fbpx

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 3 เงินโลหะ Part 2

สุดท้ายแล้วผู้ที่ครอบครองอำนาจทางการเงินก็มีอิทธิพลต่อเงินที่เราเก็บไว้เสมอๆนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรสนใจ Bitcoin
ผลงานแปลนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างเพจ Blockchain Review และ คุณพิริยะ สัมพันธารักษณ์ MD ของ Chaloke dotcom ยังไงฝากติดตามด้วยนะครับ

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 3 เงินโลหะ Part 2

4 Jun 2019

ยุคทองและการเสื่อมสลายของโรมัน

เหรียญเดนาเรียส (denarius) เป็นเหรียญเงินที่ใช้ซื้อขายในยุคสมัยของสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งประกอบด้วยแร่เงิน 3.9 กรัม ขณะที่ทองคำกลายเป็นเงินที่มีมูลค่าที่สุดในอารยธรรมและแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ จูเลียส ซีซาร์ ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งสาธารณรัฐโรมัน ได้สร้างเหรียญออเรียส (aureus) ที่บรรจุทองคำประมาณ 8 กรัมขึ้น และ ได้รับการยอมรับทั่วยุโรปและเขตเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาขอบเขตความสามารถเฉพาะทาง และ การค้าขึ้นในโลกยุคเก่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจนี้คงอยู่ถึง 75 ปี แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง จากเหตุการลอบสังหาร จูเลียส ซีซาร์ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสาธาณรัฐ เป็นจักรวรรดิภายใต้ทายาทผู้สืบทอดอำนาจนาม เอากุสตุส (Augustus) ความมั่นคงนี้ก็ยังดำรงอยู่ได้จนมาถึงยุคสมัยของจักรพรรดิแนโร (Nero) ผู้ฉาวโฉด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มธรรมเนียมการ “ตัดเล็มเหรียญ” ของชาวโรมัน กล่าวคือ เมื่อจักรพรรดิทำการเก็บเหรียญจากประชาชน และนำมันมาผลิตเป็นเหรียญใหม่ที่มีปริมาณทองคำหรือเงินที่น้อยลง

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

ตราบใดที่จักรวรรดิโรมันยังสามารถยึดครองดินแดนใหม่ ๆ ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สิน ทหารและจักรพรรดิก็จะยังสามารถเพลิดเพลินกับการใช้เงินที่ปล้นมา จักรพรรดิยังซื้อความนิยมจากประชาชนด้วยการออกคำสั่งลดราคาธัญพืชและวัตถุดิบอื่น ๆ ให้ต่ำลงกว่าราคาที่แท้จริงหรือบางครั้งก็ให้ฟรี แทนที่ชาวนาจะทำงานเลี้ยงชีพในชนบทแต่พวกเขากลับลาออกจากฟาร์มเพื่อเข้ามาทำงานในกรุงโรม เพราะกรุงโรมเป็นที่ที่พวกเขาสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปโลกยุคเก่ากลับไม่ใช่ดินแดนที่รุ่งเรืองอีกต่อไป เพราะการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยและด้วยจำนวนทหารที่เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่รวมทั้งจำนวนประชากรที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่อาศัยอยู่ภายใต้การดูแลของจักรพรรดิมีมากขึ้น และ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้จักรพรรดิแนโร ผู้ซึ่งปกครองจักรวรรดิ์โรมันในช่วง 54 ถึง 68 ปีก่อนคริสตศักราช ได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งการแก้ปัญหาครั้งนี้คล้ายคลึงกับทฤษฎีของเคนส์ที่ใช้แก้ปัญหากับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั่นก็คือ การลดค่าเงิน เพราะมันช่วยลดมูลค่าที่แท้จริงของอัตราจ้างแรงงาน, ลดภาระของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้าควบคุม, และเป็นการสร้างเงินเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายอื่นๆของรัฐบาล

ปริมาณทองคำในเหรียญออเรียสลดลงจาก 8 กรัม เป็น 7.2 กรัม ขณะที่ปริมาณแร่เงินของเหรียญเดนาเรียสลดลงจาก 3.9 กรัม เหลือเพียง 3.41 กรัม แม้การกระทำเช่นนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ชั่วคราว แต่มันก็ทำให้เกิดความโกรธเคืองของประชาชนส่วนมาก ตามมาด้วยการควบคุมราคาสินค้า นำมาสู่การลดมูลค่าเหรียญ ลงเอยด้วยการเพิ่มราคาสินค้า เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเช่นนี้เรื่อยไปเป็นธรรมดาเฉกเช่นการหมุนเวียนของฤดูกาลทั้งสี่5

ภายใต้การปกครองของคาราคัลลา (ค.ศ. 211-217) ปริมาณทองคำที่ผสมลงในเหรียญลดลงเหลือเพียง 6.5 กรัมและภายใต้การปกครองของไดโอคลิเชียน (ค.ศ. 284–305) ก็ลดลงอีกจนเหลือทองคำเพียง 5.5 กรัม ก่อนที่กษัตริย์ไดโอคลิเชียนจะประกาศให้ใช้เหรียญประเภทใหม่ที่เรียกว่า โซลิดัส (solidus) ที่มีทองคำผสมอยู่เพียง 4.5 กรัมเท่านั้น ในยุคสมัยของไดโอคลีเชียน เหรียญเดนาเรียสนั้นแทบไม่เหลือเนื้อโลหะเงินที่หุ้มแกนของเหรียญที่เป็นทองแดงเอาไว้แล้ว และผิวเงินบางๆที่หลงเหลืออยู่ก็ค่อยๆสลายไปอย่างรวดเร็วผ่านการเสียดสีกระทบกระทั่งจากการใช้งาน ทำให้เดนาเรียสจำต้องจบหน้าที่ในการเป็น ‘เหรียญเงิน’ ไปโดยปริยาย และ เมื่อลัทธินิยมเงินเฟ้อ (inflationism) ทวีความรุนแรงขึ้นในศตวรรษที่ 3 และ 4 เหล่าจักรพรรดิทั้งหลายจึงพยายามปิดซ่อนเงินเฟ้อของตนผ่านวิธีการผิดๆ ด้วยการออกมาตรการควบคุมราคาของสินค้าพื้นฐาน ในขณะที่ตลาดพยายามจะปรับราคาของสินค้าเหล่านี้ให้สูงขึ้นเพื่อตอบสนองกับการลดค่าลงของเงิน แต่เพดานราคาก็ขัดขวางการปรับราคาสินค้า ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่สามารถทำกำไรจากการผลิตสินค้าได้ นำมาสู่การหยุดชะงักของการผลิตเชิงเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติใหม่ที่อนุญาติให้ราคาของสินค้าปรับขึ้นได้อย่างเสรี

เหตุการณ์การล่มสลายของมูลค่าของเงินนี้ นำมาซึ่งการเสื่อมถอยสู่ความตายของจักรวรรดิผ่านกระบวนการที่กินเวลายาวนาน เกิดเป็นวัฏจักรที่อาจดูคุ้นตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัยใหม่: กล่าวคือ การลดปริมาณทองคำในเหรียญ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเหรียญออเรียสลดลง ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินหมุนเวียน เปิดโอกาสให้จักรพรรดิ์สามารถใช้เงินฟุ่มเฟือยได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวล แต่ในที่สุดนั่นก็จะนำมาซึ่งสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่เหล่าจักรพรรดิ์โง่เขลาทั้งหลายก็จะพยายามเยียวยาแก้ไขด้วยการลดค่าเงินลงไปอีก โดยเฟอร์ดินานด์ ลิปซ์ (Ferdinand Lips) ได้เขียนบทสรุปกระบวนการนี้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้อ่านในยุคปัจจุบัน ดังนี้:  

นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ รวมไปเหล่าถึงนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ควรตระหนักไว้ว่า แม้เหล่าจักรพรรดิ์แห่งโรม จะพยายาม “บริหารจัดการ” เศรษฐกิจของพวกเขาอย่างลนลานขนาดไหน พวกเขาก็ทำได้เพียงแต่ซ้ำเติมปัญหาให้แย่ลง แม้จะมีการประกาศใช้กฏหมายว่าด้วยการกำหนดเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย การควบคุมราคาสินค้า และการควบคุมค่าแรง แต่มันก็เปรียบเสมือนการพยายามเอาตัวเข้าขวางกระแสสมุทร จราจล การฉ้อราษฎร์บังหลวง ภาวะไร้กฏหมาย และ ความบ้าคลั่งในการพนันและเก็งกำไรอย่างเสียสติเข้าครอบงำจักรวรรดิ์เหมือนโรคระบาด เมื่อเงินขาดเสถียรภาพและถูกลดค่าลง การเก็งกำไรสินค้าจึงเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดยิ่งกว่าการผลิตสินค้าเสียอีก6

