เราจะใช้อะไรวัดว่า altcoin ตัวไหนพื้นฐานดี หรือ ไม่ดี ?
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!สำหรับคนที่เคยอยู่ในวงการหุ้นมาก่อน แล้วเพิ่งเข้าวงการคริปโตฯใหม่ๆ คงจะมีคำถามแบบเดียวกับผมว่า พื้นฐานของaltcoinหรือเหรียญคริปโตฯในตลาดตัวไหนพื้นฐานดีหรือไม่ดี? เราจะดูอย่างไรและดูจากอะไร ถ้าเป็นหุ้นเราสามารถหาพื้นฐานของหุ้นด้วยตัวเราเองได้สบายๆ เพราะหุ้นนั้นมีตำหรับตำรามากมายเขียนขึ้นมาให้เราอ่าน และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ใช้หลักการนั้นมาเนิ่นนาน ในเรื่องของการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น และหุ้นก็มีงบการเงินให้เราดู อัตราส่วนทางการเงินต่างๆให้เราได้วิเคราะห์กัน ก็พอจะรู้ได้แล้วว่าหุ้นตัวไหนพื้นฐานดีหรือไม่ดี ข้อมูลก็หาได้ง่ายๆที่เว็บของตลาดหลักทรัพย์ฯเอง คือเว็บ www.set.or.th มีข้อมูลครบถ้วนตามที่ต้องการ
ผมขอยกตัวอย่างแนวทางของหุ้นพื้นฐานดีคร่าวๆให้ดูดังนี้นะครับ
- PE 10 เท่า ยิ่งต่ำยิ่งดี
- DE 1 เท่า ยิ่งน้อยยิ่งดี
- ROA มากกว่า 15%
- ROE มากกว่า 15%
- PBV น้อยกว่า 1
- รายได้เติบโตขึ้นทุกปี
- กำไรเพิ่มขึ้นทุกปี
- อัตราการเติบโตย้อนหลัง 30% โตเฉลี่ยทุกปี
- กระแสเงินสดดี
- มีหนี้สินไม่เยอะ ยิ่งน้อยยิ่งดี
- มีเงินสดในมือเยอะๆ ยิ่งดี
- มีปันผลอย่างน้อย 3-5%ต่อปี
เหล่านี้คือตัวอย่างคร่าวๆสำหรับการวิเคราะห์ว่า หุ้นแบบไหนพื้นฐานดีหรือไม่ดี จะวิเคราะห์แบบนั้นได้ เราก็ต้องมีข้อมูลในอดีตและตัวเลขทางบัญชีหรืองบการเงินนั้นเองถึงจะวิเคราะห์ แล้วเข้าไปลงทุนตามตำราได้
แล้วในวงการคริปโตฯหรือบล็อกเชนล่ะ ?
จะใช้อะไรวัดว่าเหรียญไหนพื้นฐานดีหรือเหรียญไหนพื้นฐานไม่ดี เพราะมันไม่มีงบการเงิน ไม่มีข้อมูลทางบัญชีให้ดู ถ้าจะใช้การวิเคราะห์แบบหุ้นก็คงทำได้ยาก ทว่ามันก็พอมีหลักการวิเคราะห์ในแบบฉบับของคนในวงการเหมือนกัน หลักใหญ่ๆที่ผมใช้ประจำ มีดังนี้ครับ
ทีม(Team)
นี่คือหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานของวงการนี้ที่จะมองข้ามและปฎิเสธเสียมิได้เลยว่า มันโคตรจะสำคัญมากๆ มองแค่ทีมหรือตัวบุคคลก็อาจตัดสินได้เลยว่าเหรียญนั้นๆเป็นเหรียญพื้นฐานดีหรือไม่ดีก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ zcoin ที่มี Lead Team อย่างคุณหนึ่ง ปรมินทร์ อินโสม เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมพัฒนา ซึ่งตัวคุณหนึ่งเองและทีมนั้น อยู่ในวงการ Blockchain มาอย่างน้อยๆ 5 ปีขึ้นไป ก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าประสบการณ์และความสามารถจะเป็นอย่างไร ผลงานย่อมเป็นคำตอบให้กับคำถามนั้นอยู่แล้ว หรือ จะเป็นเหรียญ Ethereum ที่มีศาสดา Vitalik Buterin เป็น Lead Team และผู้ร่วมก่อตั้ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Vitalik หายไปจากการทวิตราวๆสามวัน มีผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวลือออกมาว่าVitalikเสียชีวิต ถึงกับทำให้ราคาของ Ethereum ร่วงเลยทันทีประมาณ 5-10% ผมสมมติว่า ถ้าวันหนึ่งVitalik ไม่อยู่ในทีมEthereum แล้วออกไปทำเหรียญใหม่ขึ้นมาสร้างทีมใหม่ ออกเหรียญมาแข่งกับ Ethereum ก็ไม่รู้ว่าเหรียญ Ethereum จะมีราคาเท่าไหร่ ถ้ามันเป็นไปตามที่ผมสมมติขึ้นมาจริงๆ
ที่ปรึกษา(Advisor)
