เมื่อทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่อยู่มากว่า 100 ปีสามารถนำมาอธิบายมูลค่าของ Bitcoin ได้
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!อันนี้เป็นบทความแรกๆที่ผมไล่อ่านแล้วรู้สึกมั่นใจในตัวระบบขึ้น ยาวนิดนึงแปลจนเหนื่อย55 แต่นอกจากจะตอบคำถามที่คนส่วนใหญ่สงสัยแล้ว ถึงเริ่มจาก 0 อ่านจบ ก็น่าจะเข้าใจการทำงานของ Bitcoin ขึ้นมาได้ในระดับนึงเลย
บทความนี้เอา ทฤษฏีของ Ludwig von Mises นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียที่ได้เขียนถึง ทฤษฏี การกำเนิดของเงินไว้เมื่อปี 1912 มาอธิบายจุดกำเนิด และที่มาของมูลค่าของ Bitcoin
—————————————————
อะไรทำให้ Bitcoin มีมูลค่า
สำหรับคนที่คิดว่าทฤษฏีของ Mises ขัดกับ Bitcoin อยากให้ลองคิดดูอีกครั้ง
เขียนโดย
Jeffrey A. Tucker – fee.org Foundation for Economic Education
August 27, 2014
คนจำนวนมากที่ไม่เคยใช้ Bitcoin พากันสงสัยว่าทำไม ค่าเงินมายากลในอินเตอร์เน็ทนี้ถึงมีค่าขึ้นมาได้ทั้งๆที่มันเป็นแค่สิ่งที่ใครก็ไม่รู้ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาลอยๆ
Goldbugs หรือกลุ่มคนที่สนับสนุนทองคำ พยายามผลักดันแนวคิดมาหลายสิบปีว่า เงินจะน่าเชื่อถือต่อเมื่อถูกรองรับด้วยสิ่งที่จริง จับต้องได้และมีค่าในตัวมันเอง
Bitcoin ไม่เข้าข่ายเลยงั้น?
หรือว่าจริงๆแล้วมันอาจจะเข้าข่ายก็ได้ถ้าเรามองลงไปลึกๆ
Bitcoin เกิดขึ้นในเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว (บทความนี้เขียนเมื่อปี 2014) ในฐานะสิ่งที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งของเงินที่ออกและควบคุมโดยรัฐบาล White paper ของ Satoshi Nakomoto ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปี 2008 โครงร่างของwhite paperรวมไปถึงภาษาที่ใช้เห็นได้อย่างนึงว่า กลุ่มเป้าหมายคือสำหรับผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักรัฐศาสตร์ White paperฉบับนี้ถูกส่งต่อในวงแคบๆ คนที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางอ่านแล้วก็เต็มไปด้วยความสับสน
แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยมีใครสนใจในตอนแรก ประวัติศาสตร์ก็ถูกสร้างขึ้นแล้ว สองเดือนหลังจากwhite paperออกมา คนที่สนใจพอก็ได้เห็นการกำเนิดของ “Genesis Block” หรือ Bitcoin block แรกที่ถูกสร้างขึ้นบนคอนเซป Distributed Ledger บัญชีที่กระจายไปอยู่ทุกที่ ซึ่ง Distributed Ledger นี้จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ตามในโลกที่มีคนต้องการจะเก็บมันไว้
6 ปีผ่านไปจากวันนั้น bitcoin 1 เหรียญมีราคาถึง $500 และเคยขึ้นไปสูงสุดถึง $1,200 สถานที่หลายพันแห่งทั้ง online และ offline รับ bitcoin เป็นทางเลือกของการจ่ายเงิน ระบบการจ่ายเงิน Bitcoin ถูกใช้งานในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็เริ่มมีการใช้งานในระดับนึง สถาบันระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ธนาคารโลก (World Bank) รวมไปถึงบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ต่างให้ความสนใจ