ผลที่ตามมาในระยะยาว นำมาสู่หายนะแก่จักรวรรดิ์โรมัน ถึงแม้ว่าโรมในสมัยก่อนศัตวรรษที่สองจะไม่สามารถจำกัดได้ว่าเป็นสังคมเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีโดยแท้จริง เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของรัฐบาลในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเหรียญออเรียสที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้จักรวรรดิ์โรมันสามารถสร้างตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ พร้อมด้วยการแบ่งแยกแรงงานในการผลิตครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุดที่โลกเคยประสบพบเจอมาอีกด้วย7 ประชาชนในกรุงโรงและหัวเมืองใหญ่ๆ สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของพวกเขาได้ผ่านการค้าขายกับดินแดนที่อยู่ไกลออกไปในจักรวรรดิ์ สิ่งนี้สามารถช่วยอธิบายถึงการเติบโตของความเจริญรุ่งเรื่อง และ เหตุใดเมื่อระบบการแบ่งแยกแรงงานพังทลายลง จักรวรรดิ์จึงต้องพบกับการล่มสลายอันรุนแรง เพราะเมื่ออัตราภาษีสูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อทำให้การควบคุมราคาล้มเหลว เหล่าคนเมืองก็เริ่มทยอยหนีออกไปอาศัยอยู่ตามที่ดินว่างๆ ที่อย่างน้อยการขาดรายได้ของพวกเขาก็หมายความว่าเขาจะไม่ต้องเสียภาษี และ พวกเขายังจะมีโอกาสที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง ส่งผลให้อารายธรรมที่ยิ่งใหญ่ และซับซ้อน ของจักรวรรดิ์โรมัน และ การแบ่งสันปันส่วนของแรงงานทั่วทั้งทวีปยุโรป เริ่มที่จะสลายตัวลงไป ชนรุ่นหลังของกลุ่มคนเหล่านี้ก็กลายเป็นชาวไร่ชาวนาที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ตัดขาดออกจากกัน และในที่สุดก็กล้ายเป็นข้าทาสบริวารของเจ้าเมืองต่างๆ ในเวลาต่อมา

 

จักรวรรดิบิแซนไทน์และเหรียญบีซานต์

ขณะที่จักรวรรดิ์โรมันได้ถึงจุดต่ำสุด ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ์ดิโอคลีเชียน ผู้ซึ่งพระนามได้ถูกผูกโยงเข้ากับเล่ห์เพทุบายทางการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน และ นโยบายทางการเงินไปตลอดกาล อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีหลังจากที่พระองค์ได้สละราชสมบัติ พระเจ้าคอนสแตนตินมหาราชก็ได้ขึ้นมากุมบังเหียนนำพาจักรวรรดิ์กลับสู่เส้นทางแห่งความรุ่งเรือง ผ่านการนโยบายปฏิรูป และ นโยบายการบริหาร ที่มีความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ พระเจ้าคอนสแตนติน ผู้ซึ่งเป็นจักรพรรดิ์ชาวคริสเตียนพระองค์แรก มีพระราชปณิธานที่จะดำรงรักษามูลค่าของเหรียญโซลิดัส ให้มีปริมาณทองคำคงที่ 4.5 กรัม โดยไม่มีการตัดทอนหรือลดค่าเหรียญลงอีกแต่อย่างใด และได้เริ่มทำการผลิตเหรียญโซลิดัสขึ้นเป็นจำนวนมากในปีค.ศ. 312 จากนั้น พระองค์จึงออกเดินทางไปยังดินแดนทางตะวันออก และก่อตั้งเมืองคอนสแตนติโนเปิลขึ้น ณ จุดที่ทวีปเอซีย และ ยุโรปมาบรรจบกัน ก่อให้เกิดเป็นจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก ที่ใช้เหรียญโซลิดัสเป็นสกุลเงิน ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจ, สังคม, และ วัฒนธรรม ของกรุงโรงยังคงเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนพังทลายลงในปีค.ศ. 476 จักรวรรดิ์บิแซนเทียมนั้นคงอยู่รอดต่อไปอีกถึง 1,123 ปี และ เหรียญโซลิดัสก็กลายเป็นเงินที่มีความมั่นคงและมีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

มรดกตกทอดจากการที่พระเจ้าคอนสแตนตินรักษาความมั่นคงของเหรียญโซลิดัสเอาไว้ ส่งผลให้เหรียญโซลิดัส ที่ภายหลังผู้คนรู้จักมันในนามของเหรียญบีซานต์ กลายเป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับและมีการใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก  ขณะที่กรุงโรมลุกเป็นเพลิงภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ์ล้มละลายที่ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างทหารได้เนื่องจากค่าเงินของจักรวรรดิ์ล่มสลาย คอนสแตนติโนเปิลกลับเจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกหลายศัตวรรษ ด้วยนโยบายทางการเงินและงบประมาณแผ่นดินที่มีความรับผิดชอบ ในขณะที่ชนเผ่าแวนดัล และ วิซิกอธ บุกอาละวาดเผาทำลายทั่วกรุงโรม คอนสแตนติโนเปิลกลับรอดพ้นจากการบุกรุก และ เจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกนับศัตวรรษ เฉกเช่นเดียวกับโรม การล่มสลายของคอนสแตนติโนเปิลนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ปกครองจักรวรรดิ์เริ่มลดค่าเงินของตนเองลง โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 9 พระนามโมโนมาคอส (ค.ศ. 1042 – 1055)8 ซึ่งนำมาสู่ความเสื่อมถอยทางการเงิน การจัดการงบประมาณ การทหาร วัฒนธรรม และ จิตวิญญานของจักรวรรดิ์ ที่ลากเอาจักรวรรดิ์ให้ตกต่ำลงผ่านวิกฤติต่างๆ มากมาย และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการยึดครองจากอาณาจักรออตโตมันในปีค.ศ. 1453 

แม้หลังจากที่เหรียญบีซานต์ถูกลดค่าลง และจักรวรรดิ์ของมันล่มสลายไปแล้ว แต่เหรียญบีซานต์ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยการส่งอิทธิพลให้เกิดเงินที่มีความมั่นคงอีกประเภทหนึ่ง ที่ยังคงถูกใช้อย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นสกุลเงินประจำชาติของประเทศใดๆ ก็ตาม เงินดังกล่าวนั้น คือเงินดีนาร์อิสลาม ครั้นเมื่อศาสนาอิสลามเฟื่องฟูในช่วงยุคทองของบิแซนเทียม เงินบิซานต์และเหรียญอื่นๆ ที่มีมูลค่า และ น้ำหนักใกล้เคียงกัน ก็ได้หมุนเวียนใช้งานอยู่ในพื้นที่ที่อิสลามได้แผ่ขยายมาถึงด้วยเช่นกัน โดย เคาะลีฟะฮ์ อับดุลมาลิก บิน มัรวาน แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้กำหนดน้ำหนัก และ มูลค่าของดีนาร์อิสลาม และจารึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของชะฮาดะฮ์ในปีฮ.ศ.77 (ค.ศ. 697) แม้เมื่อเวลาผ่านไป ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ และรัฐอิสลามจำนวนมากกลับล่มสลายลงไป แต่เงินดีนาร์ยังคงหมุนเวียนและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในดินแดนอิสลามต่างๆ โดยยังคงน้ำหนักและขนาดตามข้อกำหนดของเหรียญบีซานต์เอาไว้ดังเดิม โดยมันถูกใช้เป็นเงินสินสอด, ของกำนัล, และในพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ต่างจากกรณีการล่มสลายของจักรวรรดิ์โรมันและบิแซนทีน การล่มสลายของอารยธรรมมุสลิมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของเงิน เนื่องจากพวกเขายังสามารถคงความสมบูรณ์ของเงินของพวกเขาได้มาหลายศตวรรษ เหรียญโซลิดัสที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยจักรพรรดิ์ดิโอคลีเชียนในปีค.ศ.301 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเหรียญบีซานต์ และ ดีนาร์อิสลามในเวลาต่อมา แต่มันก็ยังถูกใช้งานอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นเวลากว่าสิบเจ็ดศัตวรรษที่ผู้คนทั่วทั้งโลกใช้เหรียญดังกล่าวเพื่อการทำธุรกรรม เป็นการตอกย้ำถึงความสามารถในการขายเชิงกาลเวลาของทองคำ