สำหรับที่ปรึกษาอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวโปรเจคมากนัก ทว่าก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ยิ่งมีที่ปรึกษาที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือคนดังในวงการก็จะยิ่งดี ทำให้โปรเจคนั้นๆดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หรือถึงขั้นเพิ่มมูลค่าให้กับโปรเจคนั้นๆเลย ยกตัวอย่างเช่น Vitalik ศาสดาแห่งวงการ Blockchain ยุคปัจจุบันที่ใครๆก็รู้จักเป็นอย่างดี ถ้าเขาไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโปรเจคไหน โปรเจคนั้นจะดูน่าสนใจมากๆขึ้นมาทันทีเลย หรือจะเป็นบุคคลดังๆในวงการท่านอื่นๆ เช่น dr.gavin wood หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Parity Technologies อีกด้วย หรือจะเป็น Anthony Dilorio ก็เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และยังเป็นผู้ก่อตั้งกระเป๋าเก็บเหรียญชื่อดังนาม Jaxx อีกด้วย เป็นต้น บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในวงการเหล่านี้ที่เป็นผู้ก่อตั้งโปรเจคดังๆมาก่อน ถ้าไปเป็นที่ปรึกษาให้โปรเจคไหน โปรเจคนั้นก็น่าสนใจขึ้นและหมายรวมถึงพื้นฐานของมันจะดีตามไปด้วยเลยครับ
พาร์ทเนอร์(Partner)
ตรงจุดนี้จะคล้ายๆกับที่ปรึกษา (Advisor) ต่างกันที่ส่วนใหญ่จะเป็นในนามองค์กรหรือบริษัทแทนมากกว่า หรืออาจจะเป็นเหรียญดังๆในตลาดก็ได้ ตัวอย่างเช่น โปรเจคนามว่า zippie ที่มี Partner เป็นเหรียญดังในตลาดไม่ว่าจะเป็น StreamR,Nebulas,Sentinel Protocol บางโปรเจคก็มีการประกาศจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจจริงๆที่ไม่ได้อยู่ในวงการคริปโตฯหรือบล็อกเชน เช่น Nokia ประกาศเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง StreamR เพื่อใช้เทคโนโลยีของ StreamR ในการซื้อขายข้อมูลแบบเรียลไทม์กันได้ ก็ส่งผลให้เหรียญของ StreamR ดูดีขึ้นมาอย่างมากเลย
โซเชี่ยลมีเดีย(Community)
สื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น twitter,facebook,telegram,slack,discord คืออีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อทุกโปรเจคในวงการคริปโตฯเลยก็ว่าได้ เพราะมันจำเป็นต้องใช้สื่อสารกับผู้ที่สนใจในโปรเจคนั้นๆ สื่อสารกับแฟนคลับกับตัวโปรเจคเอง ประกาศข่าวต่างๆที่สำคัญกับตัวโปรเจคเอง ทีมงานหรือแอดมินก็ต้องคอยโพสท์หรือสื่อสารกับคนที่ติดตามอยู่เสมอๆ ยกตัวอย่างเช่น NEO เทคโนโลยีของเหรียญนี้อาจจะไม่ดีมากนัก ล่มก็บ่อยมาก ทว่า Community รักโปรเจคนี้มาก และเชียร์กันบ่อยๆหรือพูดแต่สิ่งดีๆกับโปรเจคนี้ ก็ส่งผลต่อราคาขึ้นได้เช่นกัน และราคาไม่ค่อยลงมากนัก
การตลาด(Marketing)
การตลาดใครว่าไม่สำคัญสำหรับวงการนี้ ส่วนตัวผมนั้นคิดว่าสำคัญมากๆ มันคือการสร้างการรับรู้ในตัวเหรียญหรือแบรนด์นั้นๆ ยิ่งเหรียญไหนเน้นในเรื่องการตลาดที่จะทำให้คนรับรู้ว่า โปรเจคของตัวเองคืออะไร จะทำยังไงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่ายๆยิ่งน่าสนใจยิ่งครับ เพราะวงการนี้มันยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ถ้าโปรเจคไหนสามารถทำการตลาดได้ดีให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ อันนี้แหละน่าสนใจมากๆ มันก็จะแปลว่าคนจะเข้าไปถือเหรียญนั้นๆมากขึ้นเรื่อยๆ
