บทที่ 9
Bitcoin เหมาะสำหรับอะไร?
แหล่งเก็บรักษามูลค่า
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!
ความเชื่อว่าทรัพยากรมีความขาดแคลนและมีจำนวนจำกัดนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถึงธรรมชาติของความขาดแคลนซึ่งเป็นแนวความคิดที่เป็นกุญแจสำคัญทางเศรฐษศาสตร์ ปริมาณที่แท้จริงของวัตถุดิบทุกชนิดบนโลกนั้นมีมากกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะสามารถวัดหรือรับรู้ได้ด้วยซ้ำ และไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถจะมาจำกัดปริมาณสิ่งที่มนุษย์สามารถผลิตจากมันได้แม้แต่น้อย ที่ผ่านมาพวกเราทำได้เพียงแค่สะกิดผิวโลกลงไปเล็กน้อยเท่าในการค้นหาแร่ธาตุที่เราต้องการ และยิ่งเราค้นหามากขึ้น ขุดลงไปลึกขึ้น เราก็จะยิ่งเจอทรัพยากรมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นขีดจำกัดของทรัพยากรในเชิงปฏิบัตินั้น แท้จริงคือปริมาณเวลาของมนุษย์ที่มุ่งไปสู่การขุดหาหรือผลิตมันมาเสมอ และนั่นคือทรัพยากรที่มีปริมาณจำกัดอย่างแท้จริง (ก่อนที่จะมีบิตคอยน์เกิดขึ้น) ในหนังสือที่เขียนได้อย่างเยี่ยมยอดชื่อว่า ที่สุดแห่งทรัพยากร (The Ultimate Resource) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ล่วงลับจูเลี่ยน ไซมอนได้อธิบายเอาไว้ว่าทรัพยากรชนิดเดียวที่มีปริมาณจำกัดจนอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเรียกว่าทรัพยากรอย่างแท้จริงก็คือเวลาของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีเวลาบนโลกที่จำกัด และนั่นคือความขาดแคลนเดียวที่เราต้องเผชิญในระดับบุคคล ในระดับสังคมนั้นความขาดแคลนเดียวที่เราต้องเผชิญคือปริมาณเวลาทั้งหมดที่ที่ผู้คนในสังคมสามารถใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆได้ สินค้าอะไรก็ตามสามารถผลิตเพิ่มได้หากมีการอุทิศเวลาของมนุษย์ให้กับการผลิตมันมากขึ้น ต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าจึงมีเพียงต้นทุนค่าเสียโอกาสในรูปของสินค้าอื่นๆที่ต้องถูกสละไปเพื่อผลิตมันขึ้นมา
รูปที่ 20 อัตราการบริโภค อัตราการผลิต ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้ และอัตราส่วนระหว่างปริมาณสำรองต่ออัตราการผลิตต่อปีของน้ำมันปิโตรเลียมระดับโลก ค.ศ. 1980-2015
ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เราไม่เคยใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบใดจนหมดสิ้นเลยแม้แต่สิ่งเดียว และราคาของทรัพยากรทุกชนิดในวันนี้ก็ต่ำกว่าที่มันเคยเป็นมาในอดีต เนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถผลิตมันขึ้นมาโดยใช้ต้นทุนเวลาของเราที่ต่ำลง ไม่เพียงแต่ไม่เคยมีวัตถุดิบประเภทใดหมดไปเท่านั้น แต่ปริมาณสำรองที่ตรวจสอบได้ของทรัพยากรแต่ละประเภทก็มีปริมาณสูงขึ้นตามเวลาพร้อมกับอัตราบริโภคที่สูงขึ้นด้วย หากทรัพยากรมีจำนวนจำกัดแล้ว ปริมาณสำรองของมันก็ควรที่จะลดลงเรื่อยๆเมื่อเราบริโภคมันมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะที่พวกเรากำลังบริโภคทรัพยากรในอัตราที่สูงขึ้น ราคากลับลดลงเรื่อยๆ และพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการค้นหาทรัพยากรต่างๆก็ทำให้เราสามารถหามันได้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา น้ำมันซึ่งเป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเนื่องจากมันมีสถิติที่เชื่อถือได้พอประมาณ ดังที่รูปที่ 20 ได้แสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะที่อัตราการบริโภคและอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นปีต่อปี แต่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเสียด้วยซ้ำ1 จากข้อมูลของผลการสำรวจทางสถิติโดยบริษัท BP พบว่า อัตราการผลิตน้ำมันในค.ศ. 2015 นั้นสูงกว่าในปีค.ศ. 1980 ถึงร้อยละ 46 ในขณะที่อัตราการบริโภคก็สูงขึ้นถึงร้อยละ 55 แต่ในขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำมันสำรองกลับเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 146 หรือมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราการบริโภคและการผลิตถึงราวๆสามเท่าด้วยกัน