[ ตรงนี้คนแปลขอเสริมไว้นิดนึงฮะ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามใกล้ชิด อ่านย่อหน้าก่อนหน้าอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะข่าวพวกนี้สื่อกระแสหลักไม่ได้พูดถึงกันซักเท่าไหร่ เฉพาะในปีนี้ สภาสูงของรัฐ Arizona พึ่งออกกฏหมายให้สามารถจ่ายภาษีเป็น Bitcoinได้ ศาลของรัฐ California ก็มีการอนุญาตให้จ่ายเงินประกันตัวเป็น Bitcoinได้ด้วย / ในขณะเดียวกัน สมาชิก EU 21 ประเทศรวมกลุ่มจัดตั้ง European Blockchain Partnership และจัดสรรเงินเริ่มทุน 2 พันล้านบาท และจะเพิ่มอีก 1หมื่นล้านบาทในช่วง 2ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่ Christine Lagarde ประธาน IMF ก็พูดไว้ว่า มันอาจจะไม่ใช่เรื่องฉลาดที่จะมองข้าม Cryptocurrency / ในฝั่งเอกชนเฉพาะในไทยเอง ธนาคารไทยพานิชย์ได้เข้าไปลงทุนใน Ripple ในขณะที่ ธนาคารกรุงศรีลงทุนใน Omise ]
ผู้ที่เชื่อใน Bitcoin ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกพูดว่ามูลค่าของ Bitcoin จะสูงขึ้นไปอีกในอนาคต ระบบของ Bitcoinได้เปรียบระบบการเงินแบบเดิมในหลายๆด้าน Bitcoinสามารถส่งจากคนนึงไปยังอีกคนนึงได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง ค่าธรรมเนียมราคาถูก มีการเพิ่มของsupplyที่ชัดเจน ที่สำคัญ Bitcoin มีคุณลักษณะคือคงทนไม่เสื่อมสภาพ แต่ละเหรียญมีค่าเท่ากันแลกเปลี่ยนได้ง่าย สามารถแบ่งจ่ายเป็นหน่วยย่อยได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นเงินแลกเปลี่ยน ผลที่ตามมาคือมันสร้างระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งระบบการยืนยันตัวตน หรือฝากความเชื่อใจไว้ในมือคนอื่น ที่สำคัญคือไม่ต้องพึ่งรัฐบาลหรือธนาคารอีกต่อไป ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นเงินสำหรับยุคดิจิตอล
Hard lessons for hard money
สำหรับคนที่เรียนมาตามหลักสูตรดั้งเดิม จะยึดติดกับ Hard Money หรือค่าเงินที่จับต้องได้จริงเช่นเงินเหรียญ หรือทองคำแท่ง ระบบของ Bitcoin ดูจะฝืนความรู้สึกเป็นอย่างมาก ตัวผมเองใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการอ่านเกี่ยวกับ Bitcoin กว่าจะพอมีความเข้าใจในภาพรวมของระบบ ไอเดียโดยรวมมันดูเป็นไปได้ยากมากคือเราไม่ควรที่จะสามารถสร้างเงินจากสิ่งว่างเปล่าขึ้นมาได้ แถมดันสร้างขึ้นมาจากโค้ดคอมพิวเตอร์อีกยิ่งฟังดูไม่น่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ งั้นทำไมมันถึงมีมูลค่าขึ้นมาได้ คิดแล้วก็ทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะพลาดอะไรไปซักอย่าง เงินไม่ควรจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิธีนี้
ปัญหาทั้งหมดนี้เริ่มต้นจาก “ความคาดหวังของตัวเราเอง” เราควรจะตั้งใจอ่านสิ่งที่ Ludwig von Mises เขียนถึงทฤษฏีการกำเนิดของเงิน “Theory of Money’s Origin” และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ “เขียนจริงๆ” ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไปเองว่าเค้าเขียน
