fbpx

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 1 เงินตรา

ทำไมเงินที่ผลิตได้ง่ายนั้นมีแนวโน้มที่จะเสื่อมมูลค่า ทำไมเงินที่ผลิตได้ยากจึงดีต่อผู้ที่ถือครอง
ผลงานแปลนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างเพจ Blockchain Review และ คุณพิริยะ สัมพันธารักษณ์ MD ของ Chaloke dotcom ยังไงฝากติดตามด้วยนะครับ
(แปลยากมากจบบทนี้ขอดองยาวๆ)

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 1 เงินตรา

3 May 2019

Chapter 1

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

บทที่ 1

เงิน

 

บิตคอยน์ (Bitcoin) คือเทคโนโลยีล่าสุดที่เข้ามาตอบสนองหน้าที่ในการเป็น ‘เงิน’ (money) — มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่นำเอาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิตัล มาแก้ไขปัญหาที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาเป็นเวลายาวนาน: กล่าวคือปัญหาในการเคลื่อนย้ายมูลค่าทางเศรษฐกิจข้ามผ่านกาลเวลาและสถานที่ การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจบิตคอยน์ได้นั้น เราจำเป็นต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเสียก่อน และ เพื่อที่จะสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้ก็คงไม่มีวิธีอื่นใดนอกไปจากการเรียนรู้กลไก การทำงาน และประวัติศาสตร์ของเงินเท่านั้น

 

วิธีที่ง่ายที่สุดที่ผู้คนจะแลกเปลี่ยน ‘มูลค่า’ (value) ซึ่งกันและกัน คือการนำเอาสิ่งของที่มีมูลค่ามาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงนี้เรียกว่าบาร์เตอร์ (barter) แต่อย่างไรก็ตามมันสามารถปฏิบัติได้เพียงในบริบทของสังคมขนาดเล็กที่มีสินค้าและบริการเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น การที่ผู้คนจะสามารถผลิตทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอดได้ด้วยตนเอง และนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้โดยตรงนั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้เพียงในสงคมเชิงสมมุติที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่ตัดขาดจากโลกภายนอกเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในสังคมดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องทำการค้าขาย หรือ พัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่อย่างใด ทำให้แม้ว่าระบบบาร์เตอร์จะอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน แต่มันกลับเป็นระบบที่ยากต่อการใช้งานจริง และ มีเพียงการใช้งานในกรณีพิเศษ ซึ่งมักประกอบได้ด้วยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกันเท่านั้น

 

แต่ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ และ มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็จะนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้คนจะสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากขึ้น และ นำไปแลกเปลี่ยนกับผู้คนจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีก — โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนแปลกหน้าที่พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวด้วยแต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้การเก็บบันทึกจำนวนสินค้า บริการ และหนี้บุญคุณระหว่างกัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และยิ่งตลาดใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสสำหรับการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสูงขึ้นเท่านั้น รวมไปถึงปัญหาใหญ่เกี่ยวกับความสอดคล้องกันของความต้องการ (coincidence of wants) ที่ตามมาด้วยเช่นกัน — กล่าวคือ เมื่อสิ่งที่คุณต้องการซื้อ ถูกผลิตโดยคนที่ไม่ต้องการสิ่งที่คุณพร้อมที่จะขาย ปัญหาดังกล่าวหยังรากลึกไปกว่าความต้องการสินค้าที่ต่างกัน เนื่องจากมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนมิติที่ต่างกันสามมิติด้วยกัน

 

ปัญหาแรกคือ การขาดความสอดคล้องในเชิงขนาดและปริมาณ (coincidence of scales): ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่คุณต้องการมีมูลค่าไม่เท่ากับสิ่งที่คุณมีอยู่ และ การแบ่งสิ่งที่คุณมีอยู่ออกเป็นหน่วยย่อย ๆ อาจจะเป็นไปไม่ได้ ลองคิดดูว่าถ้าคุณอยากจะขายรองเท้าเพื่อแลกกับบ้าน คุณไม่สามารถที่จะซื้อบ้านในหน่วยเล็กๆ ที่มีมูลค่าเท่ากับรองเท้าคู่หนึ่งได้ และเจ้าของบ้านก็ไม่ได้มีความต้องการรองเท้าจำนวนมากมายมหาศาลจนมีมูลค่ารวมกันเท่ากับบ้านของเขาทั้งหลัง ปัญหาที่สองคือการขาดความสอดคล้องทางกาลเวลา (coincidence in time frames): สิ่งที่คุณต้องการจะขายอาจจะเป็นสิ่งที่เสื่อมสลายหรือเน่าเปื่อยได้ แต่สิ่งที่คุณต้องการจะซื้อกลับเป็นสิ่งที่คงทนและมีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งการเก็บสะสมสิ่งของที่เสื่อมสลายได้ให้มีจำนวนมากพอเพื่อที่จะทำการแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่คงทนกว่าภายในเวลาจำกัด เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก มันคงยากถ้าคุณจะเก็บแอ๊ปเปิลให้มีจำนวนมากพอที่จะแลกกับรถยนต์สักคัน เพราะแอปเปิ้ลจะเน่าเสียก่อนที่คุณจะทำการซื้อขายได้ทันเวลา ปัญหาที่สามคือการขาดความสอดคล้องทางสถานที่ (coincidence of locations): คุณอาจจะต้องการขายบ้านในที่แห่งหนึ่งเพื่อไปซื้อบ้านในที่อีกแห่งหนึ่ง และ (โดยทั่วไป) บ้านนั้นเป็นทรัพย์สินที่ไม่สามารถขนส่ง เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งปัญหาทั้งสามข้อนี้นี้เป็นสิ่งที่ทำให้การแลกเปลียนโดยตรงนั้นทำได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้คนจำเป็นต้องกระทำการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของตน

