สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะขอนำเสนอซีรีย์ใหม่ที่ชื่อว่า Blockchain the disruption technology โดยคอนเซปต์ของซีรี่ย์นี้คือผมต้องการนำเสนอมุมมองที่ว่า Blockchain สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้างและมันมีผลอย่างไรในอุตสาหกรรมต่างๆนอกจากแค่การเก็งกำไรใน Cryptocurrency ซึ่งก่อนที่ผมจะไปเล่าถึงมันผมอยากแชร์ให้ฟังว่าแรงบันดาลใจในการเขียนซีรี่ย์นี้คือความเข้าใจผิดต่างๆที่เกี่ยวกับ Blockchain ที่ผมได้ยินมา สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจคือ Blockchain นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีครอบจักรวาล มันมีทั้งข้อดีข้อเสียในตัวเอง ซึ่งถ้านำไปใช้ถูกวิธีมันก็จะส่งผลที่ดีมากต่ออุตสาหกรรมนั้นๆ และที่มันเป็นที่พูดถึงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นเพราะว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปแตะ “ระบบการเงิน” ของโลกซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของมนุษยชาติทำให้มันถูกพูดถึงในวงกว้างมากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆนั่นเอง
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!
ระบบ Blockchain กับระบบบัญชี
ในวันนี้เราจะมาพูดถึงความสัมพันธ์ของบัญชีกับ Blockchain กับเพราะจริงๆแล้วระบบบัญชีนั้น (ledger) เป็นระบบที่สามารถนำ blockchain มาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ ซึ่งถ้าเรามองภาพอนาคตอันแสนไกล (ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่) ซักวันหนึ่งอาชีพบัญชีอาจจะมีบทบาทลดลงเพราะทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ด้วยคอมพิวเตอร์และระบบ Blockchain ที่จะไม่มีวันผิดพลาด และที่ Blockchain สามารถใช้ประโยชน์กับระบบบัญชีได้สูงสุดเพราะจุดเด่นสำคัญของ Blockchain และสิ่งที่ระบบบัญชีต้องการนั้นมันคือสิ่งเดียวกันนั้นคือ “ความถูกต้องของข้อมูล”
บัญชีคืออะไรทำไมต้องมีบัญชี
บัญชีคืออะไร แล้วทำไมเราต้องมีบัญชี ย้อนไปในอดีตในสมัยที่มนุษยชาติเริ่มรู้จักการเขียนและจดบันทึกในสมัยนั้นระบบเงินตรายังไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากนัก แต่แน่นอนว่าการซื้อขายต่างๆก็มีมากเกินกว่าที่สมองของของมนุษย์จะจำได้ มนุษย์ชาติจึงได้คิดค้นระบบัญชีเล่มเดียวหรือที่เรารู้จักกันในนามว่า single entry accounting system ซึ่งเป็นการจดบันทึกแบบคอลลัมเดียวเช่นว่าวันนี้เราขายอะไรไปบ้าง ซึ่งมันมีมาตั้งแต่สมัยยุคเมโสโปเตเมียเมื่อนานมาแล้ว โดยระบบบัญชีเล่มเดียวนี้มีปัญหาอยู่ว่ามันมีความเสี่ยงมากเกินไป และอำนาจก็ถูกรวมศูนย์มากเกินไป ลองจินตนาการว่าถ้ามีประเทศๆหนึ่งใช้ระบบบัญชีเล่มเดียว ผู้ที่ถือบัญชีจะมีอำนาจเด็ดขาดมากทางการเงิน ถ้าเขาลบรายการทางบัญชีใดๆออกไปอย่างเช่นถ้าเขาลบว่าการซื้อนาฬิกาออกไปจากสมุด ก็จะไม่มีหลักฐานใดๆว่าเคยมีการซื้อขายนาฬิกาเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ (บอกว่ายืมเพื่อนมาเข้าใจไหมปั้ดโถ่ววววว)
ระบบบัญชีคู่