ปี 1912 Mises เขียน The Theory of Money and Credit ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในยุโรปเมื่อถูกตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันและถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา Mises เขียนครอบคลุมทุกด้านของเงินในหนังสือเล่มนี้ แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญอย่างมากคือการที่ Mises แกะรอย “มูลค่า” และ “ราคา” ของเงิน กลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่มาของเงิน ก่อนที่เราจะเรียกมันว่าเงินด้วยซ้ำ สิ่งที่เค้าทำคือการอธิบายว่าทำไมเงินถึงมีมูลค่าขึ้นมาได้ ทำไมมันถึงถูกยอมรับและสามารถเอาไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการได้ Mises เรียกกระบวนการนี้ว่า “regression theorem” ซึ่งถ้าอ่านตามที่ Mises เขียนจะพบว่า Bitcoin ตรงตามทฤษฏีนี้ทุกข้อ
อาจารย์ของ Mises หรือ Carl Menger เป็นผู้ที่อธิบายถึงจุดกำเนิดของเงินว่าไม่ได้เกิดจากรัฐบาล หรือการยอมรับของสังคม แต่เกิดขึ้นจากตลาดผ่านการค้า เงินตราถือกำเนิดขึ้นมาจากการที่พ่อค้าต้องการหาสินค้าในอุดมคติเพื่อเป็นตัวกลางในแลกเปลี่ยน แทนที่จะต้องมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันไปมาโดยตรง (barter) ผู้คนเลือกที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าที่เหมาะสมกับการแลกเปลี่ยนในภายหลังมากกว่าสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไปสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็มีสถานะเป็นเงินขึ้นมา
Mises พูดว่าสินค้าจะกลายเป็นเงินขึ้นมาได้ ต้องมีค่าสามารถใช้งานได้ด้วยตัวมันเองก่อน
“ทฤษฏีมูลค่าของเงินนั้นมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่จุดเริ่มต้นนั้นมูลค่าของมันมีอยู่อย่างเดียวคือมูลค่าในตัวของมันเอง เวลาที่เรามองย้อนกลับไปไกลออกไปเรื่อยๆจนถึงจุดเริ่มต้นเราจะพบว่าสินค้าชิ้นนั้นไม่ได้มีมูลค่าในฐานะตัวเงินเลย ตัวสินค้าชิ้นนั้นมีค่าอย่างเดียวคือค่าของตัวมันเองว่าสามารถใช้ทำอะไรได้ ก่อนที่เงินนั้นจะถูกนำไปซื้่อสินค้าในตลาด โดยที่ไม่ได้ซื้อเพื่อการกินใช้ในทันทีแต่ใช้เพื่อเก็บมูลค่านั้นไว้ซื้อสิ่งอื่นต่อในอนาคต สินค้าชิ้นนั้นจะมีค่าเท่ากับคุณค่าในการใช้งานของตัวมันเองโดยตรงเท่านั้น”
คำอธิบายของ Mises ได้แก้โจทย์ที่นักเศรษฐศาสตร์ข้องใจมาเป็นเวลานาน ถึงมันเป็นการอธิบายโดยการคาดคะเนจากประวัติศาสตร์แต่มันก็ฟังดูถูกต้องสมบูรณ์แบบ เกลือจะเป็นเงินได้มั๊ยถ้ามันเป็นไม่สามารถใช้ทำอะไรได้ หนังบีเวอร์จะมีค่าในฐานะเงินได้มั๊ยถ้ามันไม่สามารถเอามาทำเป็นเสื้อผ้าได้ แร่เงินหรือทองคำจะเป็นเงินได้ยังไงถ้ามันไม่มีค่าในตัวเองในฐานะสินค้าชิ้นนึงมาก่อน คำถามพวกนี้เมื่อตอบจากมุมประวัติศาสตร์การเงินคือ “ไม่ได้” ค่าของเงินก่อนที่สินค้าชิ้นนั้นจะกลายเป็นเงินเริ่มต้นจากคุณค่าของตัวมันเองในการใช้งานจริงเท่านั้น นี่คือคำอธิบายที่ถูกแสดงให้เห็นผ่านประวัติศาสตร์ด้วย Regression Theorem ของ Mises