 

ทางเดียวที่เราจะสามารถเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้คือ การใช้วิธีแลกเปลี่ยนทางอ้อม: กล่าวคือ คุณจะต้องพยายามหาสินค้าอื่นที่อีกฝ่ายต้องการ และคุณยังจะต้องหาคนที่มีสินค้านั้นและมีความต้องการในสินค้าที่คุณมึอยู่ สินค้าที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนั้นเรียกว่า สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) ไม่ว่าสินค้าอะไรก็สามารถเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้ แต่เมื่อขอบเขตและขนาดของเศรษฐกิจขยายใหญ่ขึ้น การที่ผู้คนต้องคอยพยายามแสวงหาสินค้าหลากหลายชนิดตามความต้องการของอีกฝ่าย เพื่อนำมาทำการแลกเปลี่ยนหลายต่อหลายขั้น เพียงเพื่อให้สามารถทำการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการเพียงอย่างเดียวได้นั้น กลายเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะสามารถปฏิบัติได้จริง แต่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีกว่ามักปรากฎขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพียงเพราะผู้ที่บังเอิญพบแนวทางที่ดีกว่านั้น จะสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ยังไม่พบแนวทางดังกล่าว: ทำให้เกิดสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลัก ที่ทุกคนพร้อมที่จะนำเอาสินค้าต่างๆ ที่ตนมี มาแลกเปลี่ยนกับมันได้ โดยสื่อกลางหลักนี้ อาจเป็นสื่อกลางเพียงชนิดเดียว หรืออย่างมากก็ประกอบด้วยสื่อกลางไม่กี่รูปแบบ สินค้าที่ได้รับความยอมรับในวงกว้าง ให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นจะถูกเรียกว่า ’เงิน’

 

การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นหน้าที่ที่สำคัญของเงิน — หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เงิน เป็นสินค้าที่ถูกซื้อมาเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นๆ ไม่ใช่เพื่อการบริโภค (สินค้าอุปโภค บริโภค, consumption good) หรือเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าอื่นใด (การลงทุน หรือ สินค้าประเภททุน, investment, or capital good) แม้ว่าการลงทุน (investment) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างรายได้เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ คล้ายกับเงิน แต่มันมีความแตกต่างกับเงินอย่างชัดเจนในสามประเด็นหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่: ประเด็นแรกคือ ทุนมีผลตอบแทน โดยที่เงินไม่มีผลตอบแทน; ประเด็นที่สอง ทุนมาพร้อมกับความเสี่ยงจากการล้มเหลวเสมอ โดยที่เงินนั้นควรที่จะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด; และ ประเด็นที่สาม ทุนมีสภาพคล่องต่ำกว่าเงิน จึงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่สูงกว่าทุกครั้งที่ต้องทำการเคลื่อนย้ายมัน ประเด็นเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใดความต้องการเงินนั้น จะไม่มีวันหมดไป และเหตุใดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นทุนจึงไม่มีวันแทนที่เงินได้อย่างสมบูรณ์ ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่แน่นอน มนุษย์จึงไม่มีวันที่จะรู้ได้แน่ชัดว่าพวกเขาจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ เมื่อใด1 มันจึงเป็นสามัญสำนึก เป็นภูมิปัญญาแต่ช้านานในแทบทุกสังคมมนุษย์ ที่บุคคลใดก็ตาม ควรทำการเก็บออมความมั่งคั่งส่วนหนึ่งของเขาเอาไว้ในรูปของเงิน เนื่องจากเงินเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด ทำให้ผูู้ถือครองสามารถใช้จ่ายมันได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนใดๆ โดย ‘ราคา’ ที่ผู้คนต้องจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบายของการมีเงินไว้ในครอบครอง นั่นก็คือค่าเสียโอกาสจากการนำเอาเงินนั้นไปใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนนั่นเอง

 

จากการศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ในสภาวะตลาดต่างๆ คาร์ล เมนเกอร์ (Carl Menger) ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย (Austrain school of economics) และ หลักการวิเคราะห์มูลค่าส่วนเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Marginal analysis) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับหัวใจสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าถูกนำไปใช้เป็นเงินได้อย่างเสรีในตลาด นั่นก็คือ ‘ความสามารถในการขาย’ (salability) — หมายถึงความสะดวกในการขายสินค้าในตลาดเมื่อใดก็ตามที่เจ้าของสินค้านั้นต้องการ โดยมีการสูญเสียมูลค่าทางราคาน้อยที่สุด2