แม้ว่าจักวรรดิจะเสื่อมและล่มสลายไปแล้วแต่เหรียญบีซานต์ยังดำเนินต่อเนื่องจนเกิดรูปแบบเงินที่มั่นคงอีกหนึ่งประเภทที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางจวบจนถึงทุกวันนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นสกุลเงินทางการของประเทศใด สุดท้ายก็กลายเป็นสกุลเงินเดนาเรียสของอิสลาม เมื่อศาสนาอิสลามในยุคไบแซนไทน์เติบโตขึ้น เหรียญบีซานต์และเหรียญอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักและขนาดใกล้ที่เคียงกันเริ่มขยายไปทั่วพื้นที่ที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ ท่านคอลีฟะฮ์อับดุลมาลิก อิบนุ มัรวาน แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ในแคว้นกาหลิบ ได้กำหนดน้ำหนักและมูลค่าของเหรียญดีนาร์ในปี ค.ศ. 697 ก่อนคริสตศักราชพร้อมประทับตราข้อบัญญัติทางศาสนาซึ่งเป็นคำกล่าวปฏิญาณในศาสนาอิสลามไว้บนเหรียญ  แม้ว่าราชวงศ์อุมัยยะฮ์จะล่มสลายจนมีรัฐอิสลามอื่น ๆ เกิดขึ้นแต่สกุลเงินเดนาเรียสยังคงมีอยู่และแพร่หลายกว้างขวางทั่วภูมิภาคอิสลามโดยมีน้ำหนักของเหรียญเท่าเดิมและใช้ขนาดของเหรียญบีซานต์เป็นตัวอย่าง ต่อมาเหรียญเดนาเรียสถูกนำใช้เป็นสินสอดทองหมั้น, ของขวัญ, และขนบธรรมเนียมโบราณในหลายศาสนาจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากการล่มสลายของชาวโรมันและไบแซนไทน์เพราะการล่มสลายของอารยธรรมอาหรับและชาวมุสลิมไม่ได้เชื่อมโยงกับเงินอีกทั้งยังสามารถรักษาความมั่นคงของสกุลเงินได้นานหลายศตวรรษ สกุลเงินโซลิดัสผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 301 โดยจักรพรรดิไดโอคลิเชียนได้เปลี่ยนชื่อจากสกุลเงินโซดิดัสไปเป็นบีซานต์และเดนาเรียสอิสลามแทน แต่เหรียญโซลิดัสยังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนจากสิบเจ็ดศตวรรษทั่วโลกนำเหรียญเหล่านี้มาใช้เพื่อทำธุรกรรมจากสภาพคล่องทางเวลาของทองคำตลอดมา

ยุคเรอเนสซองส์

หลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจและการทหารในจักรวรรดิโรมัน ระบบเจ้าขุนมูลนายได้กลายเป็นรูปแบบการปกครองหลักสำหรับการจัดระเบียบสังคม การล่มสลายของเงินที่มั่นคงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนของจักรวรรดิโรมันกลายเป็นข้ารับใช้ในกำมือของเหล่าขุนนางศักดินาประจำท้องถิ่น ทองคำกระจุกตัวอยู่ในมือของเหล่าเจ้าขุนมูลนาย ส่วนชาวบ้านชาวไร่ชาวนาในยุโรปในเวลานั้นจำต้องใช้ทองแดง และ ทองสัมฤทธิ์ เป็นหลัก ซึ่งเนื่องจากโลหะทั้งสองประเภทนี้สามารถผลิตได้ง่ายด้วยพัฒนาการทางอุตสาหกรรมโลหะศาสตร์ จึงทำให้มันสามารถถูกลดค่าได้ง่าย ส่งผลให้โลหะทั้งสองไม่สามารถเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ดีได้  เช่นเดียวกับเหรียญเงินที่มักจะถูกทำให้เสื่อมค่า, โดนฉ้อโกง, และไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานให้เหมือนกันทั้งทวีป ทำให้มันมีความสามารถในการขายเชิงสถานที่และระยะทางที่ต่ำ และส่งผลให้การค้าขายทั่วทั้งทวีปถูกจำกัดขอบเขตลง

ภาษีและภาวะเงินเฟ้อได้ทำลายความมั่งคั่งและทรัพย์สินของผู้คนในยุโรป ชาวยุโรปรุ่นใหม่โตขึ้นมาโดยไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัวจากบรรพบุรุษ และการไม่มีมาตรฐานการเงินที่มั่นคงจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันก่อให้เกิดการจำกัดขอบเขตทางการค้าอย่างรุนแรง ปิดกั้นสังคมให้ขาดออกจากกัน ส่งเสริมแนวความคิดที่คับแคบ เป็นเหตุให้สังคมค้าขายที่เคยรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมต้องตกลงสู่ยุคสมัยแห่งความมืดมิดของสังคมข้าทาส, โรคภัยไข้เจ็บ, การปิดกั้นความคิด และการกดขี่ทางศาสนา

แม้จะมีการยอมรับว่า การเฟื่องฟูของนครรัฐทั้งหลาย ฉุดให้ยุโรปออกจากยุคมืดและพาไปสู่ยุคเรอเนสซองส์ หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่บทบาทของเงินที่มั่นคงกลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก เนื่องจากในนครรัฐเหล่านี้นั่นเอง ที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตโดยมีอิสรภาพในการทำงาน, ผลิตสินค้า, ค้าขาย และเจริญรุ่งเรืองได้ โดยสาเหตุหลักที่ผู้คนสามารถมีอิสรภาพ และเจริญรุ่งเรืองได้ ก็เป็นผลจากการที่นครรัฐเหล่านี้มีการปรับใช้ระบบมาตรฐานทางการเงินที่มั่นคงนั่นเอง  เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1252 เมื่อเริ่มมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ฟลอริน (florin) ขึ้น ซึ่งเป็นระบบเงินเหรียญที่มั่นคงระบบแรกของยุโรปนับตั้งแต่เหรียญออเรียส ของจูเลียส ซีซาร์ การเฟื่องฟูของเมืองฟลอเรนซ์จึงทำให้มันกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของยุโรป และเหรียญฟลอรินก็ได้กลายเป็นสื่อกลางหลักในการแลกเปลี่ยนของทวีปยุโรป ส่งผลให้ธนาคารของฟลอเรนซ์สามารถแผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีป จากนั้นเวนิสถือเป็นเมืองแห่งแรกที่เดินรอยตามเมืองฟลอเรนซ์ด้วยการผลิตเหรียญดัค-แอ็ท (ducat)  ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกันกับเหรียญฟลอรินในปีค.ศ. 1270 และต่อมาถึงช่วงปลายศัตวรรษที่สิบสี่ กว่า 150 เมืองและรัฐต่าง ๆ ในยุโรป ก็มีการผลิตเหรียญแบบเดียวกับเหรียญฟลอริน ทำให้ประชาชนสามารถใช้เงินที่มั่นคงที่มีปัจจัยด้านความสามารถทางการขายเชิงเวลา และ สถานที่ที่สูง และสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อความสะดวกในดารใช้งาน ในการเก็บออมความมั่งคั่ง, ทรัพย์สมบัติ, และ การประกอบธุรกิจค้าขาย ได้อย่างเสรี และ สมศักดิ์ศรี การปลดแอกทางเศรษฐกิจของชาวไร่ชาวนาในยุโรปนี้ ได้นำพามาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเมือง, วิทยาศาสตร์, สติปัญญา, และ วัฒนธรรม ของนครรัฐต่างๆ ในอิตาลี และภายหลังจึงกระจายตัวไปทั่วทวีปยุโรป เห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นกรุงโรม, กรุงคอนสแตนติโนเปิล, เมืองฟลอเรนซ์หรือเวนิสก็ตาม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าระบบมาตรฐานของเงินที่มั่นคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ หากสังคมไม่มีระบบมาตรฐานทางการเงินที่มั่นคง สังคมนั่นก็จะยืนอยู่บนปากเหวของความป่าเถื่อน และ การล่มสลาย