Bitcoin’s use value
เมื่อดูผ่านๆ Bitcoin เหมือนจะเป็นข้อยกเว้น Bitcoinไม่สามารถใช้งานอะไรได้เลยนอกจากเป็นเงินเท่านั้น ไม่ใช่เพชรพลอย ไม่สามารถเอามาผลิตเป็นอะไรได้ กินก็ไม่ได้หรือแม้แต่เอามาประดับตกแต่งก็ยังไม่ได้ มูลค่าของมันเกิดจากแค่การเป็นหน่วยนึงในการแลกเปลี่ยนทางอ้อมเท่านั้น แต่ถึงอย่างงั้น Bitcoin ก็ยังเป็นเงิน มันถูกใช้งานทุกวัน มีการเปลี่ยนมืออยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าปลอมๆ แต่ทุกคนสามารถเช็คดูได้ด้วยตัวเองผ่าน Block Explorer ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องคิดว่า หรือว่า Mises จะคิดผิด หรือเราควรจะทิ้งทฤษฏีทั้งหมดไป หรือว่าทฤษฏีของMisesถูกต้องสำหรับในอดีต แต่ในโลกยุคดิจิตอลไม่สามารถใช้ได้อีกแล้ว หรือจริงๆแล้วทฤษฏีRegressionเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า Bitcoin ไม่ได้มีค่าอะไรเลย เป็นแค่ความบ้าคลังอันว่างเปล่าชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้ว Bitcoin ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในตัวมันเอง
แต่จริงๆแล้วไม่ต้องพึ่งทฤษฏีทางการเงินอะไรทั้งนั้นก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไม Bitcoin ถึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล คนจำนวนมากรวมถึงตัวผมเองมีความรู้สึกไม่สบายใจกับเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้นี้ ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถพิมพ์public keyหรือQR Codeลงในกระดาษคุณก็ยังไม่สบายใจอยู่ดี ทำยังถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องนี้ติดอยู่ในใจผมเป็นปีๆ ผมสงสัยกับมันมาก ผมคิดว่าทฤษฏีของ Mises ใช้ได้แต่กับโลกยุคก่อน ผมไปตามอ่านคนพูดในอินเตอร์เน็ทว่าราคาของ Bitcoin จะตกลงเหลือ 0 หรือว่าผู้คนมีความต้องการที่จะถืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ US Dollars จนdemandในฐานะการใช้งานจริงที่ Mises พูดถึงไม่จำเป็นเลย
เมื่อเวลาผ่านไปผมได้อ่านงานของ Konrad Graf / Peter Surda และ Daniel Krawisz สุดท้ายผมก็พบคำตอบ Bitcoin เป็นทั้งระบบการจ่ายเงิน และเป็นเงินด้วย สิ่งที่ทำให้ Bitcoin มีค่าในตัวมันเองขึ้นมาคือการเป็นระบบการจ่ายเงินนั่นเอง ตัว Bitcoin ที่เราใช้แลกเปลี่ยนกันเป็นแค่ค่าค่านึงเท่านั้นที่ถูกใช้แทนหน่วยเงิน ซึ่งการที่มันเป็นทั้งระบบการจ่ายเงิน และเป็นตัวเงินด้วยเป็นสิ่งที่แปลกมาก ซึ่งนั่นทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ เราชินกับการที่ระบบการจ่ายเงิน กับตัวเงินเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกัน ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจากการที่เราไม่เคยมีเทคโลยีที่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้มาก่อน เราเคยมีเงินดอลลาร์ และเราก็มีบัตรเครดิต เรามีเงินยูโรและเราก็มี PayPal เรามีเงินเยนและเราก็มีบริการโอนเงิน ซึ่งในกรณีทั้งหมดการโอนเงินหากันต้องอาศัยบุคคลที่สามมาให้บริการ ในระบบแบบเดิมเราต้องเลือกที่จะเชื่อในผู้ให้บริการว่าเงินของเราจะถูกส่งไปถึงผู้รับได้จริง