เราสามารถพบสถิติในลักษณะเดียวกันได้กับทรัพยากรอื่นๆที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ในเปลือกโลกต่างๆกัน ความหายากของทรัพยากรแต่ละชนิดส่งผลต่อต้นทุนในการขุดหามันขึ้นมาจากพื้นโลก โลหะที่มีปริมาณมากกว่าเช่นเหล็กและทองแดงก็จะหาได้ง่ายกว่าและทำให้มีราคาที่ถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ โลหะที่หาได้ยากกว่า เช่นเงินและทองคำ ก็จะมีราคาที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ขีดจำกัดของปริมาณโลหะแต่ละชนิดที่เราสามารถผลิตได้ยังคงขึ้นอยู่กับต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเลือกผลิตโลหะชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ปริมาณทั้งหมดของมัน ไม่มีหลักฐานใดหนักแน่นไปกว่าการที่ทองคำ ซึ่งเป็นโลหะที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งในเปลือกโลก กลับถูกขุดหามาเป็นพันๆปีและยังคงถูกขุดหาในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นตามเวลาดังที่แสดงให้เห็นในบทที่ 3 หากอัตราการผลิตของโลหะที่หายากที่สุดในผิวโลกยังคงสูงขึ้นอยู่ทุกๆปี มันก็ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะกล่าวว่าทรัพยากรทางธรรมชาติใดๆนั้นมีปริมาณจำกัดอย่างแท้จริง ความขาดแคลนในทรัพยากรวัตถุดิบนั้นมีอยู่ในเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น โดยมีต้นทุนในการขุดหาที่ต่างกันเป็นตัวกำหนดระดับของความขาดแคลน ดังที่จูเลี่ยน ไซมอนได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งเดียวที่มีความขาดแคลนคือเวลาที่มนุษย์มีให้กับการผลิตโลหะเหล่านี้และนี่คือสาเหตุที่อัตราค่าจ้างงานทั่วโลกยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สินค้า ผลิตภันฑ์ และทรัพยากรต่างๆมีราคาถูกลงเรื่อยๆในหน่วยของแรงงานมนุษย์
นี่เป็นแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ยากที่สุดต่อการทำความเข้าใจสำหรับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมสร้างความหวาดผวาเสียสติแก่ผู้คนอย่างไม่รู้จบผ่านการสร้างภาพวันสิ้นโลกอันหน้าหวาดกลัวมาหลายทศวรรษ จูเลี่ยน ไซมอน พยายามต่อกรกับความเสียสตินี้ด้วยการท้านักสร้างความหวาดผวาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบสู่การเดิมพัน 10 ปีอันโด่งดัง พอล เออร์ลิช (Paul Ehrlich) ได้เขียนหนังสือเรียกความหวาดผวาหลายต่อหลายเล่มโดยเขาได้กล่าวว่าโลกได้เดินทางมาถึงก้าวสุดท้ายก่อนที่จะเกิดภัยภิบัติอันใหญ่หลวงจากการสูญสิ้นทรัพยากรสำคัญหลายชนิด โดยมีการพยากรณ์อันน่าสะพรึงกลัวถึงวันที่ทรัพยากรทั้งหลายเหล่านี้จะหมดลง ในปีค.ศ. 1908 ไซมอนได้ท้าให้เออร์ลิชเลือกทรัพยากรวัตถุดิบมาสักหนึ่งอย่างพร้อมทั้งกำหนดเวลามามากกว่าหนึ่งปี และเขาได้เดิมพันเป็นเงิน $10,000 เหรียญสหรัฐฯว่าราคาของโลกหะหรือวัตถุดิบเหล่านี้จะลดต่ำลงกว่าในช่วงเวลาก่อนหน้าเมื่อปรับมูลค่าตามเงินเฟ้อแล้ว ในการเดิมพันนี้ เออร์ลิชได้หยิบยกเอาทองแดง โครเมี่ยม นิเกิ้ล สังกะสี และทังเสตน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบที่เขาเคยพยากรณ์ไว้ว่ากำลังจะหมดสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ในค.