 

โดยหลักการแล้ว ไม่มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าสิ่งใด ควรหรือไม่ควรนำมาใช้เป็นเงิน ใครก็ตามที่ตัดสินใจซื้อบางสิ่งบางอย่าง ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำเอาสิ่งนั้นไปแลกกับสิ่งอื่น จะทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นเงินไปโดยพฤตินัย โดยผู้คนที่แตกต่างกัน ก็ย่อมมีความเห็น และมีตัวเลือกของสิ่งที่เขาใช้เป็นเงินแตกต่างกันน ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์มีหลายสิ่งที่ได้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็น ‘เงิน’ โดยสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ ทองคำ และเงิน แต่ก็ยังมี ทองแดง, เปลือกหอย, หินก้อนใหญ่ ๆ, เกลือ, โคกระบือ, ธนบัตรที่มาจากรัฐบาล, เพชรพลอยอันล้ำค่า, หรือแม้แต่แอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ถูกใช้ในบางสถานการณ์ เนื่องจากการตัดสินใจของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยส่วนบุคคลของแต่ละคน จึงไม่มีตัวเลือกของเงินที่ ‘ถูกต้อง’ หรือ ‘ผิด’ เสียทีเดียว มีเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจต่าง ๆ นั่นเอง

 

การเปรียบเทียบระดับความสามารถในการขาย (salability) นั้น ทำได้โดยการประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาความขาดความสอดคล้องของความต้องการดังที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ความสามารถในการขายในเชิงขนาดและปริมาณ, เชิงสถานที่และระยะทาง, และเชิงกาลเวลา คุณสมบัติของสินค้าที่มีความสามารถในการขายเชิงปริมาณที่ดี คือความสามารถในการแตกหน่วยย่อยออกเป็นหน่วยเล็กๆ หรือรวมตัวกันเป็นหน่วยใหญ่ได้ ส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของสินค้านั้นสามารถขายมันในปริมาณเท่าใดก็ได้ตามที่ต้องการ ในขณะที่ความสามารถในการขายเชิงสถานที่และระยะทางบ่งบอกถึงความง่ายดาย ในการขนส่งสินค้าหรือความสะดวกในการพกพาติดตัวบุคคลไปตามสถานที่ต่างๆได้ สองปัจจัยนี้ส่งผลให้สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นเงินได้ดีมักจะมีอัตราส่วนของมูลค่าต่อน้ำหนักที่สูง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้สามารถพบได้ในสิ่งของจำนวนมากที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นเงิน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดกลับเป็นปัจจัยที่สาม คือ ความสามารถในการขายผ่านกาลเวลา (salability across time)

 

ความสามารถในการขายผ่านกาลเวลาของสินค้า ซึ่งเป็นหน้าที่ลำดับที่สองของเงิน หรือที่เรียกว่า การเก็บรักษามูลค่า (store of value) นั้นหมายถึงความสามารถในการรักษามูลค่าให้คงอยู่เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ถือครองสินค้านั้น สามารถเก็บรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ในตัวสินค้าได้ การที่สินค้าใดจะสามารถรักษามูลค่าผ่านกาลเวลาได้นั้น มันจะต้องปลอดภัยจากการเน่าเปื่อย, ผุกร่อน, และการเสื่อมสลายในรูปแบบอื่นๆ มันคงจะไม่ผิดถ้าจะพูดว่า ใครก็ตามที่คิดว่าเขาสามารถที่จะเก็บรักษาความมั่งคั่งและทรัพย์สินของเขาไว้ในรูปของ ปลา, แอปเปิ้ล, หรือ ส้มได้นั้น จะได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดผ่านประสปการณ์ตรง และเขาคนนั้นคงไม่ต้องกังวลเรื่องการหาที่เก็บความมั่งคั่งไปอีกพักใหญ่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินค้าสามารถสูญเสียมูลค่าได้แม้ขณะที่สภาพทางกายภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การรักษาสถาณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียวนั้น แม้เป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาความสามารถในการขายผ่านกาลเวลา การที่สินค้าจะรักษามูลค่าได้นั้น อีกปัจจัยที่สำคัญ คือการที่ระดับอุปทาน (supply) หรือปริมาณของสินค้า ไม่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไปในช่วงเวลาที่มันถูกถือครองอยู่ ส่งผลให้ลักษณะกลไกที่พบเห็นได้ทั่วไปในเงินรูปแบบต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัณ คือกลไกบางอย่างที่ทำหน้าที่จำกัดอัตราการผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษามูลค่าของสินค้าที่มีอยู่เดิม ระดับของความยากลำบากในการผลิตเงินขึ้นมาเพิ่มเติม เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเปรียบเทียบระดับความ ‘สร้างยาก’ หรือความแข็งแกร่ง (hardness) ของเงิน โดยเงินที่ยากต่อการผลิตเพิ่มจะถูกเรียกว่า เงินสร้างยาก (hard money) ส่วนเงินที่สามารถผลิตเพิ่มเป็นจำนวนมากได้อย่างง่ายได้จะถูกเรียกว่า ‘เงินสร้างง่าย’ (easy money)