ซึ่งช่องว่างระหว่างเงินและระบบการจ่ายเงินนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลายกเว้นในกรณีที่เรายืนอยู่ในที่ที่เดียวกันกับคนที่ต้องการจะส่งเงินให้ ถ้าคุณต้องการจ่ายเงินให้คนส่งพิซซ่าคุณสามารถจ่ายได้เลยไม่ต้องพึ่งคนที่สาม แต่ถ้าเราไม่อยู่ที่เดียวกันเราก็ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในบุคคลที่สามในการดำเนินการให้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ Visa ธนาคารต่างๆเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต ปัญหาของระบบนี้คือระบบการเงินในปัจจุบันไม่ได้ให้บริการกับคนทุกคนในโลก จริงๆแล้วคนจำนวนมากในโลกนี้ยังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ซึ่งก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้โลกเต็มไปด้วยคนจน กลุ่มคนที่ไม่สามารถเปิดบัญชีได้ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากซื้อขายแลกเปลี่ยนในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่อาศัย ไม่สามารถทำการค้ากับคนที่เหลือบนโลกได้
ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลหลักถ้าไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดในการพัฒนา Bitcoin ขึ้นมา Protocol ของ Bitcoin รวมคุณสมบัติของเงินเข้ากับระบบการจ่ายเงิน สองสิ่งนี้หลอมรวมเข้าด้วยกันด้วยโครงสร้างของ code การเชื่อมต่อเข้าด้วยกันนี้ทำให้ Bitcoin แตกต่างจากค่าเงินของทุกประเทศในโลก จริงๆแล้วแตกต่างจากค่าเงินทุกชนิดที่เคยเกิดขึ้นมาในโลกด้วย
ลองดูคำพูดของ Nakamoto ที่พูดไว้ในบทคัดย่อของ Bitcoin White paper เราจะเห็นถึงความสำคัญของระบบการจ่ายเงิน ในระบบการเงินใหม่นี้
“เงินอิเล็คโทรนิคแบบ peer-to-peer จะช่วยให้การส่งเงินจากคนไปอีกคนนึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ลายเซ็นดิจิตอลช่วยให้ระบบนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ระบบจะยังทำงานไม่ได้ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหา double-spending ได้ เราขอเสนอทางออกของปัญหา double spending ผ่านเครือข่าย peer-to-peer ดังนี้ บันทึกเวลาที่transactionเกิดขึ้นแล้วhashข้อมูลรวมกับ proof-of-work ลงบน chain ซึ่งจะทำให้ข้อมูลไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ถ้าไม่มีการทำ proof-of-work ใหม่ทั้งหมด chain ที่ยาวที่สุดไม่ได้แค่เป็นสิ่งพิสูจน์ว่า ข้อมูลในchainนั้นมีการบันทึกต่อเนื่อง แต่มันพิสูจน์ด้วยว่ามาจาก pool ที่มี พลังประมวลผลมากที่สุด ตราบใดที่พลังประมวลผลหลักมาจาก node ที่ไม่ได้ร่วมมือกันเพื่อโจมตีเครือข่าย มันก็จะสร้าง chain ที่ยาวที่สุดต่อไปเรื่อยๆจนผู้ที่ต้องการโจมตีไม่สามารถตามได้ทัน ตัวเครือข่ายเองวางระบบไว้อย่างเรียบง่าย ข้อความจะถูกส่งออกไปเท่าที่ทำได้ แต่ละnodeสามารถเข้าร่วมหรือออกจากเครือข่ายเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะสิ่งที่nodeมีหน้าที่ต้องทำคือเลือกยอมรับ chain ที่มีข้อมูลยาวที่สุดเท่านั้น”
