเทรดที่เป็นการแลกกับเงินบาท หรือใช้วิธีเฉลี่ยราคาของทุกกระดานเทรด หรือใช้วิธีประกาศราคากลาง ยังคงเป็นไปได้หมดครับ
เมื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ เท่ากับนาย C ก็ยังคำนวณไม่ได้ครับว่า 10 ETH มีมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อยังคำนวณไม่ได้ ก็ยังหักภาษีไม่ได้ครับ
เพื่อความชัดเจนของกรณีนี้ ผมขอยกตัวอย่างกรณีเสือดำแล้วกันน่ะครับ
กรณีเสือดำ ผู้บังคับใช้กฎหมายอ้าง (ระบุ) ว่า มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 บัญญัติว่า “สัตว์ หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน … และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
ปรากฏว่ากฎหมายประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2557 แต่รัฐมนตรียังไม่ประกาศให้เสือดำเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามมาตรา 3 ของกฎหมายฉบับนี้ ผลคือ เสือดำจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ เป็นตัวอย่างว่ากฎหมายใช้บังคับแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์ ก็ยังใช้ไม่ได้ครับ
กรณีของ Cryptocurrency ก็เช่นกันครับ กฎหมายให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 แต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์ตีราคา คนหักก็ยังคงหักไม่ได้อยู่ดีล่ะครับ