fbpx

สรุปประกาศ กลต เรื่องหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ออก ICO และผู้ให้บริการ ICO Portal

หลังจากที่มีประกาศ พรก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ล่าสุด ทาง กลต ก็ได้ออกประกาศภายใต้ พรก ดังกล่าวออกมาอีก 2 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวกับผู้เสนอขาย ICO ของตนเอง และ ผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล

สรุปประกาศ กลต เรื่องหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ออก ICO และผู้ให้บริการ ICO Portal

6 Jul 2018

หลังจากที่มีประกาศ พรก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ล่าสุด ทาง กลต ก็ได้ออกประกาศภายใต้ พรก ดังกล่าวออกมาอีก 2 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวกับผู้เสนอขาย ICO ของตนเอง และ ผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งโดยรวมทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาทั้งสิ้น 39 หน้า วันนี้ เราจึงมาสรุปย่อประกาศดังกล่าวให้ทุกท่านอ่านกันแบบคร่าวๆครับ

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

โดยรวมๆแล้ว ประกาศ 2 ฉบับนี้ จะกล่าวถึง 3party ด้วยกัน ได้แก่ ผู้ลงทุนในICO , ผู้เสนอขายICO และ ผู้ประกอบกิจการ ICO Portal   อธิบายง่ายๆก็คือ ก่อนหน้านี้ การออก ICO โดยทั่วๆไปนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ คือออกประกาศ ICO และระดมทุนจากผู้ลงทุนโดยตรง แต่หลักเกณฑ์ที่ออกมานั้น บังคับให้ผู้เสนอขาย ICO ในไทย จำเป็นต้องใช้ตัวกลางอย่าง ICO Portal เพื่ออำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงเป็นการคัดกรองผู้ออกเหรียญ และคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุน

 

ผู้ลงทุนใน ICO

ในส่วนของผู้ลงทุน ICO นั้น จะถูกแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ผู้ลงทุนสถาบัน
  2. ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ
  3. Venture capital & Private equity
  4. ผู้ลงทุนรายย่อย

โดยผู้ลงทุนรายย่อย จะถูกจำกัดให้ลงทุนได้ไม่เกินคนละ 300,000 บาท ต่อ 1 ICO

 

ผู้เสนอขาย ICO

ในส่วนของคุณสมบัติ และ เงื่อนไข ของผู้ที่ต้องการเสนอขายโทเคน นั้น มีเนื้อหาที่เป็นใจความสำคัญ ดังนี้

  • ต้องเป็น บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • มีคุณสมบัติต่างๆตามหลักเกณฑ์ที่ กลต กำหนด เช่น ไม่เป็นผู้ล้มละลาย , ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย , กรรมการและผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้ใจตามประกาศ กลต , มีงบการเงินที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและไม่มีความเห็นของผู้สอบบัญชีที่เป็นไปในทางลบ(ลองอ่านส่วนนี้ในประกาศนะครับ ไม่อยากลงลึดเพราะรายละเอียดเยอะครับ)
  • ในส่วนของการระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยนั้น จะถูกจำกัดมูลค่าโดยรวมดังนี้ โดยยึดตามมูลค่าที่สูงกว่า
  1. ไม่เกิน4เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกโทเคน
  2. ไม่เกิน 70% ของมูลค่าโทเคนทั้งหมดที่เสนอขาย

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A เป็นบริษัทที่ในงบดุลล่าสุด มีทรัพย์สิน 10ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สิน 2ล้าน และ ส่วนของผู้ถือหุ้น 8ล้าน  ดังนั้น 4เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น คือ 32ล้านบาท

เคสที่ 1 บริษัท A ต้องการออก ICO ระดมทุนมูลค่า 50 ล้านบาท

  • 4เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น คือ 32ล้านบาท
  • 70% ของมูลค่าโทเคนทั้งหมดที่เสนอขาย คือ 35ล้านบาท

ดังนั้น บริษัท A จะสามารถขายโทเคนให้ผู้ลงทุนรายย่อยรวมแล้วไม่เกิน 35ล้านบาท

เคสที่ 2 บริษัท A ต้องการออก ICO ระดมทุนมูลค่า 40 ล้านบาท

  • 4เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น คือ 32ล้านบาท
  • 70% ของมูลค่าโทเคนทั้งหมดที่เสนอขาย คือ 28ล้านบาท