และในยุคต่อมาระบบบัญชีเดียวก็ได้พัฒนาเป็นระบบบัญชีคู่ในปลายศตวรรตที่ 13 โดยเปลียนจากการเขียนบัญชีแบบคอลัมน์เดียวมาเป็นการจดบัญชีแบบสองคอลลัมน์ โดยสร้างหลักสมการบัญชีที่ว่า สินทรัพย์ เท่ากับ หนี้สินและทุนรวมกัน (asset = debit-credit) ซึ่งมันจะทำให้นักบัญชีนั้นสามารถรู้สินทรัพย์ได้จากสมการนี้และสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้ด้วยหากสมการไม่ถูกต้องก็จะทราบว่าในบัญชีมีข้อผิดพลาด ระบบัญชีคู่ยังช่วยในเรื่องการตรวจสอบได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นหากยริษัทเราไปซื้อเรือดำน้ำในราคา 1,000 ล้านบาทเราก็จะจดบัญชีว่าเรามีรายจ่ายไปให้บริษัทที่ขายเรือดำน้ำ 1,000 ล้านบาท ทำให้ถ้าเราต้องการตรวจสอบว่าเรือดำน้ำที่ซื้อมานั้นซื้อมา 1,000 ล้านบาทจริงหรือเปล่า เราก็แค่ไปตรวจสอบบัญชีที่บริษัทที่ขายเรือดำน้ำ หากยอดเงินไม่ตรงกันเช่นบริษัทที่ขายจดว่าได้รับเงินเพียง 10 ล้านบาท ก็แปลว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ลงยอดในบัญชีผิดนั้นเอง ซึ่งระบบัญชีคู่ก็เป็นระบบที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรในความเป็นจริงนั้นระบบบัญชีมีจำนวนและความซับซ้อนที่มากบางครั้งก็เกิดการปลอมแปลงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ 100% บางทีก็มีการสูญหายบัญชีหรือถ้ามีตำแหน่งสูงๆก็อาจจะใช้อำนาจในการเลี่ยงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน (ด้วยอำนาจแห่ง Mighty44 แห่งนายพลบู่ติ้ก)
ระบบบัญชีสามเล่ม
เนื่องจากสุดท้ายแล้วการปลอมแปลงก็ยังเกิดขึ้นได้ในระบบบัญชีคู่ทำให้ในปี 1989 มีนักบัญชีชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Yuri ได้เขียนแนวคิดของสิ่งที่เรียกว่า Triple entry bookeeping ขึ้นมาโดยแนวคิดของเขาคือการสร้างบัญชีเล่มที่ 3 ขึ้นมาเป็นบัญชีกลางแทนที่จะมีบัญชีแค่สองเล่มระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งบัญชีกลางนี้เป็นเหมือนบัญชีอ้างอิงที่เก็บข้อมูลการซื้อขายระหว่างบัญชีแต่ละฉบับเดินในระบบบัญชีคู่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการปลอมแปลงขึ้นมา แต่แน่นอนว่าการเพิ่มบัญชีขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งไม่ได้แปลว่า การปลอมแปลงจะไม่เกิดขึ้นแต่มันแค่ลดความเสี่ยงต่อการที่บัญชีถูกปลอมแปลงและสูญหายเท่านั้นเอง
ซึ่งระบบบัญชีสามฉบับนั้นได้ถูกนำมาต่อยอดโดย Ian Grigg ซึ่งได้สร้างระบบบัญชีสามฉบับทีเรียกว่า Triple entry accounting system ในปี 2005 โดยได้มีการนำเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่เรียกว่า Cryptography เข้ามาเกี่ยวข้องภายในงานวิจัยนั้นมีการเอ่ยถึงระบบเงินดิจิทัลการใช้สายเซ็นต์ดิจิทัล (digital signature) ในการยืนยันความถูกต้องของบัญชีที่สาม โดยต้องมีการยืนยันข้อมูลจากบุคคลหลายฝ่าย ซึ่งมีบางคนได้กล่าวว่า paper นี้เป็นรากฐานให้งานวิจัยของ David Chaum และ Nick Szabo ที่ถูกต่อยอดมาเป็น Bitcoin ในภายหลังอีกด้วย
Blockchain กับระบบบัญชีสามเล่ม
พอมาถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะงงๆว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับ Blockchain หละพูดแต่บัญชีอยู่ได้ คำตอบก็คือเพราะระบบ Blockchain นั้นเป็นรูปแบบของ Triple entry accounting system เรียบร้อยแล้วแถมยังมีการต่อยอดเพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการปลอมแปลงด้วยระบบห่วงโซ่ของความเป็นเจ้าของ (chain of ownership) เรียบร้อยแล้วซะด้วย โดยพื้นฐานแล้ว Blockchain คือระบบบัญชีธรรมดาที่เก็บข้อมูลเป็น block ถูกเชื่อมโยงกันด้วย chain เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปลอมแปลง และถูกกระจายไปยังคอมพิวเตอร์อื่นๆ หากคิดจะปลอมแปลงบัญชีของระบบนั้นก็ต้องปลอมแปลงบัญชีเกินครึ่งของสำเนาที่มีเก็บไว้ เช่น อย่างในกรณีของ Bitcoin ที่มีสำเนากว่า 10000 แห่งก็ยิ่งยากที่จะปลอมแปลงทั้งหมด สำเนาบัญชีของ bitcoin นั้นยังถูกเก็บแบบสาธารณให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้โดยการบันทึกธุรกรรมตั้งแต่ปี 2009 จวบจนปัจจุบัน ทำให้ในฐานะบัญชีแล้ว Bitcoin นั้นเป็นบัญชีที่โปร่งใสและมีมูลค่าที่สุดในโลกนั้นเอง
แน่นอนว่าในระบบบัญชีสามฉบับนี้มันก็มีปัญหาอยู่ว่า เราจะทราบได้ยังไงว่าสิ่งที่เขียนลงไปในบัญชีมันถูกต้องแน่นอน และต่อให้ระบบจะดีแค่ไหน ถ้าเขียนผิดหรือมีใครใส่ข้อมูลมั่วๆลงไปก็คงจะผิดพลาดได้ ระบบของ Bitcoin นั้นเป็นระบบบัญชีสาธารณะที่ใช้กฎ Proof-of-work ว่าใครจะได้รับสิทธิในการเขียนบัญชีและใช้หลักของ Cryptography ในการยืนยันตัวตนของผู้ทำธุรกรรม ทำให้มีความปลอดภัย
แต่ถ้าเรามาพูดถึงในระดับองค์กรที่เป็นระบบปิดบ้างหละมันทำอย่างไรกัน เรามาดูตัวอย่างกันสมมุติว่าในการค้าขายข้าวที่มีผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ชาวนา โรงเก็บวัตถุดิบ โรงสี ผู้กระจายสินค้า สิ่งที่คนเหล่านี้ทำคือพวกเขาจะเก็บสมุดบัญชีที่มีสำเนาข้อมูลเล่มเดียวกัน แล้วทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงหละว่าใครจะมีสิทธิเขียนบัญชีเพิ่มขึ้นไปแล้วมันจะถูกต้องหรือเปล่า จริงๆแล้วมันมีคำตอบและเงื่อนไขมากมายที่สุดแล้วแต่คนจะออกแบบครับ แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือใครก็ตามก็สามารถเขียนสมุดบัญชีเพิ่มได้ครับ เพียงแต่คนที่เหลือจะต้องยอมรับว่าการเขียนเพิ่มนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เช่น ชาวนาเขียนลงไปในสมุดบัญชีว่าขายข้าว 1 ตันให้โรงสีราคา 20,000 บาทลงไปในสมุดบัญชี ข้อมูลนี้ก็จะถูกส่งไปให้คนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ถ้าทุกคนยอมรับในการเขียนเพิ่มนี้ ข้อมูลก็จะเก็บลงสมุดบัญชีของคนทุกคน
อาจจะมีคนที่ถามว่าแล้วถ้าเราเขียนผิดหละเราจะแก้ไขบัญชีได้หรือเปล่า ถ้าใช้คำตอบทางทฤษฎีคำตอบคือ “ได้ครับ” แต่ทางปฎิบัติมันยากมาก วิธีที่เราจะทำได้คือเช่นถ้าเราจะแก้สมุดบัญชีที่เคยเขียนว่ามีการซื้อขายข้าว 1 ตันแลกกับเงิน 20000 บาทให้กลายเป็น 30000 บาท มันก็ทำได้เพียงแต่คุณต้องไปไล่แก้สมุดบัญชีของคนทุกคนหรือคนทุกคนที่มีสมุดบัญชีจะต้องเห็นด้วยกับคุณ ยิ่งจำนวนสมุดบัญชีนั้นมีมากเท่าไหร่โอกาสที่เราจะปลอมแปลงบัญชีก็ยิ่งยากขึ้นไปด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของ Blockchain กับระบบบัญชี