สิ่งที่สำคัญของบทคัดย่อที่ Satoshi เขียนคือไม่มีการพูดถึงหน่วยเงินเลย มีพูดถึงแต่ปัญหา double-spending นวัตกรรมของ Bitcoin ตามคำพูดของผู้ที่สร้างมันขึ้นมาคือระบบการจ่ายเงิน ไม่ใช่ตัว Bitcoin ตัว Bitcoinหรือหน่วยเงินนี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงมูลค่าเครือข่าย เป็นเหมือนกับเครื่องมือทางบัญชีที่บันทึกและส่งต่อมูลค่าของเครือข่ายข้ามผ่านพื้นที่และกาลเวลาเท่านั้น
เครือข่ายนี้ถูกเรียกว่า Blockchain มันคือบัญชีที่ถูกเก็บไว้ใน cloud เครือข่ายที่กระจายไปอยู่ทุกที่ มันสามารถที่จะถูกตรวจสอบดูด้วยใครก็ได้ตลอดเวลา มันถูกจับตาดูอยู่เสมอผ่านผู้ใช้งานจำนวนมาก มันช่วยให้เราสามารถส่งข้อมูลดิจิตอลจากคนนึงไปอีกคนนึงได้ทุกที่ในโลกได้อย่างปลอดภัยและไม่สามารถโกงด้วยการส่งซ้ำได้ ข้อมูลที่ส่งไปแล้วจะถูกบันทึกไว้อย่างถาวรในรูปแบบดิจิตอลคล้ายกับการที่เรามีโฉนดที่ดินซึ่งเมื่อเราโอนที่ดินไปแล้วเราไม่สามารถจะโอนซ้ำได้อีก นี่คือสิ่งที่ Satoshi เรียกว่า ลายเซ็นดิจิตอล สิ่งที่เค้าสร้างขึ้นหรือ สมุดบัญชีบนcloudทำให้เราสามารถเช็คได้ว่าใครเป็นเจ้าของสิทธิในของชิ้นนั้นได้โดยที่เราไม่ต้องพึ่งความเชื่อในตัวบุคคลที่สามเลย
ปัญหาที่ Blockchain แก้ได้ถูกเรียกว่า ปัญหาของนายพลยุค Byzantine (2 พันปีที่แล้ว) ปัญหาคือเราจะสามารถสั่งการได้ยังไงถ้าแต่ละคนอยู่กันคนละพื้นที่ และแต่ละพื้นที่ก็เต็มไปด้วยคนที่ไม่ได้หวังดีกับเรา เนื่องจากนายพลแต่ละคนอยู่ห่างกันไกลจึงต้องมีการพึ่งคนส่งสาร ซึ่งต้องใช้เวลาและอาศัยความเชื่อใจ นายพลแต่ละคนไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าจริงๆแล้วนายพลคนอื่นได้รับข้อมูลครบจริงหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความถูกต้องของข้อมูลเลย
การที่เราเอาบัญชีกระจายไปไว้ในinternetช่วยให้เราแก้ปัญหานี้ได้ บัญชีนี้จะบันทึกจำนวน เวลา public address ของทุกๆ transaction ข้อมูลที่ถูกกระจายไว้ทั่วโลกนี้มีการอัพเดทตลอดเวลา ความมั่นคงของระบบบัญชีนี้ทำให้หน่วยเงิน Bitcoin เป็นเหมือนกับโฉนดการถือครองทรัพย์สินแบบดิจิตอล เมื่อเข้าใจเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า มูลค่าของ Bitcoin มาจากการที่มันผูกติดกับระบบเครือข่ายการจ่ายเงิน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ Mises พูดถึงเวลาเค้าพูดถึงมูลค่าแท้จริงในด้านการใช้งาน มูลค่าของมันไม่ได้อยู่ในหน่วยเงิน แต่มันถูกฝังอยู่ในนวัตกรรมใหม่อย่างชาญฉลาดในระบบการจ่ายเงินที่ตัว Bitcoin อาศัยอยู่ ถ้าเราบังเอิญสามารถแยกตัว Bitcoin ออกมาจากเครือข่ายการจ่ายเงิน(แต่จริงๆแล้วมันไม่สามารถทำได้) มูลค่าของหน่วยเงิน Bitcoin นั้นจะเท่ากับ 0 ทันที