ดังนั้น บริษัท A จะสามารถขายโทเคนให้ผู้ลงทุนรายย่อยรวมแล้วไม่เกิน 32ล้านบาท

โดยทุกกรณีจะถูกจำกัดยอดการลงทุนต่อรายของผู้ลงทุนรายย่อย ไม่เกินรายละ 300,000 บาท ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

และยังมีเงื่อนไขอื่นๆเช่น ผู้เสนอขายจะต้องส่งงบการเงินต่างๆให้ทาง กลต ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าโครงการที่ได้เสนอไว้จะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้ผู้ถือ Utility token สามารถใช้สิทธิต่างๆในโครงการนั้นได้แล้ว

ในส่วนของค่าธรรมเนียมที่ผู้เสนอขาย ICO ต้องชำระนั้น ในประกาศมีการระบุไว้ว่ามีการอนุโลม แต่ในตัวประกาศมิได้มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจนแต่อย่างใด โดยขั้นตอนของการขออนุญาตจะเป็นไปตามภาพด้านล่าง

 

ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคน (ICO Portal)

โดย ICO Portal นั้น จะเปรียบเสมือนด่านแรกของการออก ICO  คือผู้เสนอขาย ICO จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ICO Portal ก่อน ว่ามีคุณสมบัติต่างๆที่เหมาะสม ตรวจสอบว่ามีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และ เชื่อได้ว่าไม่ใช่เป็นการหลอกลวงประชาชน  รวมไปถึงตรวจสอบSource code ใน Smart contract ว่าตรงกับร่างหนังสือชี้ชวน และมีหน้าที่ให้ความเห็นต่อ กลต รวมถึงรายงานต่อ กลต หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติต่างๆขึ้น ให้คำแนะนำแก่ผู้เสนอขาย ICO ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆที่มีต่อผู้ลงทุน และจัดเก็บข้อมูลต่างๆเพื่อให้ กลต ตรวจสอบได้ และยังต้องเป็นผู้จำทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆของผู้ลงทุน เช่น การทำ KYC , การจัดประเภทผู้ลงทุน  และติดต่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุน

ดูเหมือน ICO Portal จะเป็นผู้รับบทหนักในครั้งนี้ คือ ต้องเป็นทั้งตัวกลางระหว่าง ผู้เสนอขาย ICO กับ กลต และระหว่าง ผู้เสนอขาย ICO กับ ผู้ลงทุน ด้วย

โดยคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเป็น ICO Portal ในข้อที่สำคัญๆจะมีดังนี้

  1. เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5ล้านบาท
  2. กรรมการ และ ผู้บริหาร ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศ กลต
  3. ต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ ความสามารถ และมีจำนวนเพียงพอในการประกอบธุรกิจ
  4. มีความพร้อมในระบบต่างๆเช่น
  • ระบบงานคัดกรองโทเคนที่จะเสนอขาย
  • ระบบในการติดต่อและให้บริการกับผู้ลงทุน
  • ระบบการเสนอขายและจัดการค่าจองซื้อ
  • ระบบ IT Security ต่างๆที่มีความปลอดภัยเพียงพอ

โดยเงื่อนไขอื่นๆในการประกอบกิจการ ICO Portal ก็มีเช่น ต้องปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ลงทุนที่ไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการทำ KYC (เพื่อป้องกันการฟอกเงิน)  แจ้งให้ผู้ลงทุนทราบถึงความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล  และ ICO Portal จะต้องเป็นผู้เก็บรักษาค่าจองซื้อต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเสนอขาย แล้วจึงโอนให้ผู้เสนอขาย ICO เมื่อการจองซื้อครบมูลค่าที่กำหนด

และ ทาง ICO Portal จะต้องเป็นผู้โอนสินทรัพย์ต่างๆคืนให้ผู้ลงทุน หากเกิดกรณีที่โทเคนไม่สามารถขายได้ถึงมูลค่าที่กำหนด (Soft cap) หรือ มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า ผู้เสนอขาย ICO มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆที่เป็นเท็จ หรือเชื่อได้ว่าเป็นการหลอกลวง