 

ปัจจัยที่สำคัญเกี่ยวกับอุปทานของสินค้าที่แตกต่างกันสองปัจจัย ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงความแข็งแกร่งของเงินได้ชัดเจนขึ้น ได้แก่: (1) ปริมาณ (stock) หมายถึงจำนวนของสินค้าที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงจำนวนของสินค้าทั้งหมดที่เคยถูกผลิตขึ้นในอดีต หักลบด้วยจำนวนของสินค้าทั้งหมดที่สูญเสียไปไม่ว่าจะด้วยการบริโภค หรือการทำลาย; และ (2) กระแส (flow) ซึ่งหมายถึงปริมาณ่ของสินค้าที่จะถูกผลิตขึ้นเพิ่มเติมในช่วงเวลาถัดมา โดยอัตราส่วนระหว่างปริมาณ และ กระแส เป็นตัวบ่งชี้ค่าความแข็งแกร่งของสินค้า และความเหมาะสมในการรับหน้าที่เป็นเงินที่เชื่อถือได้ดี สินค้าที่มีอัตราส่วนปริมาณ-ต่อ-กระแสที่ต่ำ หมายถึงสินค้าที่สามารถถูกผลิตขึ้นเพิ่มเดิมเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วเมื่อผู้คนมีความต้องการที่จะใช้มันเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า ส่งผลให้สินค้าดังกล่าวไม่สามารถรักษามูลค่าของมันเอาไว้ได้ในกรณีที่มันถูกเลือกเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า ในทางกลับกัน ยิ่งอัตราส่วนของปริมาณ-ต่อ-กระแสสูงเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่า สินค้านั้นจะสามารถรักษามูลค่าของมันเมื่อเวลผ่านไปได้ดีขึ้น ทำให้มีความสามารถในการขายผ่านเวลาที่สูงขึ้นนั่นเอง3

 

ถ้าผู้คนเลือกเงินสร้างยาก ซึ่งมีอัตราส่วน ปริมาณ-ต่อ-กระแส ที่สูง เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าแล้วนั้น การซื้อเงินนั้นเพื่อนำมาเก็บรักษาจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ หรือ ความต้องการในตัวเงินนั้น ส่งผลให้ราคาของมันสูงขึ้น และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสร้างมันขึ้นมาเพิ่มเติม แต่เนื่องจากกระแสการผลิตนั้น มีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณของอุปทานที่มีอยู่เดิม ทำให้แม้จะมีการเพิ่มอัตราการผลิตเงินนั้นสูงขึ้น ก็ยังยากที่จะส่งผลกระทบให้ราคาลดลงไปมากนัก ในทางกลับกัน ถ้าผู้คนเลือกที่จะเก็บรักษาความมั่งคั่งของเขาเอาไว้ในเงินสร้างง่ายที่มีอัตราส่วน ปริมาณ-ต่อ-กระแส ที่ต่ำ มันกลับเป็นเรื่องง่ายดายที่ผู้ผลิตเงินจะสร้างเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลจนราคาของมันถูกกดลง, ลดมูลค่าของเงินนั้น, โยกย้ายเอาความมั่งคั่งออกจากมือของผู้เก็บออม, และทำลายความสามารถในการขายผ่านเวลาของเงินนั้นลง

 

ผมชอบเรียกสิ่งนี้ว่า”กับดักเงินสร้างง่าย” (the easy money trap) สิ่งใดก็ตามที่ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าก็จะมีการผลิตอุปทานของสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น และสิ่งใดที่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ง่ายดาย ก็จะทำลายความมั่งคั่งของผู้คนที่ใช้สิ่งน้นเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่านั่นเอง หลักฐานที่เป็นข้อพิสูจน์ของกับดักดังกล่าว พบเห็นได้จากการที่สิ่งใดก็ตามที่ประสบความสำเร็จในการถูกนำมาใช้เป็นเงินนั้น จะมีกลไกบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกธรรมชาติ หรือกลไกที่สร้างขึ้น เพื่อจำกัดกระแสการผลิตของสิ่งนั้น ทำให้มันสามารถรักษามูลค่าผ่านเวลาได้ จึงสามารถสรุปได้ว่า การที่สิ่งใดจะสามารถทำหน้าที่เป็นเงินได้สำเร็จนั้น มันจะต้องมีต้นทุนในการผลิตที่สูง มิเช่นนั้นความเย้ายวนของการแสวงหาความร่ำรวยผ่านการผลิตเงินเพิ่มขึ้นในราคาถูก จะทำลายความมั่งคั่งของผู้เก็บออม, และทำลายแรงจูงใจที่ผู้คนจะเลือกเก็บรักษาความมั่งคั่งไว้ในสื่อกลางดังกล่าว

 