โค้ด(Github)
ถ้าไม่ใช่สาย dev อาจจะดูยากและไม่เข้าใจโค้ดของโปรเจคนั้นๆเลย ส่วนถ้าใครเป็นสายdevจะได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะจะดูออกเลยว่าโปรเจคนั้นๆพื้นฐานดีหรือไม่ดีอย่างไร copyโค้ดมาจากโปรเจคอื่นไหม? ก็จะพอรู้ได้เลย บางคนถึงกับบอกเลยว่าเหรียญนี้โค้ดสวยมากๆกันเลยทีเดียวครับ ซึ่งตัวผมเองก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า คำว่าโค้ดสวยมากๆนี้มันเป็นยังไงกันแน่ เพราะตัวผมเองไม่ใช่สายdevตรงจุดนี้เลยอธิบายให้เข้าใจกันได้ยากสักหน่อย
เทคโนโลยี(Technology)
นอกจากBlockchainที่เป็นเมนหลักของเทคโนโลยีนี้แล้ว ก็จะมีหลายๆโปรเจคที่มีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้Blockchainดีขึ้น ทำอะไรได้ง่ายขึ้น เช่น บางโปรเจคจะมาทำให้การสร้าง Smart Contract ง่ายขึ้น คนทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาคอมพ์ก็สามารถสร้าง Smart Contract บน Blockchain ได้ง่ายๆเพียงไม่กี่คลิก ดั่งเช่น โปรเจคที่ชื่อว่า BlockCAT, Etherparty เป็นต้น ตัวอย่างเทคโนโลยีอื่นๆเช่น
- Cross Chain เทคโนโลยีที่จะทำให้ Chain ที่แตกต่างกันสามารถสื่อสารกันได้ ส่งเหรียญข้ามแพลตฟอร์ม
- Scalable,Sharding จะมีบางโปรเจคมาแก้ปัญหาใหญ่ของBlockchain คือ Scaling สมมติว่าคนล้านคนทำธุระกรรมพร้อมๆกัน ก็จะเกิดปัญหากับBlockchainทันที
- Decentralized Data Exchange หรือจะเรียกว่าBig Data ก็คงไม่ผิดมากนัก ตัวอย่างโปรเจคที่เน้นในเรื่องนี้ก็เช่น data(StreamR),Ocean Protocol
- Decentralized Exchange แบบ Trustless ตัวอย่างโปรเจคเช่น Kyber Network
หรือจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาผนวกกับ Blockchain เช่น
- IoT(Internet of Things)
- Machine Learning
- AI(Artificial Intelligence)
- RFID Chips(Radio Frequency Identification)
- Web3.0 หรือ Dapp Browser
สุดท้ายท้ายสุด คือ การทำให้ได้ ตามที่ได้ประกาศไว้ ดั่งเช่น Roadmap โปรเจคนั้นๆประกาศเอาไว้ ถ้าทำไม่ได้ตามนั้น คนที่ถือเหรียญอยู่ก็อาจขาดความศรัทธาและเชื่อมั่นในเหรียญนั้นๆก็ได้ ก็จะเกิดการเทขายกันออกมา ย่อมส่งผลต่อราคาในปัจจุบันและอนาคตได้เลยทีเดียว อย่าลืมว่าวงการนี้มันไม่มีงบการเงินให้ดู ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นและศรัทธาของคนที่ถือเหรียญนั้นๆอยู่
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น คือแค่เบื้องต้นในการวิเคราะห์เท่านั้น และส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ว่า โปรเจคไหนน่าลงทุนระยะยาว หรือ เหรียญไหนในตลาดพื้นฐานดีหรือไม่ดีอย่างไร ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องดู ดูให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกราฟ จังหวะการเข้าซื้อ จังหวะการขาย
ย้ำอีกครั้ง เมนหลักของการวิเคราะห์พื้นฐานaltcoinในบทนี้ คือ ทีม(Team),ที่ปรึกษา(Advisor),พาร์ทเนอร์(Partner),โซเชี่ยลมีเดีย(Community),การตลาด(Marketing),โค้ด(Github),เทคโนโลยี(Technology) ในบทความต่อไปในเรื่องเดียวกันนี้
ผมจะเขียนถึงการเจาะลึกพื้นฐานของเหรียญ โดยจะเน้นที่ทีมกับเทคโนโลยี สองจุดที่เราควรเจาะลึกและให้ความสำคัญ ในเรื่องของพื้นฐาน altcoin ครับ
เขียนโดย Mr.Jakraphan Saetiao