ตั้งแต่กฎหมายจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก Cryptocurrency ประกาศใช้ เกิดข้อกังวลเป็นวงกว้างว่านักขุดอย่างเรา ๆ จะถูกจัดเก็บภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่สามารถหักต้นทุนค่าเครื่องขุด ค่าแรงงาน และค่าไฟฟ้าได้จริงหรือ???
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!ในบทความนี้ ผู้เขียนเพียงอยากแบ่งปันหลักกฎหมายภาษีในมุมของผู้เขียน (เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้อ่านสามารถแบ่งปันความคิดเห็นได้น่ะครับ)
ในกรณีของนิติบุคคลซึ่งทำธุรกิจเหมืองขุดยังคงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามปกติครับ ในบทความนี้จึงอยากแบ่งปันมุมมองของผู้เขียนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งอาจแตกต่างจากหลายบทความของนักเขียนท่านอื่นที่ออกมาก่อนหน้านี้ครับ
ต้องเริ่มจากที่มาของแนวคิดว่าทำไมถึงหักต้นทุนค่าเครื่องขุด ค่าแรงงาน หรือค่าไฟฟ้าไม่ได้ ผู้เขียนขออ่านใจนักเขียนท่านอื่นว่ามองไปที่กฎหมายใหม่ที่ออกมาคือ มาตรา 40 (4) (ซ) ซึ่งบัญญัติว่า “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล” และมาตรา 40 (4) (ฌ) ที่บัญญัติว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”
ซึ่งตามประมวลรัษฎากร เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) ไม่ว่าจะมีวงเล็บอะไรต่อท้ายอีก ก็หักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย
เท่ากับคงมองว่า (ขอบอกว่าเดาล้วน) การขุด BTC ขึ้นมาหนึ่งเหรียญ เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลตามมาตรา 40 (4) (ซ) หรือไม่ก็มองว่าพอขุดขึ้นมาได้แล้วเอาไปขาย ถือว่าไม่มีต้นทุนเพราะไม่ได้ซื้อมาตามมาตรา 40 (4) (ฌ)
ตอนนี้มาถึงมุมมองผู้เขียนบ้างน่ะครับ (ซึ่งคิดไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านสักเท่าไหร่)
ขอเริ่มที่สาระสำคัญของการขุดก่อนน่ะครับ การขุดเหมืองคือ การที่คุณเข้าไปแข่งขันกันเองในเครือข่ายคนขุด เมื่อคุณสามารถสร้าง Hash ขึ้นได้เป็นคนแรก คุณจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญ (Proof of work) ตรงจุดนี้ผู้เขียนขอเว้นการขุดเหมืองแบบ Proof of stake ซึ่งคิดคนละแบบไว้ก่อนน่ะครับ
สาระสำคัญของการขุดเหมืองจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณถือเหรียญ คุณถือเหรียญแต่คุณไม่ขุด คุณก็ไม่ได้รางวัล แต่คุณต้องขุด (แข่งขัน) เพื่อให้ได้รางวัล สาระสำคัญของการขุดจึงคือ “การแข่งขัน” เพื่อให้ได้รางวัลครับ
ผู้เขียนอยากให้ลองพิจารณามาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า “เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว” ซึ่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังต่อไปนี้ (1) การเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่าง ๆ ร้อยละ 60”
เท่ากับว่าเงินได้จากการแข่งขันถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีโดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ครับ