Proof of concept
เพื่อที่จะเข้าใจเพิ่มว่าทฤษฏีของ Mises เข้ากับ Bitcoin ยังไง เราต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ Cryptocurrency วันแรกที่ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้น (9 มกราคม 2009) Bitcoin มีค่าเป็น 0 และยังคงเป็น 0 ในช่วงเวลา 10 เดือนหลังจากนั้น ถึงแม้ว่าจะมี transaction เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แต่มูลค่าของมันก็ยังเท่ากับ 0 อยู่ดี
ราคาแรกของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นคือ $1 ซื้อได้ 1,309.03 Bitcoin(ซึ่งสมัยนั้นก็ถูกมองว่าเกินราคาไปมาก) หรือราคาแรกของ Bitcoin คือ 2 สตางค์เท่านั้น ถ้าซื้อ 3 พันบาทในวันนั้น มูลค่าในวันนี้(ปี2014) จะเท่ากับ หนึ่งหมื่นหกพันล้านบาท
คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 มกราคม ถึง 5 ตุลาคม ปี 2009 ซึ่งทำให้ Bitcoin กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าขึ้นมา คำตอบคือ trader คนที่สนใจ นักธุรกิจได้เข้ามาลองใช้ Blockchain คนกลุ่มนี้ที่ได้ลองใช้จริงและพบคำตอบที่ว่า ปัญหา Double-spending แก้ได้จริงหรือไม่ ระบบที่พึ่งพลังประมวลผลจากอาสาสมัครเพียงพอรึเปล่าที่จะยืนยัน transaction รางวัลทีเครือข่าย Bitcoin จ่ายออกไปเหมาะสมไหมในฐานะค่าบริการการใช้ระบบ และที่สำคัญที่สุด ระบบใหม่นี้ทำสิ่งที่ไม่ความจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้จริงรึเปล่า นั่นก็คือสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามผ่านพื้นที่และระยะเวลาโดยที่ไม่ต้องใช้บริการบุคคลที่สาม แต่ใช้แค่ peer-to-peer
Bitcoin ใช้เวลา 10 เดือนในการสร้างความมั่นใจ และใช้เวลาอีก 18 เดือนหลังจากนั้น กว่า 1 Bitcoin จะมีค่าเท่ากับ $1 นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่เราต้องเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อพยายามใช้ ทฤษฏีการกำเนิดของเงินของ Mises มาอธิบาย Bitcoinไม่ได้มีค่าในฐานะเงินมาตั้งแต่แรก ในตอนเริ่มต้นมันเป็นแค่หน่วยทางบัญชีเท่านั้น แต่ตัวบัญชีเองนั้นมีคุณค่าในด้านการใช้งานจริงขึ้นมา(use value) ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ Bitcoin ตรงตามเงื่อนไขทฤษฏีการกำเนิดเงินของ Mises ทุกประการ
Final accounting
สรุปอีกครั้ง ถ้ามีใครยังพูดอยู่ว่า Bitcoin เกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าในอากาศ และมันไม่สามารถเป็นเงินได้เพราะมันไม่เคยมีฐานะในฐานะสินค้าจริงมาก่อน ไม่ว่าคนที่พูดประโยคนี้จะเป็นมือสมัครเล่นหรือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ ให้ตอบเค้าไปด้วย เหตุผลหลัก 2 ข้อ ข้อแรก Bitcoin ไม่ใช่ค่าเงินที่ลอยอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่มันเป็นหน่วยนับมูลค่าหน่วยนึงที่อยู่บนระบบการจ่ายเงินชนิดใหม่ สองเครือข่ายการจ่ายเงินนี้ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมตัว Bitcoin เข้าไปด้วย มีมูลค่าขึ้นมาด้วยการที่มีตลาดซื้อขายให้มูลค่าของมันมาอย่างต่อเนื่อง