แม้ว่าช่วงเวลาหลังจากการถือกำเนิดของฟลอริน มีการพัฒนาทางความมั่นคงของระบบการเงิน ทำให้ชาวยุโรปสามารถใช้ทองคำ และ เงินเพื่อการเก็บออม และ ค้าขายมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ขอบเขตของการค้าขาย ขยายตัวไปทั่วทั้งทวีปยุโรป และ ทั่วทั้งโลก แต่สถานการณ์นั้นก็ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ เนื่องด้วยยังมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่เหล่าผู้ปกครองบ้านเมือง กระทำการลดมูลค่าเงินของประชากรของพวกเขาลงเพื่อใช้เป็นทุนสงคราม หรือเพื่อการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และในเมื่อโลหะทั้งสองชนิด ทั้งเงิน และ ทองคำ ถูกใช้งานตรงๆ ในเชิงกายภาพแล้ว มันยังส่งเสริมกันและกันอีกด้วย เนื่องจากอัตราส่วนปริมาณ-ต่อ-กระแสที่สูงของทองคำ ทำให้มันเหมาะที่จะใช้ทำธุรกรรมขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งเก็บมูลค่าระยะยาว ขณะที่อัตราส่วนมูลค่าต่อน้ำหนักที่ต่ำกว่าของเงินนั้น ทำให้มันสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยที่มีขนาดเล็กได้ง่าย เหมาะสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในธุรกรรมขนาดเล็ก และ การเก็บรักษามูลค่าในระยะสั้นๆ ซึ่งแม้ว่าความสัมพันธ์ของโลหะทั้งสองในรูปแบบนี้ นำมาซึ่งคุณประโยชน์มากมาย แต่มนัก็ยังมีข้อเสียอยู่หนึ่งข้อใหญ่ๆ กล่าวคือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนระหว่างทองคำและเงิน ที่ทำให้เกิดปัญหาในการค้าขายและการคำนวณราคาสินค้า ความพยายามในการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินทั้งสองนั้นไม่เคยสัมฤทธิ์ผล และในที่สุด ข้อได้เปรียบทางการเงินของทองคำส่งผลให้มันเป็นผู้ชนะ

เมื่อผู้ปกครองประเทศต่าง ๆ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าสองประเภท พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจของผู้ถือครองสินค้า ในการตัดสินใจระหว่างการจะถือครอง หรือใช้จ่ายสินค้าทั้งสองประเภท  ระบบมาตรฐานโลหะคู่ที่ไม่สะดวกต่อการใช้งานนักนี้ ก็ยังคงเป็นระบบมาตรฐานการเงินไปอีกหลายศัตวรรษ ทั้งในยุโรป และ ทั่วทั้งโลก แต่อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ เกลือ, วัว, และเปลือกหอย มาสู่การใช้โลหะ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ก็จะนำพามาซึ่งแนวทางการไขปัญหาดังกล่าวในที่สุด

พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญสองประการ ที่พาให้ยุโรป และ โลก เคลื่อนออกห่างจากเหรียญกายภาพ และยังส่งผลให้หน้าที่ทางการเงินของโลหะเงินต้องจบสิ้่นลง ได้แก่: โทรเลข ซึ่งมีการใช้งานเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในค.ศ. 1837, และ เครือข่ายรถไฟที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ทำให้การคมนาคม ทั้งการเดินทาง และ การขนส่งทั่วทวีปสามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยนวัตกรรมทั้งสองอย่างนี้นี่เอง ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างธนาคารเป็นไปได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สามารถทำการชำระเงินข้ามระยะทางไกลเมื่อต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการหักตัวเลขทางบัญชี แทนที่จะต้องทำการขนส่งเงินจริงๆ ในลักษณะกายภาพ สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดการใช้งานธนบัตร, ใบแจ้งหนี้, เช็ค, และใบเสร็จรับเงิน เป็นตัวกลางทางการเงินอย่างแพร่หลาย แทนที่เหรียญทองคำ และ เหรียญเงิน

.

ประเทศต่าง ๆ  เริ่มหันมาใช้ระบบมาตรฐานทางการเงินอย่างเช่น ธนบัตร ที่มีมูลค่าหนุนหลังเต็มจำนวนเป็นโลหะมีค่า และ สามารถนำไปแลกเป็นโลหะมีค่าที่มาจากห้องนิรภัยของธนาคารได้ทันที บางประเทศเลือกที่จะเก็บโลหะมีค่าเป็นทองคำ ในขณะที่บางประเทศก็เลือกเก็บเงิน ซึ่งการตัดสินใจนี้ตามมาด้วยผลกระทบอันใหญ่หลวงที่ส่งผลต่อชะตากรรมของประเทศในเวลาต่อมา  ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศแรกที่นำระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่มาใช้ในปี ค.ศ. 1717 ภายใต้การกำกับดูแลของนักฟิสิกส์นาม ไอแซก นิวตัน ผู้มีหน้าที่ดูแลสำนักกษาปณ์ (The Royal Mint) และระบบมาตรฐานทองคำก็มีบทบาทในการผลักดันธุรกิจการค้าให้กระจายไปทั่วทั้งจักรวรรดิ์ทั่วทั้งโลก ประเทศอังกฤษอยู่ภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำจนถึงปี ค.ศ. 1914 แม้ว่าจะมีการระงับใช้ในช่วงสงครามนโปเลียนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1797 ถึง 1821 ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของอังกฤษนั้น มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งกับการที่อังกฤษนั้นเลือกใช้มาตรฐานทางการเงินที่เหนือกว่า และประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็เริ่มใช้มาตรฐานทองคำตามประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา จุดจบของสงครามนโปเลียนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองในยุโรป ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงเริ่มนำระบบมาตรฐานทองคำมาใช้  และเมื่อมีประเทศที่ใช้ระบบมาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีความต้องการทองคำในตลาดมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ มีแรงจูงใจในการเข้าร่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ  

นอกจากนั้น แทนที่ทุกคนจะต้องพกเหรียญทองคำและเหรียญเงินเพื่อทำธุรกรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็กตามลำดับ พวกเขาสามารถที่จะเก็บความมั่งคั่งของพวกเขาไว้ในรูปทองคำที่ฝากไว้กับธนาคาร ขณะที่พวกเขาสามารถใช้ใบเสร็จรับฝากทองคำ, ธนบัตร, และเช็คในการประกอบธุรกรรมได้ทุกขนาด ผู้ที่มีใบเสร็จก็สามารถนำใบเสร็จนั้นไปใช้ในการจับจ่ายใช้สอยได้ด้วยตนเองเสมือนทองคำ, ธนบัตรก็ได้รับการรับรองจากธนาคารเพื่อใช้สำหรับชำระเงิน, และเช็คก็สามารถนำไปขึ้นเป็นเงินสดได้จากธนาคารที่ทำการออกเช็คนั้นๆ สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องความสามารถในการขายเชิงขนาดและปริมาณของทองคำได้ จึงทำให้ทองคำกลายเป็นสื่อกลางทางการเงินที่ดีที่สุด — ตราบใดที่ธนาคารที่เก็บตุนทองคำของประชาชนเอาไว้ยังไม่เพิ่มปริมาณอุปทานของกระดาษที่พวกเขาออกเป็นใบเสร็จรับฝากทองคำ

เมื่อสื่อกลางเหล่านี้มีการหนุนหลังด้วยทองคำที่อยู่ในคลัง และยังสามารถใช้ทำการชำระเงินในขนาด และจำนวนเท่าใดก็ได้ จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้โลหะเงินสำหรับธุรกรรมขนาดเล็กอีกต่อไป หลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียถึงจุดจบ หน้าที่ทางการเงินของโลหะเงินก็สิ้นสุดลง เมื่อประเทศเยอรมัน เปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐานทองคำ ด้วยทองคำมูลค่ากว่า 200 ล้านปอนด์ที่ยึดมาจากประเทศฝรั่งเศส  เมื่อเยอรมนีได้ใช้มาตรฐานทองคำร่่วมกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ฮอลแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, และประเทศอื่น ๆ ลูกตุ้มทางการเงินก็ได้แกว่งมาทางฝั่งของทองคำอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้คนและประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกที่ยังใช้โลหะเงินอยู่ต่างต้องพบกับความสูญเสียอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย และมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานทองคำมากยิ่งขึ้น ในที่สุดอินเดียก็เปลี่ยนจากโลหะเงินมาใช้ทองคำในปี ค.ศ. 1898 ขณะที่จีนและฮ่องกงเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่หันหลังให้ระบบมาตรฐานโลหะเงินในปี ค.ศ. 1953