แล้วจะหักภาษียังไงนั้น ถ้าเป็นการแข่งขันต้องดูข้อ 9 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 บัญญัติว่า “ให้บุคคล บริษัท … ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา … เฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0” เท่ากับว่าแข่งขันได้เงินมา 100 บาท คนมอบรางวัลต้องหัก 5 บาทนำส่งกรมสรรพากร
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า มาตรา 40 (4) (ซ) บัญญัติว่าผลประโยชน์ที่ได้จาก “การถือหรือการครอบครอง” เท่ากับว่าคุณจะได้ผลประโยชน์นี้จากการถือหรือการครอบครอง โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร คุณก็ต้องได้ เช่น คุณถือ BTC แล้วคุณได้ Bitcoin cash คนที่ถือ BTC ได้ Bitcoin cash กันทุกคน ไม่ต้องแข่งขันอะไร คุณก็ได้
ต่างจากมาตรา 40 (8) น่ะครับ คุณจะได้เงินเมื่อคุณชนะการแข่งขัน ผู้เขียนจึงขอเห็นต่างกับนักเขียนทุกท่านว่าการขุดเหมืองเป็นรายได้ตามมาตรา 40 (8) คือเงินได้จากการแข่งขัน ผู้ชนะที่ได้เหรียญสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 60 และผู้จ่ายรางวัลต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 5
ทีนี้บางท่านบอกว่าตอนที่คุณขุดแล้วได้เหรียญยังไม่ต้องเสียภาษี ไปเสียตอนที่ขายเป็นเงินสดแล้ว ตรงนี้คงต้องเทียบเคียงตัวอย่างครับ
วันก่อนผู้เขียนดูปริศนาฟ้าแลบของคุณปัญญา (ไม่แน่ใจทำให้มีปัญญารึเปล่า) คุณปัญญาบอกเก็บสายฟ้าได้ 3 สายฟ้ารับรถ Toyota มูลค่า 635,000 บาท สมมติผมเก่งมากเก็บได้ 3 สายฟ้า ได้รถกลับบ้าน ผมต้องถูกคุณปัญญาหักภาษี ณ ที่จ่ายเลยน่ะครับ (ซึ่งการแข่งขันหรือการชิงโชคส่วนใหญ่ ผู้จัดจะเสียภาษีตรงนี้ให้ เห็นได้จากการชิงโชคชาเขียวยี่ห้อดัง) และผมต้องนำเงินได้จำนวน 635,000 บาทไปเสียภาษีตอนสิ้นปีด้วยครับ เพราะกรมสรรพากรคงไม่รอให้ผมขายรถแล้วค่อยมาเก็บภาษีแน่นอนครับ
ทีนี้มายกตัวอย่างวิธีการเสียภาษีกันครับ
บริษัท CAX ทำ ICO ออกเหรียญ CAX Coin ใช้หลัก Proof of work โดยออกเหรียญจำนวน 1,000,000 เหรียญ แต่ออกขายต่อนักลงทุน 600,000 เหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 400,000 เหรียญเก็บไว้เป็น rewards สำหรับคนที่สร้าง Hash ขึ้นได้เป็นคนแรก
บริษัท CAX ทำ ICO ประสบความสำเร็จ ต่อมานาย A สามารถสร้าง Hash ได้เป็นคนแรก ระบบจึงทำการโอน CAX Coin ให้นาย A จำนวน 100 เหรียญ มูลค่า ณ ขณะนั้น 100,000 บาท
นาย A จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจำนวน 5,000 บาท
ส่วนวิธีการหักก็แล้วแต่กรมสรรพากรจะกำหนดครับ จะให้นาย A โอนเงินสดจำนวน 5,000 บาทให้บริษัท CAX หรือบริษัท CAX หักเหรียญจำนวน 5 เหรียญไปขายได้เงิน 5,000 บาทแล้วนำส่งกรมสรรพากรก็ได้ครับ
ตรงนี้ปัญหาจะเกิดกับ BTC ครับ เพราะคนจ่ายชื่อ Satoshi Nakamoto ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเค้าอยู่แห่งหนตำบลใด ถ้าโชคดีเป็นคนต่างประเทศก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะเป็นเงินได้ที่จ่ายจากต่างประเทศ
บางท่านถามต่อว่าตอนขุดเหรียญได้จะประเมินราคาอย่างไร ตรงนี้ต้องกลับไปที่ตัวกฎหมายครับ มาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่จำเป็นต้องคำนวณราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด” เท่ากับว่าตีราคาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกาศกำหนด
ผมยกตัวอย่างต่อว่า
นาย A ไม่ขาย CAX coin จนถึงสิ้นปี
เท่ากับนาย A มีเงินได้พึงประเมิน 100,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 เท่ากับหักได้ 60,000 บาท
คงเหลือเงินได้พึงประเมิน 40,000 บาท
ซึ่งตามประมวลรัษฎากรไม่ต้องเสียภาษี
นาย A จึงมีสิทธิขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ชำระไปแล้ว 5,000 บาทคืนจากกรมสรรพากร
แล้วถ้ากรณีตัวอย่างอื่นบ้างครับ
สมมตินาย A เอา CAX coin ไปขายทั้งหมด ได้เงิน 300,000 บาท
เท่ากับนาย A มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) คือเงินได้จากการเทรด
เมื่อนาย A มีต้นทุนแล้ว 100,000 บาทจากการตีราคาตอนแรก
เท่ากับนาย A มีกำไร 200,000 บาท ต้องถูกหักภาษีเงินได้จำนวน 30,000 บาทนำส่งกรมสรรพากร
สิ้นปีนาย A ถือว่ามีเงินได้พึงประเมิน 300,000 บาท
ตรงนี้ต้องแยกเงินได้เป็น 2 ช่วงน่ะครับ ถือว่า
ตอนขุดมีเงินได้พึงประเมิน 100,000 บาท ตามมาตรา 40 (8)
ตอนขายมีเงินได้พึงประเมิน 200,000 บาท ตามมาตรา 40 (4) (ฌ)
เงินได้พึงประเมิน 100,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 เท่ากับหักได้ 60,000 บาท
เงินได้พึงประเมิน 200,000 บาท หักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย
คงเหลือเงินได้พึงประเมิน 240,000 บาท
สมมติไม่มีหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนอื่นแล้วกันครับ คำนวณตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได นาย A ต้องเสียภาษี 9,000 บาท
แต่นาย A เคยถูกหักภาษีไปแล้ว 5,000 + 30,000 = 35,000 บาท เท่ากับขอคืนภาษีได้ 26,000 บาท
ในเชิงทฤษฎีคิดคำนวณได้เท่านี้ครับ มาดูปัญหาในเชิงปฏิบัติกันดูบ้าง
ประการแรก กรมสรรพากรไม่มีทางทราบได้เลยว่านักขุดได้เหรียญ (รางวัลจากการแข่งขัน) ตอนไหนเพื่อที่จะนำมาตีราคาเป็นเงินได้ (ขนาดนักขุดเองยังไม่รู้เลยครับว่าได้ตอนไหน เพราะเปิดเครื่องทิ้งไว้) เท่ากับว่าตอนขุดขึ้นมาได้ ตีราคา ณ เวลาได้รางวัลยากมาก ตรงนี้กรมสรรพากรอาจแก้ไขโดยการให้ถือว่าเวลาขายเหรียญครั้งแรกเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) และให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 ของราคาขายไปเลย
ประการที่สอง หากกรมสรรพากรให้ถือว่าเวลาขายเหรียญครั้งแรกเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปเลย กรมสรรพากรจะแยกอย่างไรว่าคนนี้ขายเหรียญจากการขุด คนนั้นขายเหรียญที่ซื้อมาจากกระดานอื่น จะใช้การขึ้นทะเบียนก็คงไม่ได้ เพราะคนขุดก็ซื้อเหรียญมาจากกระดานเทรดได้
ประการสุดท้าย ต่อให้หาวิธีแยกระหว่างคนขุดกับคนเทรดได้ กระดานเทรดที่น่าจะถูกกำหนดให้เป็นคนหักภาษีเงินได้ จะแยกอย่างไรว่าเหรียญไหนมาจากการขุด เหรียญไหนมาจากการเทรด จะให้คนขุดแจ้งเป็นรายเหรียญเลยก็คงทำได้ยากครับ
เรื่องการขุดเหรียญแบบ Proof of stake มีหลายแบบซึ่งก็มีแนวคิดที่แตกต่างกันน่ะครับ ไว้โอกาสหน้าค่อยมาว่ากัน แต่การขุดเหรียญแบบ Proof of work คงเป็นมหากาพย์ยาวที่ต้องฝากกรมสรรพากรไปคิดต่อแล้วครับ