ในอีกมุมนึง ถ้าเอาคุณสมบัติทางเทคนิคของ Bitcoin เข้ามาคิดด้วย คุณจะพบว่า Bitcoin มีจุดกำเนิดเหมือนกับค่าเงินอื่นๆ ตั้งแต่เกลือไปจนถึงทองคำ คือ ผู้คนพบว่าระบบการจ่ายเงินนั้นมีประโยชน์ หน่วยเงินในระบบก็สามารถเคลื่อนย้าย แบ่งย่อย แต่ละหน่วยมีค่าเท่ากัน คงทน และมีอยู่อย่างจำกัด
นั่นคือสาเหตุที่เงินชนิดใหม่นี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้ เงินชนิดนี้รวมคุณสมบัติที่สำคัญต่อการเป็นเงินจากเงินทุกชนิดที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ และเงินชนิดใหม่นี้ยังไม่มีน้ำหนัก ไม่กินที่ สามารถแลกเปลี่ยนไปได้ทุกที่ในโลกโดยที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางอีกต่อไป
แต่อย่าพึ่งลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดไป Blockchain ไม่ได้ต้องเป็นเรื่องของเงินเท่านั้น แต่มันสามารถใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัย การยืนยัน และการรับประกันความถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดได้อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการทำสัญญา การแลกเปลี่ยนทุกชนิดระหว่างคนสองคน ลองนึกถึงโลกที่ไม่มีคนกลาง รวมถึงหนึ่งในตัวกลางที่อันตรายที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมาอย่างรัฐ ลองจินตนาการถึงโลกใหม่นั้น แล้วจะเริ่มเข้าใจถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีนี้
ถ้าวันนี้ Misesได้รับรู้คงจะตื่นเต้นและตกใจกับ Bitcoin แต่เค้าก็คงจะภูมิใจที่ทฤษฏีทางการเงินของเค้าซึ่งมีอายุเกินกว่า 100 ปีแล้ว ยังคงถูกยืนยันว่าถูกต้องเป็นจริง ต่อชีวิตใหม่ในศตวรรษที่ 21
——————–
ยาวไปขี้เกียจอ่าน:
ทฤษฏีของ Ludwig von Mises บอกไว้ว่า ของชิ้นนึงจะต้องสามารถใช้งานได้มีค่าในตัวเองก่อน และเมื่อมันง่ายในการเก็บรักษา สะดวกในการใช้แลกเปลี่ยน มันก็จะชนะสินค้าอย่างอื่นและมีค่าในฐานะการเป็นเงินขึ้นมา ตัว Bitcoin เองไม่มีค่าอะไรเลย แต่สิ่งที่มีค่าคือ ระบบการจ่ายเงินของเครือข่ายBitcoin ที่ช่วยให้เราสามารถส่ง Bitcoin หากันได้อย่างสะดวกปลอดภัยผ่านอินเตอร์เน็ท ซึ่งการที่ทำได้นั้น Satoshi Nakamoto ได้แก้ปัญหา double-spending ผ่าน peer-to-peer ซึ่งไม่เคยมีใครแก้ได้มาก่อน นอกจากนี้ Bitcoin ยังไม่ได้ถูกเสกขึ้นมาและมีการตั้งราคาบังคับให้คนซื้อ แต่ตลาดค่อยๆให้ค่ามันขึ้นมาเองโดยเริ่มจาก 0 เป็นเวลาถึง 10 เดือน และใช้เวลามากกว่า 2 ปี กว่าตลาดจะให้มูลค่า Bitcoin เท่ากับ $1 ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่า Bitcoin ใน ฐานะเงิน ตรงกับทฤษฏีที่ Ludwig von Mises พูดไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
https://fee.org/articles/what-gave-bitcoin-its-value/
แปลโดย Trakarn Buris