เมื่อใดก็ตามที่การพัฒนาทางธรรมชาติ, เทคโนโลยี, หรือการเมืองการปกครองส่งผลให้มีการผลิตสินค้าที่ใช้เป็นเงินได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว สินค้านั้นก็จะสูญเสียสถานะในการเป็นเงิน และถูกทดแทนด้วยสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนชนิดอื่นที่มีอัตราส่วนปริมาณ-ต่อ-กระแสที่สูงกว่า ตามที่จะกล่าวในบทถัดไป เปลือกหอยถูกนำมาใช้เป็นเงินในยุคสมัยที่มันเป็นสิ่งหายาก มวนบุหรี่ ถูกใช้แทนเงินในเรือนจำ เพราะมันเป็นสิ่งที่หาหรือสร้างขึ้นได้ยาก และในกรณีของสกุลเงินประจำชาติ ยิ่งสกุลเงินนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุปทานที่ต่ำเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลให้มันรักษามูลค่าได้ดีเมื่อเวลาผ่านไป และส่งผลให้ผู้คนนิยมที่จะถือเงินสกุลนั้นนั่นเอง

 

เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การนำเข้า หรือการจับเปลือกหอยกลายเป็นเรื่องง่าย สังคมที่ใช้เปลือกหอยก็จะเริ่มเปลี่ยนไปใช้โลหะหรือเงินกระดาษแทน และเมื่อรัฐบาลเพิ่มอุปทานของสกุลเงินขึ้น ประชาชนก็จะเปลี่ยนไปถือเงินต่างชาติ, ทองคำ หรือสินทรัพย์อื่นๆที่มีค่าสูงกว่าแทน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในศตวรรษที่ยี่สิบเราได้เห็นตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สื่อกลางที่ใช้เป็นเงินที่อยู่รอดได้นานที่สุด คือสื่อกลางที่มีกลไกจำกัดการเจริญเติบโตของอุปทานที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นเงินสร้างยากนั่นเอง การแข่งขันระหว่างสื่อกลางในการเป็นเงินนั้นเกิดขึ้นอยู่ทุกชั่วขณะ และผลของมันก็สามารถทำนายได้จากผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่ออัตราส่วนปริมาณ-ต่อ-กระแสของแต่ละผู้แข่งขัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นในบทถัดไป

 

แม้ผู้คนจะมีอิสระในการเลือกใช้สินค้าอะไรก็ได้มาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป คนที่เลือกใช้เงินที่สร้างยาก จะได้รับประโยชน์สูงสุดเสมอ เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของอุปทานที่น้อยนิดส่งผลให้เงินของเขาแทบไม่สูญเสียมูลค่าลงเลยในขณะที่ผู้คนที่เลือกใช้เงินที่สร้างได้ง่าย เงินของเขาจะสูญเสียมูลค่าเมื่ออุปทานของมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ราคาตลาดของมันลดต่ำลง ไม่ว่าจะด้วยการตัดสินใจผ่านการคำนวณด้วยเหตุและผล หรือ การมองย้อนกลับไปสู่บทเรียนอันโหดร้ายของโลกแห่งความจริง เงินและความมั่งคั่งส่วนใหญ่จะรวมตัวกันอยู่กับกลุ่มคนที่เลือกใช้เงินที่สร้างยาก และ มีความสามารถในการขายที่สูงที่สุดเสมอ แต่ความแข็งแกร่ง และ ความสามารถในการขายของสินค้านั้น ไม่ใช่ค่าที่คงที่เสมอไป การแข่งขันในตลาดเสรีนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเงินที่แข็งแกร่งอย่างไร้ความปราณี เนื่องจากผู้ที่จะสามารถเอาชีวิตรอดได้ในตลาดเสรีนั้นมีเพียงผู้คนที่เลือกเงินที่จะสามารถรักษาความมั่งคั่งของเขาเมื่อเวลาผ่านไปได้เท่านั้น รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้ประชาชนเลือกใช้เงินที่สร้างได้ยากที่สุด เนื่องจากประชาชนจะค้นพบเงินที่สร้างยากที่สุดก่อนพวกเขาจะสร้างรัฐบาลขึ้นมาเสียอีก และการแทรกแซงใดๆ จากรัฐบาล ก็เป็นได้แค่เพียงการขัดขวางการแข่งขันของเงินอย่างเสรีเท่านั้น

 