มันมีประโยชน์ยังไงกันกับระบบสมุดบัญชีบน Blockchain คำตอบคือมันร่นระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลทางเอกสารมาก ในระบบดั้งเดิมสมมุติว่าคุณเป็นโรงสีคุณอยากตรวจสอบบัญชีของคนที่เหลือว่ามันถูกต้องไหมมันจะเป็นอะไรที่กินเวลาและยากที่จะเชื่อถือได้ เพราะข้อมูลทั้งหมดนั้นอยู่ในมือของคนแต่ละคน ซึ่งเราไม่ทราบเลยว่ามันถูกปลอมแปลงอะไรได้บ้างหรือเปล่าเพราะอย่างนั้นขั้นตอนการตรวจสอบบัญชีด้วยเอกสารหรือระบบคอมพิวเตอร์จึงกินระยะเวลาที่นานมากๆ และยิ่งถ้าระบบมีความซับซ้อนการตรวจสอบก็ใช้ระยะเวลา
ยิ่งบริษัทใหญ่ๆที่ต้องจ้าง Auditor เข้ามาตรวจสอบบัญชีทั้งต้นทุนและระยะเวลานั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยระบบ Blockchain ที่ทุกคนมีบัญชีร่วมกันทุกอย่างจะง่ายดาย เพราะทุกคนถือข้อมูลชุดเดียวกันแล้ว แทนที่เราต้องยื่นเอกสารตรวจสอบขอลายเซ็นต์จากคนโน้นคนนี้กว่าจะมั่นใจได้ว่ามันถูกต้องแล้ว เราก็ตรวจสอบจาก Blockchain และได้คำตอบอย่างรวดเร็ว ในตัวอย่างที่ผมยกจะมีคนถือสมุดบัญชีแค่ไม่กี่คน แต่ถ้ามีคนถือสมุดบัญชีมากขึ้นๆ ความถูกต้องจะยิ่งแน่นอนขึ้นนั้นเอง และแน่นนอนว่ามันเป็นผลดีต่อทุกคนไม่ว่าจะระบบภายในบริษัทหรือ Auditor ก็ตามระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลให้แก่พวกเขาได้
มีบริษัทบัญชีที่ไหนใช้ Blockchain แล้วบ้าง
ด้วยความที่ผู้เขียนนั้นไม่ได้เรียนจบทางบัญชีมาจึงไม่ทราบว่าในเชิงรายละเอียดแล้วตอนนี้มีการประยุกต์ใช้ Blockchain กับระบบบัญชีแค่ไหนแล้ว แต่เท่าที่ทราบมาคือปัจจุบัน Big four ของอุตสาหกรรมได้ก้าวเข้าไปในเทคโนโลยี Blockchain เรียบร้อยแล้ว
- Ernst & Young เป็นบริษัทแรกๆที่ยอมรับ Bitcoin ในการชำระเงิน เดือนเมษายน 2018 บริษัท E & Y ได้เปิดตัว “Blockchain Analyzer” ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานตรวจสอบของ EY ทบทวนและวิเคราะห์การทำธุรกรรมใน blockchain เป็นการนำร่องสำหรับการทดสอบตรวจสอบ blockchain assets หนี้สิน ทรัพย์สิน เเละ smart contracts
- บริษัท KPMG เปิดตัว “บริการบัญชีแยกประเภทดิจิทัล” ในปี 2016 เพื่อช่วยให้บริษัท บริการทางการเงินสามารถตรวจสอบการลงทุนผ่านแอพพลิเคชัน blockchain ได้ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ Microsoft เพื่อสร้างโครงการ “Blockchain Nodes” ที่มีเป้าหมายในการระบุแอ็พพลิเคชันใหม่และกรณีการใช้งานสำหรับเทคโนโลยี blockchain อีกทั้ง KPMG เป็นสมาชิกของ Wall Street Blockchain Alliance ด้วย
- บริษัท PwC เริ่มรับ Bitcoin ที่สำนักงานในฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2017 เเละในเดือนเมษายน 2018 บริษัท ประกาศบริการตรวจสอบ blockchain แบบ wide-release เป็นครั้งแรกโดยมีธุรกิจ crypto มาร่วมลงทะเบียนด้วย พวกเขามั่นใจว่ากำลังใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
- บริษัท Deloitte ได้เข้ามามีส่วนร่วมในวงการ blockchainตั้งเเต่ปี 2014 และเมื่อพวกเขาเปิดตัว Rubix “แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์เรียกเก็บเงินครบวงจรของ blockchain.”และยังคงให้บริการอยู่ในขณะนี้ พร้มทั้งมีการ ICO โดยการร่วมมือกับ Waves Platform จะทำให้ ICOs LAB การเทรด crypto เข้าถึงได้มากขึ้นกว่าที่เคย
อะไรที่ขัดขวางเทคโนโลยีนี้อยู่