รวมถึง ICO Portal กับผู้เสนอขาย ICO นั้น จะต้องไม่มีลักษณะที่มี Conflict of interest ซึ่งกันและกัน (เช่นมีอำนาจในโครงสร้างผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นร่วมกัน หรือ มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่จะทำให้เกิดการบิดเบือนหรือความไม่โปร่งใสในการพิจารณาคุณสมบัติได้)

โดยส่วนของ ICO Portal นั้น มีการระบุค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอที่ 50,000 บาท และค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ ปีละ 100,000 บาท

 

ประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจ

ในประกาศ2ฉบับที่ออกมานั้น ระบุแล้วว่า สามารถระดมทุนได้ในรูปของ Cryptocurrency และ เงินบาท โดยตามข้อมูลที่ผู้เขียนมีนั้น Cryptocurrency ตามที่ กลต ระบุ จะประกอบไปด้วย Bitcoin , Bitcoin Cash ,Ethereum , Ethereum Classic , Litecoin , Ripple และ Stellar

และในตอนหนึ่งของประกาศได้มีการระบุเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านเงินบาทไว้ดังภาพด้านล่าง

ซึ่งหมายความว่าจะมีตัวกลางอีกหนึ่งชั้น ในการเก็บดูแลทรัพย์สินของผู้ลงทุน ในช่วงที่การระดมทุนกำลังดำเนินอยู่

ซึ่งโดยรวมตามประกาศ 2 ฉบับนี้นั้น คงจะทำให้ ICO ต่างๆในประเทศไทย ได้รับการคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น  ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกลวงโดย ICO ที่เป็น Scam ต่างๆ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ลงทุนก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า การถูกคัดกรองมาแล้วว่าไม่หลอกลวง ไม่ได้รับประกันความสำเร็จของโครงการนั้นๆ ความเสี่ยงในการลงทุนนั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่ ICO ที่ผ่านขั้นตอนต่างๆตาม กลต กำหนดนั้น ก็จะเชื่อถือได้ว่าไม่ได้เป็น Scam ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ ที่ไม่มีความรู้มากนัก ได้มีโอกาสลงทุนใน ICO ที่ถูกคัดกรองมาแล้ว

แต่ในอีกแง่หนึ่ง คงต้องดูกันว่า ด้วยขั้นตอนที่มากมายนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อ Ecosystem ของ Cryptocurrency ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เสนอขาย ICO เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนหนึ่ง ที่มีประสบการณ์การลงทุนใน Cryptocurrency มาแล้วในระดับหนึ่งนั้น ก็ลงทุนใน ICO ของต่างประเทศโดยที่ไม่มีตัวกลางกันอยู่แล้ว และในแง่ของผู้เสนอขาย ICO นั้น ความสำเร็จของการระดมทุนผ่าน ICO  เมื่อเข้า Exchange นั้น ก็มักจะวัดกันด้วยการระดมทุนได้จากทั่วโลก และการเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเสียมากกว่า พูดกันตรงๆก็คือ นักลงทุนคนไทยนั้นไม่ได้เป็นเป้าหมายเดียวของผู้เสนอขาย ICO อยู่แล้ว   ซึ่งหากจะต้องมาผ่านขั้นตอนต่างๆอันยุ่งยาก และยังมีตัวกลางขึ้นมาอีกมากมายทั้ง ICO Portal , กลต รวมไปถึงตัวกลางที่จะเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของผู้ลงทุนอีก อาจจะทำให้ต้นทุนของการทำ ICO นั้น เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทั้งๆที่จุดเด่นของการระดมทุนผ่าน ICO นั้นคือ การทำได้ง่าย ต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำ และ ความ ‘decentralized’  ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ อาจผลักดันให้คนกลุ่มนี้ หันไปจดทะเบียนในต่างประเทศ และออก ICO ที่ไม่ได้รับระดมทุนเป็นเงินบาทก็เป็นได้

 

ปล. ภาพประกอบทางผู้เขียนได้ขออนุญาตจาก facebook page ของ กลต แล้ว

 

ที่มา bitcoincenter

 

Article
Writer

Maybe You Like

Recent Post