ตลอดระยะเวลาที่ทองคำและเงินถูกนำมาใช้จ่ายโดยตรง โลหะทั้งสองยังมีบทบาททางการเงิน และยังสามารถรักษาความคงที่ของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันไว้ได้เสมอมา อัตราแลกเปลี่ยนที่เงิน 12 ถึง 15 ออนซ์ต่อทองคำหนึ่งออนซ์ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราส่วนความหายากของโลหะทั้งสอง รวมไปถึงความยากลำบาก และต้นทุนในการขุดและสกัดมันออกมาจากผิวโลก แต่เมื่อเงินกระดาษ และเครื่องมือทางการเงินที่มีโลหะเหล่านี้ค้ำประกันอยู่ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆที่จะต้องใช้โลหะเงินทำหน้าที่ทางการเงินอีกต่อไป ผู้คนและประเทศชาติต่างๆ พากันเปลี่ยนมาถือทองคำ ส่งผลให้ราคาโลหะเงินถล่มลงอย่างรุนแรง และยังไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้อีกเลย อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างโลหะทั้งสองในช่วงศัตวรรษที่ยี่สิบอยู่ที่ 47 ต่อ 1 และสูงถึง 75 ต่อ 1 ในปี 2017 ขณะที่โลหะเงินสูญเสียบทบาทหน้าที่ทางการเงินของมันลงไป แต่ทองคำยังคงมีบทบาทหน้าที่ทางการเงินสืบมา เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ยังเก็บตุนทองคำเป็นจำนวนมาก (ดูรูปที่ 39)

รูปที่ 3 ราคาทองคำในหน่วยเงินออนซ์, ค.ศ. 1687–2017

การยกเลิกใช้โลหะเงินส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงต่อประเทศที่ใช้โลหะเงินเป็นมาตรฐานทางการเงิน ณ เวลานั้น มูลค่าเงินรูปีของอินเดียมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศทางยุโรปที่ใช้มาตรฐานทองคำ ส่งผลให้รัฐบาลแห่งอาณานิคมอังกฤษเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ นำมาสู่ความไม่พอใจและความโกรธแค้นจักรวรรดิ์อังกฤษยิ่งขึ้น กว่าอินเดียจะเปลี่ยนเอาเงินปอนด์ของอังกฤษที่หนุนหลังด้วยทองนำมาหนุนหลังเงินรูปีแทน โลหะเงินที่เคยหนุนหลังเงินรูปีอยู่ก็ได้เสียมูลค่าไปแล้วถึง 56% ภายในระยะเวลา 27 ปีหลังจากที่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียได้จบสิ้นลง ส่วนประเทศจีนที่ยังอยู่ภายใต้มาตรฐานโลหะเงินต่อมาจนถึงปีค.ศ. 1935 ก็ทำให้โลหะเงินในจีน (ภายใต้ชื่อและรูปแบบต่างๆ) ต้องสูญสิ้นมูลค่าไปกว่า 78%

 

 ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ประวัติศาสตร์ และความล้มเหลวในการไล่ตามประเทศอื่นๆ ทางตะวันตก ของจีนและอินเดียในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการทำลายล้างเงินทุน และความมั่งคั่งครั้งใหญ่อันเป็นผลจากการยกเลิกโลหะเงินของทั้งสองประเทศนี้อย่างปฏิเสธมิได้ การยกเลิกหน้าที่ทางการเงินของโลหะเงิน ส่งผลให้ประเทศจีน และอินเดีย ต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกับชาวแอฟริกาตะวันตกที่ใช้ลูกปัดอักกริขณะที่ชาวยุโรปเดินทางมาเยือน นั่นคือ: เมื่อเงินผลิตยากในประเทศกลับเป็นเงินที่ผลิตได้ง่ายของชาวต่างชาติ เงินในประเทศก็จะถูกผลักออกไปด้วยเงินผลิตยากจากต่างแดน ซึ่งส่งผลให้ชาวต่างชาติสามารถควบคุม และครอบครองทรัพยากรและต้นทุนการผลิตภายในประเทศจีน และอินเดียได้เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญเหลือคณานับ ที่ใครก็ตามที่คิดว่าเขาไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวอะไรกับบิตคอยน์เพียงเพราะเขาไม่ยอมรับมันนั้น ควรตระหนักเอาไว้ให้ดี เพราะประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อมีผู้อื่นถือเงินที่ผลิตยากกว่าเงินของเขา

 

เมื่อทองคำอยู่ในมือของธนาคารที่มีลักษณะรวมศูนย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทองคำก็ได้รับความสามารถทางการขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งในเชิงเวลา, เชิงขนาดและปริมาณ, และเชิงระยะทาง แต่ความสามารถในการขายที่ได้มาก็ต้องแลกกับคุณสมบัติในการเป็นเงินสด ทำให้การใช้จ่ายมันนั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้มีอำนาจทางการเงิน และผู้มีอำนาจทางการเมือง ที่มีหน้าที่คอยผลิตใบเสร็จรับฝากทองคำ, อนุมัติจ่ายเช็ค, และกักตุนทองคำเอาไว้ เป็นเรื่องเศร้าที่หนทางเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาทางด้านความสามารถในการขายเชิงเวลา, ขนาด, และระยะทางได้ คือผ่านการรวมศูนย์ ส่งผลให้ทองคำตกเป็นเหยื่อของปัญหาใหญ่ของระบบการเงินที่มั่นคง ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ยี่สิบได้เน้นย้ำเอาไว้ นั่นคือ: อธิปไตยทางการเงินของปัจเจกบุคคล และการต่อต้านการควบคุมแบบรวมศูนย์ของรัฐฯ จึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดนักเศรษฐศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของเงินในศตวรรษที่สิบเก้าอย่าง Menger จึงมุ่งเน้นการทำความเข้าใจถึงความมั่นคงของเงินไปที่ประเด็นของความสามารถทางการขายของมันในฐานะของสินค้าชนิดหนึ่ง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของเงินในศตวรรษที่ยี่สิบอย่าง Mises, Hayek, Rothbard, และ Salerno กลับมุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยทางความสามารถในการต้านทานการควบคุมโดยรัฐ เพราะเนื่องจากนจุดอ่อนของเงินในศตวรรษที่ยี่สิบมาจากการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ในมือรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งเราจะได้เห็นในภายหลังว่าบิตคอยน์ ซึ่งเป็นเงินที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนั้น จึงถูกออกแบบเพื่อเลี่ยงการถูกควบคุมโดยศูนย์กลางเป็นหลัก

 

La Belle Époque (ยุคสวยงามแห่งยุโรป)

จุดจบของสงครามฝรั่งเศส – ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1871 ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจในยุโรปที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานการเงินเดียวกัน ซึ่งคือทองคำนั้น นำมาสู่ช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วยิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาล่วงเลยไป  สามารถพูดได้ว่า ช่วงเวลาศตวรรษที่สิบเก้า โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่โลกได้พบกับ ความเจริญรุ่งเรือง, นวัตกรรม, และความสำเร็จของมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และทองคำ ก็เป็นจุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อโลหะเงิน และสื่อกลางการแลกเปลี่ยนชนิดอื่นๆ ทยอยถูกเลิกใช้งานลงไป และโลกทั้งใบหันมาใช้มาตรฐานทองคำเหมือนๆกัน ทำให้พัฒนาการทางการขนส่ง และโทรคมนาคมสามารถสร้างให้การระดมทุน และการค้าในระดับโลกอย่าง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ุ