หากย้อนไปซัก 20 ปีที่แล้ว แล้วเล่าถือคอนเซปต์ของ Smart phone ให้แก่คนที่คุณรู้จักฟังว่า Smart phone นั้นดียังไง คงมีหลายคนงงไปตามๆกัน เช่นเดียวกับวันนี้ Blockchain เพิ่งเกิดมาได้ 10 ปีมันเป็นอะไรที่ยังตั้งไข่อยู่ นักบัญชีส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แล้วอีกอย่างหนึ่งคือระบบบัญชีในปัจจุบันก็ถูกออกแบบไว้นานแล้วและมันยังคงใช้งานได้ในระดับหนึ่ง การที่จะเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมดให้เป็น blockchain ไม่ใช่เรื่องง่ายๆและต้องใช้ต้นทุนที่สูง จนกว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับความเข้าใจและมีต้นทุนที่อุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้มันคงต้องใช้เวลาอีกซักพักหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่ blockchain ช่วยในระบบบัญชีนี้คือเรื่อง “ความถูกต้องของข้อมูล” เท่านั้น มันไม่ได้แปลว่าระบบ Blockchain จะมีประสิทธภาพที่ดีในด้านอื่นๆ เช่น เราต้องการทำบัญชีเพื่อหาว่าเรามีงบดุลรายจ่ายและรายได้เท่าไหร่ หรือรู้ว่าปีนี้เรามียอดขายเพิ่มกี่ % ข้อมูลพวกนี้คุณไม่ต้องใช้ blockchain ก็ได้ มันไม่ใช่จุดเด่นของ Blockchain หากคุณจะนำ Blockchain มาใช้คุณต้องคิดด้วยว่าธุรกิจของคุณนั้น
“ความถูกต้องของข้อมูล” เป็นสิ่งที่สำคัญแค่ไหน ถ้ามันไม่หนักหนาอะไรมันก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเท่าไหร่
อีกเรื่องที่ตลกๆคือมันจะมีคำถามว่าแล้วในโลกความจริงที่มีคนปลอมบัญชีเต็มไปหมดใครจะไปอยากใช้ระบบบัญชีที่ถูกกันเล่า คำตอบคือคุณต้องเลือกครับ คุณได้ระบบบัญชีที่ต้องให้ audit ข้างนอกมาตรวจสอบคุณก็อาจจะต้องใช้เงินและเวลาเช่นกัน แต่ถ้าคุณเลือก blockchain คุณก็จะทำกระบวนการเหล่านี้เร็วขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับการที่คุณไม่สามารถปลอมบัญชีได้
นักบัญชีควรเตรียมตัวอย่างไร
ถ้าเรามองแค่แนวคิดของ Blockchain ในอนาคตที่แสนไกลคุณจะพบว่าบทบาทของนักบัญชีหรือผู้ตรวจสอบนั้นจะค่อยๆลดลงแน่นอน แต่มันจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที ลองคิดย้อนไปในสมัยที่โปรแกรมบัญชีเกิดขึ้นหรือแม้แต่ระบบบัญชี online ในวันนั้นมีนักบัญชีจำนวนมากที่ใช้ระบบไม่เป็นเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทันคุ้นชินกับระบบกระดาษจำนวนมากตกงาน แต่มันก็ถือกำเนิดนักบัญชีที่ใช้โปรแกรมเป็นทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม สักวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับนักบัญชีที่เข้าใจเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดี และรู้ว่าหากนำมันไปใช้จะเกิดประโยชน์อะไรบ้างกับอุตสาหกรรมของเขา และนั้นคือผู้ที่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต
ก็จบกันไปแล้วนะครับกับตอนแรกของ Blockchain the Disruption technology จริงๆข้อมุลเหล่านี้ผมก็เพิ่มมาทราบตอนที่คณะบัญชีของมหาวิทยลัยตรังเชิญไปให้ความรู้ผมเลยมาหาเพิ่มเติมว่า Blockchain กับบัญชีมันทำอะไรได้บ้างก็พบข้อมูลที่น่าสนใจอยู่มากเลยอยากเอามาแบ่งปันให้ฟังกันเดียวยังไงผมคิดว่าตอนหน้าผมอาจจะเล่าถึงอุตสาหกรรมอื่นไว้ติดตามด้วยนะครับ