ขณะที่ทุกคนมีอิสระในการใช้สินค้าอะไรก็ได้ที่ต้องการในฐานะของสื่อการแลกเปลี่ยน แต่ความจริงคือ เมื่อเวลาผ่านไป คนที่ใช้เงินที่ไม่สามารถผลิตได้โดยง่ายกลับได้รับประโยชน์มากที่สุดโดยเสียมูลค่าน้อยมากจากอุปทานใหม่เล็กน้อยของสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ผู้ที่เลือกใช้เงินที่ผลิตได้โดยง่ายมีแนวโน้มที่จะสูญเสียมูลค่าหากอุปทานเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาทางตลาดลดลง ไม่ว่าจะเกินการคำนวณด้วย หรือผลย้อนหลังที่เกิดขึ้นในความจริง เงินและความมั่งคั่งส่วนใหญ่ก็จะสถิตกับผู้ที่เลือกใช้เงินที่ไม่สามารถผลิตได้โดยง่ายที่สุดและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการขายดีที่สุด แต่คุณสมบัติที่มันไม่สามารถผลิตได้โดยง่ายและคุณสมบัติที่เหมาะสมในการขายของสินค้าไม่ได้คงที่ตามเวลา การแข่งขันทางการเงินแบบตลาดเสรีมีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถสร้างเงินที่มีความมั่นคงได้ เพราะมันทำให้ผู้คนสามารถสามารถเลือกสิ่งรักษามูลค่าของทรัพย์สินได้ตลอดเวลา รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องไปกำหนดเงินที่แข็งที่สุดแก่สังคม แต่สังคมจะเป็นผู้แสดงให้เห็นออกมาก่อนที่รัฐบาลจะมาจัดการ ส่วนการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล หากมีเกิดผลกระทบใด ๆ ขึ้น รัฐบาลจะทำหน้าที่แค่ขัดขวางกระบวนการแข่งขันทางการเงินเท่านั้น

 

ผลกระทบของเงินสร้างยาก และ เงินสร้างง่ายในมุมมองทั้งระดับบุคคล และ สังคมนั้น ยังลึกล้ำไปกว่าการได้กำไรหรือขาดทุนทางการเงินเท่านั้น และ ยังเป็นสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ตามที่จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทที่ 5, 6, และ 7 ผู้คนที่สามารถเก็บรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ในแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ดี มักจะสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้ดีกว่าผู้ที่มีแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ด้อยกว่า ความมั่นคงของสื่อกลางที่ถูกใช้เป็นเงินในมุมมองของการรักษามูลค่าผ่านกาลเวลานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งบอกว่าผู้คนจะให้มูลค่ากับสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างปัจจุบัน หรือ อนาคต หรือที่เรียกว่า ความพึงพอใจแห่งเวลา (time preference) ซึ่งเป็นแนวความคิดหลักของเนื้อของในหนังสือเล่มนี้

 

ผลกระทบของเงินที่ไม่สามารถผลิตได้ง่ายและเงินที่ผลิตได้ง่ายจากบุคคลและสังคมนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าการสูญเสียหรือได้รับกำไรทางการเงินเสียอีก และยังเป็นสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ที่จะกล่าวอย่างละเอียดในบทที่ 5, 6 และ 7 ผู้ที่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติไว้ตัวเก็บมูลค่าที่ดีได้นั้น มีแนวโน้มที่จะสามารถวางแผนเรื่องอนาคตได้มากกว่าผู้ที่รักษาสมบัติไว้ในตัวเก็บมูลค่าที่ไม่ดี ความทนทานของตัวกลางทางการเงินในแง่การรักษามูลค่าตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อว่าผู้คนสามารถประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตหรือความพอใจในเวลามากเพียงใด ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้

 

อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการขายของสื่อกลางทางการเงิน นอกเหนือจากอัตราส่วนของปริมาณ-ต่อ-กระแสแล้วนั้น ยังมีเรื่องของระดับความยอมรับโดยผู้อื่นอีกด้วย ยิ่งผู้คนยอมรับสื่อกลางทางการเงินตัวใดตัวหนึ่งมากขึ้น สื่อกลางนั้นก็ย่อมมีสภาพคล่องที่สูงขึ้น และส่งผลให้มันสามารถถูกแลกเปลี่ยนซื้อขายไปมาได้โดยไม่สูญเสียมูลค่าระหว่างทางมากเกินไป ในบริบทของสังคมที่เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลถึงบุคคล มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีเพียงไม่กี่มาตรฐานที่สามารถอยู่รอด และ ยึดครองตลาดการแลกเปลี่ยนเอาไว้ได้ทั้งหมด เนื่องจากประโยชน์ที่คนจะได้รับจากการเข้าร่วมในเครือข่ายใดๆ จะสูงขึ้นอย่างทวีคูณเมื่อเครือข่ายนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังเช่นที่พบเห็นได้จากโลกของระบบโปรโตคอลคอมพิวเตอร์ และ อินเตอร์เน็ต เช่นในกรณีที่Facebook และ เครือข่ายโซเชี่ยลมีเดียเพียงหยิบมือ สามารถยึดครองตลาดได้ แม้ในขณะที่มีเครือข่ายลักษณะคล้ายกันอีกจำนวนหลายร้อยเครือข่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา

 