สกุลเงินต่าง ๆ นั้นต่างกันเพียงน้ำหนักของทองคำที่ใช้ และการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินของประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง ก็เป็นเพียงการแปลงหน่วยน้ำหนักที่ต่างกัน ไม่ต่างกับการแปลงระยะจากนิ้วเป็นเซนติเมตร เงินปอนด์อังกฤษกำหนดให้มีทองคำ 7.3 กรัม ส่วนเงินฟรังค์ของฝรั่งเศสมีทองคำ 0.29 กรัม และเงินมาร์กเยอรมัน 0.36 กรัม ซึ่งหมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเหล่านี้จะคงที่อยู่ที่ 26.28 ฟรังค์ฝรั่งเศส และ 24.02 มาร์กเยอรมัน ต่อหนึ่งปอนด์อังกฤษ เช่นเดียวกันกับที่หน่วยเมตริก และ หน่วยจักรวรรดิ เป็นเพียงหน่วยที่ใช้วัดความยาวของสิ่งของสิ่งเดียวกัน สกุลเงินของแต่ละประเทศก็เป็นเพียงหน่วยที่ใช้วัดมูลค่าทางเศรษกิจ เทียบกับทองคำที่เป็นที่เก็บรักษามูลค่าสากลนั่นเอง เหรียญทองของบางประเทศยังสามารถใช้งานได้ในอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากมันก็เป็นเพียงทองคำ ปริมาณเงินของแต่ละประเทศไม่ใช่ตัวเลขที่จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกลางที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ถือใบปริญญาเอก แต่หลับเป็นผลตามธรรมชาติของระบบตลาดเสรี ผู้คนสามารถมีเงินมากเท่าที่ต้องการ และใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์จากทั้งใน และ นอกประเทศของตน ปริมาณอุปทานเงินที่แท้จริงของแต่ละประเทศนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่สามารถวัดได้ง่ายๆด้วยซ้ำ 

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเงินคือการแผ่กระจายของการค้าเสรีทั่วโลก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเพิ่มขึ้นของอัตราการเก็บออมในสังคมเจริญแล้วส่วนมากที่อยู่ภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำ ทำให้เกิดการสะสมกำลังทุนเพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยี, สังคมเมือง, และอุตสาหกรรม ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ในปัจจุบัณ (ดูตารางที่ 1 10)

 

Table 1 Major European Economies’ Periods Under the Gold Standard

ตารางที่ 1 ช่วงเวลาที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรปอยู่ใต้ระบบมาตรฐานทองคำ

สกุลเงิน ช่วงเวลาภายใต้มาตรฐานทองทำ จำนวนปี
ฟรังก์ฝรั่งเศส 1814–1914 100 ปี
กิลเดอร์ดัตช์ 1816–1914 98 ปี
ปอนด์สเตอร์ลิง 1821–1914 93 ปี
ฟรังก์สวิส 1850–1936 86 ปี
ฟรังก์เบลเยียม 1832–1914 82 ปี
โครนาสวีเดน 1873–1931 58 ปี
มาร์คเยอรมัน 1875–1914 39 ปี
ลีร์อิตาลี 1883–1914 31 ปี

 

จนถึงปีค.ศ. 1900 มีประเทศที่ใช้มาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการราว 50 ประเทศด้วยกัน ซึ่งรวมถึงประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมด ส่วนประเทศที่ไม่ได้ใช้มาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการก็มีการใช้เหรียญทองเป็นสื่อหลักในการแลกเปลี่ยน ในยุคสมัยของมาตรฐานทองคำ มนุษย์ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้นวิทยาการที่สำคัญขึ้นมากมาย ทั้งทางด้านเทคโนโลยี, การแพทย์, เศรษฐกิจ, และศิลปะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ยุคสมัยดังกล่าวถูกขนานนามว่า la belle époque (ลา เบลล์ อีปอค) หรือยุคที่สวยงามในทั่วทั้งยุโรปนั่นเอง จักรวรรดิ์อังกฤษก็พบกับจุดสูงสุดแห่งความรุ่งเรืองของยุคสันติภาพอังกฤษ (Pax Britanica) ที่จักรวรรดิแผ่ขยายไปทั่วโลกโดยปราศจากความขัดแย้งทางการทหารขนาดใหญ่ ในปีค.ศ. 1899 เนลลี บลาย นักเขียนชาวอเมริกันได้ออกเดินทางไปทั่วโลกภายในระยะเวลา 72 วัน พร้อมพกเอาเหรียญทองคำอังกฤษ และ ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษติดตัวไปด้วย11 เนลลี่สามารถเดินทางรอบโลกและใช้เงินที่เธอพกติดตัวไปด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทุกๆ ที่ที่เธอไป

ยุคสมัยเดียวกันนี้ถูกเรียกว่ายุคชุบทองในสหรัฐอเมริกา การฟื้นฟูระบบมาตรฐานทองคำในช่วงสงครามกลางเมืองปีค.ศ. 1879 นำมาสู่ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาแห่งความเฟื่องฟูนี้ถูกขัดจังหวะด้วยเหตุการณ์แห่งความเสียสติทางการเงินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของโลหะเงินตามที่จะอธิบายในบทที่ 6 นั่นคือเมื่อกระทรวงการคลังพยายามจะนำเอาโลหะเงินกลับมาใช้เป็นเงิน โดยการออกกฎหมายกำหนดให้โลหะเงินเป็นเงินขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้อุปทานเงินเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นจำนวนมาก นำมาสู่วิกฤตการณ์การแห่ถอนเงิน (bank run) เมื่อผู้คนพยายามขายตั๋วเงินคลัง และ โลหะเงินเพื่อแลกกับทองคำ ส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีค.ศ. 1893 ก่อนที่เศรษฐกิจของสหรัฐจะเจริญเติบโตต่อมาในภายหลัง

ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่จะมีการสั่งสมกำลังทุน, การค้าขายระดับโลก, การจำกัดขอบเขตอำนาจรัฐ, และการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศํยได้มากไปกว่าช่วงเวลาที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกอยู่ภายใต้มาตรฐานทางการเงินที่มั่นคงเดียวกันอีกแล้ว ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจของโลกตะวันตกในช่วงนั้นที่มีความเสรีมากกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก สังคมในอดีตช่วงนั้นเองก็มีความอิสระเสรีสูงกว่าเช่นกัน รัฐบาลยังไม่สามารถวุ่นวายกับชีวิตของผู้คนด้วยระบบราชการได้มากนัก ตามที่ Mises ได้กล่าวไว้ว่า:

ระบบมาตรฐานทองคำนั้น คือระบบมาตรฐานระดับโลกของยุคทุนนิยม, ความเป็นอยู่ที่สุขสบาย, เสรีภาพ, และประชาธิปไตย ทั้งในความหมายเชิงเศรษฐศาสตร์ และ การบ้านการเมือง ความสูงส่งของระบบมาตรฐานทองคำในสายตาของนักค้าขายเสรีนั้น อยู่ที่ความเป็นมาตรฐานสากล ที่ตรงต่อความจำเป็นสำหรับการค้าขาย และ การทำธุรกรรมทางการเงิน และตลาดทุนในระดับโลก มันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่่ยนที่ได้นำพาเอาเงินทุน และ ลัทธิอุตสาหกรรมตะวันตก ไปสู่ซีกโลกที่ไกลที่สุด ทำลายพันธนาการแห่งความงมงายและความเชื่อเก่าๆ, ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตและความสุขสบายแบบใหม่, ปลดแอกมันสมอง และ วิญญาน สู่เสรีภาพ, สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในทุกๆ ที่ที่มันเดินทางไปถึง มันอยู่เคียงข้างกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของลัทธิเสรีนิยมตะวันตก ที่พร้อมที่จะรวมทุกๆชาติ เข้าสู่สังคมแห่งเสรีภาพที่ต่างร่วมมือกันอย่างสงบสุข

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะมองว่า มาตรฐานทองคำนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นประโยชน์ และ ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นเอง 12

โลกที่สวยงามนี้ ต้องล่มสลายลงในปีแห่งความหายนะ ค.ศ. 1914 ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปีที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 เท่านั้น แต่มันยังเป็นปีที่เหล่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เปลี่ยนมาใช้ระบบเงินรัฐบาลที่ไม่มีความมั่นคง แทนที่ระบบมาตรฐานทองคำ มีเพียงประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน ซึ่งคงความเป็นกลางไว้ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เท่านั้น ที่ยังคงใช้มาตรฐานทองคำต่อไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1930 และหลังจากนั้น ยุคสมัยของระบบเงินที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลก็ได้อุบัติขึ้นทั่วโลก ตามมาด้วยความหายนะวอดวายไร้การบรรเทา

แม้ระบบมาตรฐานทองคำในศตวรรษที่ 19 จะเป็นระบบที่ใกล้เคียงที่สุดกับเงินที่มั่นคงในอุดมคติเท่าที่โลกเคยมีมา แต่มันก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ ประการแรกคือ รัฐบาลและธนาคารมักสร้างสื่อการแลกเปลี่ยนเกินปริมาณทองคำที่ตนเองสำรองไว้ ประการที่สอง คือ หลายประเทศไม่เพียงใช้ทองคำเป็นทุนสำรองเท่านั้นแต่ยังใช้สกุลเงินจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย  ประเทศอังกฤษในฐานะมหาอำนาจระดับโลกยุคนั้น ได้รับประโยชน์จากการที่สกุลเงินของประเทศอังกฤษถูกใช้เป็นเงินสำรองทั่วทั้งโลก ส่งผลให้ทองคำที่สำรองไว้กลายเป็นส่วนเล็ก ๆ จากอุปทานของเงินที่หมุนเวียนอยู่ทันที เมื่อการค้าระหว่างประเทศที่กำลังเจริญเติบโตจำเป็นต้องอาศัยระบบการชำระเงินข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนบัตรของธนาคารอังกฤษ ในความคิดของคนจำนวนมากในสมัยนั้น “ดีเทียบเท่ากับทองคำ” เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม แม้ทองคำจะยังคงเป็นเงินที่ผลิตยากมาก แต่เครื่องมือที่ถูกใช้สำหรับการชำระเงินระหว่างธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ที่แมโดยปกติแล้วจะสามารถแลกเป็นทองคำได้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันกลับสามารถผลิตได้ง่ายกว่าทองคำ

ข้อบกพร่องทั้งสองประการนี้ส่งผลให้ระบบมาตรฐานทองคำ ต้องอยู่กับความเสี่ยงของการแห่ถอนทองคำ ในประเทศใดก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากพอ ต้องการนำเงินกระดาษของพวกเขามาแลกคืนเป็นทองคำ จุดด่างพร้อยอันร้ายแรงของระบบมาตรฐานทองคำที่เป็นหัวใจของทั้งสองข้อบกพร่องที่กล่าวมานั้น มาจากความยากลำบากในการชำระเงินด้วยทองคำ ที่ทั้งยุ่งยาก, มีค่าใช้จ่ายสูง, และ ไม่ปลอดภัย ทำให้ระบบมาตรฐานทองคำจำเป็นต้องอาศัยการรวมศูนย์การสำรองทองคำเอาไว้ในไม่กี่สถานที่ — นั่นคือในธนาคาร และ ธนาคารกลางต่างๆ — ซึ่งทำให้มันเสี่ยงต่อการถูกยึดครองโดยรัฐบาลต่างๆ เมื่อการใช้จ่าย และชำระเงินด้วยทองคำ มีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนการชำระเงินทั้งหมด เหล่าธนาคารและธนาคารกลางทั้งหลายก็สามารถสร้างเงินที่ไม่ได้มีทองคำหนุนหลังขึ้นมาเพื่อใช้ในการชำระบัญชีต่างๆ ได้ เนื่องจากมูลค่าของโครงข่ายการชำระบัญชีมีมูลค่าสูงขึ้นมากพอที่ความน่าเชื่อถือของเจ้าของ่โครงข่ายก็สามารถนำมาแปลงเป็นเงินได้โด้ยปริยาย  และเมื่อการประกอบกิจการธนาคารเริ่มที่จะมีความหมายครอบคลุมถึงการผลิตเงิน ก็ไม่แปลกที่รัฐบาลก็เริ่มพยายามเข้ามาครอบครองกลุ่มธุรกิจธนาคารผ่านระบบธนาคารกลาง

ความเย้ายวนที่รุนแรงเกินห้ามใจ และ ความสามารถในการสร้างความร่ำรวยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่จะสามารถสยบเสียงขัดแย้งต่างๆ แต่มันยังสามารถเป็นเงินทุนสนับสนุนให้พวกนักโฆษณาชวนเชื่อช่วยกันเผยแพร่แนวความคิดดังกล่าวอีกด้วย ทองคำนั้น ไม่มีกลไกใดๆ สำหรับการควบคุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มันจึงต้องอาศัยความเชื่อใจว่า ผู้ควบคุมอำนาจรัฐจะไม่จะไม่นำเอาระบบมาตรฐานทองคำไปใช้ในทางที่ผิด และ ประชาชนจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาคอยควบคุมพฤติกรรมของรัฐไม่ให้ทำเช่นนั้น ซึ่งมันอาจเป็นไปได้เมื่อประชาชนล้วนมีการศึกษา และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของเงินที่ไม่มีความมั่นคงเป็นอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนแต่ละรุ่นก็เริ่มเกิดความย่ามใจทางสติปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งมักมาคู่กับความมั่งคั่งเสมอ 13 สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ คำโฆษณาอันหอมหวลของนักต้มตุ๋น และนักเศรษฐศาสตร์จอมปลอมนั้น น่าหลงไหลเกินกว่าที่จะสามารถต้านทานได้ เหลือไว้เพียงชนกลุ่มน้อยที่มีเพียงนักเศรษฐศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ที่รู้เท่าทัน ที่ต้องทนสู้ศึกเพื่อที่จะโน้มน้าวให้ผู้คนตาสว่าง ว่าความร่ำรวยนั้น ไม่สามารถได้มาจากการเข้าไปยุ่งกับอุปทานของเงินได้, ว่าการให้อำนาจในการควบคุมเงินแก่ผู้ควบคุมอำนาจการปกครอง จะยิ่งนำไปสู่การควบคุมชีวิตของทุกคน, และ ว่าการใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ผู้มีอารยธรรมนั้น ตั้งอยู่บนความมั่นคงของเงินที่เป็นรากฐานสำหรับการค้าและการสั่งสมทุนทรัพย์

การรวมศูนย์ของทองคำทำให้มันมีความเสี่ยงต่อการถูกช่วงชิงบทบาทหน้าที่ทางการเงินโดยศัตรูของมัน และทองคำนั้นก็มีศัตรูมากเกินไปอยู่แล้ว ตามที่ Mises เองก็เข้าใจดีว่า

กลุ่มชาตินิยมกำลังต่อสู้กับระบบมาตรฐานทองคำเพราะพวกเขาต้องการให้ประเทศตนเองตัดขาดจากตลาดโลกและเพื่อสร้างระบอบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองขึ้นมา ส่วนกลุ่มรัฐบาลที่ชอบแทรกแซงตลาด และกลุ่มแรงกดดันทางเมือง ก็กำลังต่อสู้กับระบบมาตรฐานทองคำเนื่องจากพวกเขาเห็นว่ามันเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อความพยายามในการควบคุมและแทรกแซงราคาสินค้าและอัตราว่าจ้างแรงงานของพวกเขา แต่การโจมตีมาตรฐานทองคำที่บ้าคลั่งที่สุดนั้นเกิดจากกลุ่มที่ต้องผลักดันนโยบายผลิตเงิน สำหรับพวกเขาแล้ว การผลิตเงินเพิ่มถือเป็นยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด 14

ระบบมาตรฐานทองคำ แยกเอาเรื่องของการกำหนด และ ควบคุมความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยผ่านการควบคุมเงินออกมาจากเวทีทางการเมือง การยอมรับในตัวมัน จำเป็นต้องอาศัยการยอมรับสัจจธรรมว่าการพิมพ์เงิน ไม่สามารถทำให้ทุกคนร่ำรวยได้ ความเกลียดชังที่มีต่อมาตรฐานทองคำนั้น มาจากความเชื่ออันงมงาย ว่ารัฐบาลที่ทรงอำนาจสูงส่งจะสามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้จากเศษกระดาษเล็กๆ […] เหล่านัฐบาลทั้งหลายต่างกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำลายมัน เนื่องจากพวกเขาเชื่อมันในความเชื่อผิดๆ ว่าการผลิตเงินเพิ่มขึ้นนั้นคือวิธีที่เหมาะสมในการลดอัตราดอกเบี้ย และ “ปรับปรุง” ดุลย์ทางการค้า […] 15