ในลักษณะเดียวกัน อุปกรณ์ใดก็ตามที่ต้องการใช้งานอีเมล์ จะต้องใช้โปรโตคอล IMAP/POP3 ในการรับอีเมล์ และ SMTP ในการส่งอีเมล์ ทั้งที่มีโปรโตคอลอีกจำนวนมากที่ถูกคิดค้นขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างไม่มีที่ติ แต่กลับไม่มีใครต้องการใช้มันเนื่องการการตัดสินใจเลือกใช้โปรโตคอลอื่นๆเหล่านั้น จะส่งผลให้ผู้ใช้งานถูกตัดขาดจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ เกือบทุกคนที่ใช้งานระบบอีเมล์อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนเหล่านั้นต่างอยู่บนโปรโตคอล IMAP/POP3 และ SMTP นั่นเอง เช่นเดียวกันกับเงิน มันเป็นเหตุการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะมีสินค้าเพียงหนึ่ง หรือ ไม่กี่สินค้า ที่จะสามารถกลายมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากความสะดวกในการแลกเปลี่ยน เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด เพราะเงิน ในฐานะของตัวกลางการแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ได้ซื้อเพราะต้องการมัน แต่เพราะต้องการความสามารถในการขายของมันนั่นเอง

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ก็จะทำให้มันสามารถถูกใช้เป็นหน่วยแสดงราคาของสินค้าประเภทต่างๆได้ทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้สื่อกลางนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่สามของเงินได้ นั้นก็คือการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (unit of account)ถ้าสังคมใดไม่มีสื่อกลางที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน การกำหนดราคาสินค้าต่างๆ จะต้องถูกกำหนดในหน่วยของสินค้าอื่นๆ ส่งผลให้เกิดราคาและอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันจำนวนมาก ทำให้การคำนวนทางเศรษฐกิจใดๆ กลายเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง แต่ในสังคมที่มีสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ราคาของสินค้าต่างๆ จะถูกกำหนดอยู่บนสื่อกลางเดียวกันได้ทั้งหมด ซึ่งในสังคมที่มีสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนี้ เงินจะทำหน้าที่เป็นมาตรวัดมูลค่าระหว่างผู้คนในสังคม กล่าวคือ; ราคาจะให้ผลประโยชน์ต่อผู้ผลิตสินค้ามากเพียงพอที่เขาจะสามารถผลิตสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่สังคม และ ราคาจะบ่งบอกผู้บริโภคว่าเขาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนเท่าใดเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ มีเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น ที่จะทำให้การคำนวณทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ และนั่นจะทำให้การพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง, การสั่งสมเงินทุน, และตลาดที่มีขนาดใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้นั่นเอง  กลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) คือราคา และ การที่ราคาจะมีความถูกต้องแม่นยำได้นั้น ก็จำเป็นต้องอาศัยการที่ทุกคนมีสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เหมือนกัน โดยราคาจะสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลน หรือความต้องการสินค้าต่างๆ ซึ่งถ้าสื่อกลางนี้เป็นเงินที่สร้างได้ง่ายแล้ว จะทำให้มันไม่สามารถสะท้อนราคาและค่าเสียโอกาศได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากผู้ผลิตเงินนั้นสามารถที่จะผลิตมันเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของอุปทานที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ย่อมส่งผลให้ความสามารถในการเป็นหน่วยวัดมูลค่าระหว่างบุคคล และการเป็นช่องทางการสื่อสารมูลค่าทางเศรษฐกิจของเงินนั้นถูกบิดเบือน

 

การมีสื่อกลางแลกเปลี่ยนเพียงหนึ่งเดียว ทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเติบโตและขยายขนาดขึ้นได้ตามจำนวนผู้คนที่ยินดีที่จะใช้สื่อกลางการแลกเปลี่ยนนั้น และยิ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสสร้างผลกำไรจากการแลกเปลี่ยน ค้าขาย และการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นเท่านั้น และที่อาจสำคัญกว่านั้น คือการเปิดโอกาสให้กระบวนการการผลิตสินค้าที่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และใช้เวลานานเกิดขึ้นได้ โดยผู้ผลิตสามารถที่จะมุ่งพัฒนาสินค้าที่จะเป็นต้นทุน (capital goods) สำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) ในขั้นถัดไป ซึ่งทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหนือกว่า ในปริมาณที่สูงขึ้นได้ ถ้าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจขนาดย่อมในยุคแรก โครงสร้างในการผลิตปลาประกอบด้วยเพียงสองขั้นตอน คือ คนคนหนึ่งเดินทางไปยังชาดหาด และ คนคนนั้นก็ใช้สองมือของเขาจับปลาเท่านั้น ซึ่งทั้งกระบวนการนี้ อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ก็มีการใช้ปัจจัย และเครื่องมือในการผลิตที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้เวลาในกระบวนการผลิตยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้นเช่นกัน ในโลกปัจจุบัน การจับปลา มีการใช้เรือประมงที่มีความซับซ้อนสูง, จำเป็นต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้าง, และสามารถใช้งานได้นานหลายทศวรรษ เรือเหล่านี้ สามารถล่องไปยังทะเลลึกที่เรือเล็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงทำให้สามารถจับปลาที่เรือเล็ก ๆ ไม่สามารถจับได้ เรือเหล่านี้ยังสามารถทนต่อสภาพอากาศที่โหดร้าย และทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เรือที่มีต้นทุนต่ำกว่าต้องจอดรอสภาพอากาศอย่างไร้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่า แม้การสั่งสมกำลังทุน ทำให้กระบวนการการผลิตสินค้าใช้ระยะเวลานานขึ้น แต่มันก็ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตต่อจำนวนแรงงานสูงขึ้น และยังส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหนือกว่าที่เคยผลิตได้ภายใต้บริบทของระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่มีเพียงเครื่องมือพื้นฐาน และ ไม่มีการสั้งสมกำลังทุน และทั้งหมดนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากเราไม่มีเงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ที่ทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้; ถ้าเราไม่มีเงินที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า ที่ทำให้เกิดมุมมองความคิดที่เอาอนาคตเป็นที่ตั้ง และ จูงใจให้คนนำทรัพยากรมาลงทุนเพื่ออนาคตแทนการใช้อุปโภคบริโภค; และ ถ้าเราไม่มีเงิน ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า ที่ทำให้เราสามารถคำนวนผลกำไร-ขาดทุนทางเศรษฐกิจได้