ศตวรรษที่ยี่สิบเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับความพยายามของรัฐบาลที่จะนำเอาทองคำของประชาชนมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาผ่านการประดิษฐ์ระบบธนาคารกลางขึ้นบนระบบมาตรฐานทองคำ ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้น การรวมศูนย์กลางเงินสำรองนี้ก็เป็นเหตุทำให้รัฐบาลเหล่านี้สามารถขยายปริมาณอุปทานของเงินเพิ่มขึ้นเกินกว่าทองคำสำรองที่พวกเขามีอยู่ ส่งผลให้สกุลเงินของพวกเขามีมูลค่าลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางต่างๆ ก็ยังคงดำเนินการยึดและสะสมทองคำต่อไปจนถึงช่วงที่การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบมาตรฐานดอลล่าสหรัฐฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในทศวรรษที่ 1960 แม้ทองคำจะถูกยุติบทบาททางการเงินลงอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1971 ธนาคารกลางทั้งหลายก็ยังคงถือทองคำเอาไว้เป็นจำนวนมาก และทยอยขายมันออกไปอย่างช้าๆ ก่อนที่จะกลับมาซื้อทองคำเพิ่มเติมในทศวรรษที่ผ่านมา 

แม้ธนาคารกลางทั้งหลายจะประกาศจุดจบของบทบาททางการเงินของทองคำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การที่พวกเขายังคงการสำรองทองคำของพวกเขาไว้กลับส่งข้อความที่แท้จริงยิ่งกว่าคำพูด ในมุมมองของการแข่งขันทางการเงินนั้น การสำรองทองคำเอาไว้นั้น เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการประเทศใดที่เลือกเก็บเงินสำรองไว้ในรูปของเงินผลิตง่ายของรัฐบาลต่างชาตินั้น ก็มีแต่จะส่งผลให้มูลค่าของเงินของประเทศนั้นลดลง เนื่องจากผลประโยชน์จากการผลิตเงินสำรอง จะไม่ได้ตกอยู่กับธนาคารกลางที่เลือกเก็บเงินสำรองนั้น แต่จะตกอยู่กับผู้ที่ผลิตเงินสำรองนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ถ้าธนาคารกลางทั้งหลายตัดสินใจขายสำรองทองคำของตนทิ้งทั้งหมด สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือทองคำนั้นก็จะถูกรับซื้ออย่างรวดเร็ว โดยมีการลดลงของราคาเพียงเล็กน้อย เนื่องมาจากความต้องการทางอุตสาหกรรมและเครื่องประดับที่สูงมากของมัน และธนาคารกลางก็จะสูญเสียทองคำสำรองของพวกเขาไป ท้ายที่สุดแล้ว ในระนะยาว การแข่งขันระหว่างเงินรัฐบาลที่ผลิตได้ง่าย กับทองคำที่ผลิตได้ยาก ก็น่าจะจบลงโดยเหลือผู้ชนะเพียงผู้เดียว แม้กระทั้งในโลกของเงินรัฐบาลเอง รัฐบาลก็ยังไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายบังคับให้ทองคำหมดหน้าที่ทางการเงินได้ เนื่องจากการกระทำของพวกเขาชัดเจนกว่าคำพูดนั่นเอง (ดูรูปที่ 4 16)

แม้ว่าธนาคารกลางจะประกาศให้ทราบถึงการสินสุดของบทบาททางการเงินของทองคำหลายรอบ แต่ธนาคารกลางก็ยังสามารถรักษาการสำรองทองคำเหล่านี้อย่างซื่อตรงไปตรงมาเสมอ เพราะจากมุมมองการแข่งขันทางการเงินแล้วการเก็บสำรองทองคำถือเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว การเก็บเงินสำรองที่มั่นคงให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่างชาติมีแต่จะทำให้มูลค่าของสกุลเงินประเทศลดลงไปพร้อมกับสกุลเงินสำรองทันที ส่วนที่กำไรที่ได้จากการผลิตกลับเข้าสู่กระเป๋าผู้ออกสกุลเงินสำรองที่ไม่ได้มาจากธนาคารกลางของประเทศ นอกจากนี้หากธนาคารกลางขายทองคำที่มีทั้งหมดไป (ประมาณ 20% จากปริมาณทองคำทั่วโลก) จึงมีแนวโน้มที่ราคาทองคำจะเพิ่มสูงต่อการใช้งานด้านอุตสาหกรรมหรือด้านศิลป์ก็เป็นได้ ซึ่งผู้คนจะซื้ออย่างรวดเร็วด้วยค่าเสื่อมราคาเล็กน้อยจนธนาคารกลางถูกปล่อยทิ้งไว้โดยปราศจากทองคำสำรองหลงเหลืออยู่ การแข่งขันทางการเงินระหว่างเงินที่มั่นคงของรัฐบาลและทองคำที่ไม่สามารถผลิตกันได้ง่ายนั้นมีแนวโน้มว่าน่าจะมีผู้ชนะในระยะยาวหนึ่งราย แม้เราจะอยู่ในโลกของเงินรัฐบาลแต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะมาตัดสินบทบาททางการเงินของทองคำได้เหมือนคำพูดที่ว่า “การกระทำมักสำคัญกว่าคำพูดเสมอ” (ดูรูปที่ 4.16)

รูปที่ 4 การสำรองทองคำ (ตัน) ของธนาคารกลาง

 

หมายเหตุ:

 

1 Nick Szabo, Shelling Out: The Origins of Money (2002) Available at http://nakamotoinstitute.org/shelling‐out/

2 ที่มา: การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา

3 “การเรียกเก็บเงินจำนวนมากเพื่อบริโภคทองแท่ง” TIME, 29 สิงหาคม 1989

4 ที่มา: ข้อมูลการสำรวจทองคำทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ข้อมูลเหรียญเงินของสถาบันเงิน BP.com การตรวจสอบน้ำมันทางสถิติ การประเมินของผู้เขียนจากสื่อเรื่องทองแดงแหล่งต่าง ๆ

5 ดูความความสนุกสนานของ Schuettinger และ Butler จากเรื่อง Forty Centuries of Wage and Price Controls

6 Ferdinand Lips, Gold Wars: The Battle Against Sound Money as Seen from a Swiss Perspective (มูลนิธิเพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาทางการเงินนิวยอร์ก, 2001)

7 Ludwig von Mises, Human Action: The Scholar’s Edition (สถาบันลุดวิก วอน มิเซส แห่งออเบิร์น รัฐอลาบาม่า:, 1998)

8 David Luscombe and Jonathan Riley‐Smith, The New Cambridge Medieval History: Volume 4, C.1024–1198 (Cambridge University Press, 2004), p. 255.

9 ที่มา: Lawrence H. Officer and Samuel H. Williamson, “The Price of Gold, 1257–Present,” Measuring Worth (2017). Available at http://www.measuringworth.com/gold/

10 ที่มา: คำพูด, 2001

11 Nellie Bly, Around the World in Seventy‐Two Days (ภาพประจำสัปดาห์แห่งนิวยอร์ก, 1890)

12 Ludwig von Mises, Human Action (หน้า 472–473)

13 ดู John Glubb, The Fate of Empires and Search for Survival

14 Ludwig von Mises, Human Action (หน้า 473)

15 Ludwig von Mises, Human Action (หน้า 474)

16 ที่มา: ข้อมูลสถิติสำรองจากสภาทองคำโลก แขวนไว้ที่ https://www.gold.org/data/gold‐reserves

หมายเหตุผู้แปล:

t1 การผลิตเงินจำนวนมากจะทำให้เงินมีมูลค่าอ่อนลงนั้นหมายความว่าเงินในมือผู้ถือของคนทุกคนจะมีมูลค่าลดลง แต่ผู้ที่ผลิตเงินจะมีทรัพย์สินที่มากขึ้นจากการที่พวกเขาผลิตเงินขึ้นมาและนั้นคือรัฐบาล

t2 เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 32 บาท โดยประมาณ ช่วงเดือนพฤษภาคม พศ. 2562

 

Note:ผลงานแปลนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างเพจ Blockchain Review และ คุณพิริยะ สัมพันธารักษณ์ MD ของ Chaloke dotcom ยังไงฝากติดตามด้วยนะครับ

Article bitcoin-standard แปล
Writer

Maybe You Like