 

ตลอดวิวัฒนาการของเงินในประวัติศาสตร์ มีสินค้าหลากหลายชนิดเคยทำหน้าที่เป็นเงิน โดยสินค้าต่างๆ มีระดับความยาก-ง่ายในการสร้างขึ้นที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถทางเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่หอยเบี้ย ไปจนถึง เกลือ, วัว, เงิน, ทอง และ เงินรัฐบาลที่มีทองคำหนุนหลัง จนมาสิ้นสุดลงที่เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฏหมายของรัฐบาลที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในแต่ละขั้น มาพร้อมกับเงินในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีอรรถประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มาพร้อมกับดักและอุปสรรคใหม่ ๆ ด้วยเสมอ การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องมือและวัตถุต่าง ๆ ที่เคยถูกนำมาใช้เป็นเงินในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เราสามารถแยกแยะคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบของเงินที่ดี และองค์ประกอบของเงินที่ไม่ดีได้ และด้วยความรู้ความเข้าใจนี้เท่านั้น เราถึงจะสามารถเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการทำงานของ Bitcoin และบทบาทของมันในฐานะการเป็นสื่อกลางทางการเงินได้

 

ในบทต่อไป เราจะพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ของสิ่งของและวัตถุพิศวงต่าง ๆ ที่เคยทำหน้าที่ของเงินในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่หินราย แห่งเกาะแยป, เปลือกหอยในทวีปอเมริกา, ลูกแก้วในแอฟริกา, จนถึง วัวและเกลือในโบราณกาล สื่อกลางการแลกเปลี่ยนเหล่านี้ ล้วนเคยทำหน้าที่เป็นเงินในช่วงเวลาที่มันต่างเป็นสิ่งที่มีอัตราส่วนปริมาณ-ต่อ-กระแสที่สูงที่สุดที่ผู้คนในแต่ละสังคมจะสามารถหาได้ และ พวกมันต่างต้องยุติบทบาทการเป็นเงินลงเมือมันสูญเสียคุณสมบัตินั้นไป การทำความเข้าใจถึงเหตุผล และ กลไลของเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำความเข้าใจแนวทางการวิวัฒนาการของเงิน และ บทบาทใดๆที่ Bitcoin อาจมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่ต่อไปในอนาคต ในบทที่ 3 เราจะขยับไปสู่การศึกษากลุ่มเงินโลหะ และเหตุใด ทองคำ จึงกลายมาเป็นโลหะหลักที่ถูกนำมาใช้เป็นเงินทั่วทั้งโลกในยุคมาตรฐานทองคำ (gold standard) เมื่อช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 บทที่ 4 วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนมาใช้เงินรัฐบาล และประวัติของมัน และ หลังจากที่เราได้พูดคุยกันถึงผลกระทบของการใช้เงินรูปแบบต่างๆ ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในบทที่ 5,6, และ 7 เราก็จะพูดถึงการเกิดขึ้นของ Bitcoin และคุณสมบัติทางการเงินของมันในบทที่ 8

หมายเหตุ

  1. Human Action, Ludwig von Mises หน้า 250 การอภิปรายว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความต้องการทางสินทรัพย์ประเภทเงิน เพราะความไม่แน่นอนในอนาคต มนุษย์สามารถรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดล่วงหน้าและวางแผนได้อย่างดีที่สุดดังนั้นทุกคนจึงไม่จำเป็นต้องถือเงินสด แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนคือส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิต ทุกคนจึงต้องถือเงินต่อไปเพื่อสามารถใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องรับรู้ถึงอนาคต
  2. Carl Menger, “On the Origins of Money,” Economic Journal, vol. 2 (1892): 239–255; translation by C. A. Foley.
  3. Antal Fekete, Whither Gold? (1997). Winner of the 1996 International Currency Prize, sponsored by Bank Lips.
  4. Joseph Salerno, Money: Sound and Unsound (Ludwig von Mises Institute, 2010), pp. xiv–xv.

 

Article bitcoin-standard แปล
Writer

Maybe You Like