ศ. 1990 ราคาของโลหะทุกชนิดนี้กลับลดต่ำลงและระดับการผลิตต่อปีก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านไปนั้นมีจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 800 ล้านคนเลยก็ตาม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรในหนึ่งทศวรรษที่สูงที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในความเป็นจริง ยิ่งมีมนุษย์มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเกิดการผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญกว่านั้น ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer2) ได้เคยกล่าวไว้ว่าปัจจัยหลักที่ผลักดันพัฒนาการของมนุษย์นั้นหาใช่วัตถุดิบไม่ แต่เป็นคำตอบทางเทคโนโลยีต่อปัญหาที่มีอยู่ต่างหาก เทคโนโลยีนั้นโดยธรรมชาติแล้วเป็นทั้งสินค้าประเภท non-excludable (หมายความว่าเมื่อมีใครประดิษฐ์คิดค้นอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้ว คนอื่นๆก็สามารถที่จะลอกเลียนแบบและได้รับผลประโยชน์จากมันได้ทั้งสิ้น) และยังเป็นสินค้าประเภท non-rival อีกด้วย (หมายความว่าการที่ใครสักคนได้รับผลประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์นั้นไม่ได้ทำให้คนอื่นที่ใช้มันได้รับประโยชน์จากมันน้อยลงแต่อย่างใด) ยกตัวอย่างเช่นล้อรถ เมื่อมีคนหนึ่งคนคิดค้นมันขึ้นมาแล้ว ทุกคนก็สามารถลอกเลียนแบบและทำล้อของตังเองได้ และการใช้ล้อของคนคนหนึ่งก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นที่ใช้ล้อได้รับประโยชน์จากล้อของเขาลดน้อยลงแต่อย่างใด ความคิดอันอัจฉริยะเป็นสิ่งหาได้ยากและมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะคิดได้ ประชากรที่ใหญ่ขึ้นจึงย่อมสามารถผลิตเทคโนโลยีและความคิดได้มากกว่าประชากรที่มีขนาดเล็กกว่า และเนื่องจากประโยชน์ของมันนั้นเกิดขึ้นกับทุกคน มันจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะอยู่ในโลกที่มีจำนวนประชากรที่มากกว่า ยิ่งมีมนุษย์บนโลกมากเท่าไร ก็ยิ่งมีเทคโนโลยีและความคิดที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำให้มนุษย์สามารถได้รับผลประโยชน์จากความคิดเหล่านี้และนำไปปฏิบัติใช้ตามๆกันได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้เวลาของมนุษย์ให้เกิดผลิตผลเพิ่มขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
เครเมอร์อธิบายประเด็นดังกล่าวโดยแสดงให้เห็นว่าเมื่อจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น อัตราการเติบโตของประชากรก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน หากมนุษย์เป็นภาระของโลกที่เอาแต่บริโภคทรัพยากรแล้ว เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นก็ควรจะมีปริมาณทรัพยากรสำหรับแต่ละคนลดน้อยลงพร้อมกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรที่ลดน้อยลงไปด้วยจากการคาดคะเนตามโมเดลแบบมัลธูเซียน แต่เนื่องจากมนุษย์เองคือทรัพยากรและความคิดที่สร้างผลประโยชน์คือสิ่งขับดันผลผลิต การมีมนุษย์จำนวนมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดความคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น เกิดปริมาณผลผลิตต่อหัวที่สูงขึ้น และความสามารถในการรองรับจำนวนประชากรที่มากขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น เครเมอร์ยังแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินที่แยกตัวออกจากแผ่นดินอื่นและมีจำนวนประชากรหนาแน่นจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่สูงกว่าดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง
มันจึงเป็นสิ่งผิดที่จะเรียกวัตุดิบในการผลิตว่าทรัพยากรเนื่องจากมนุษย์ไม่ได้อิ่มทิพย์จากสวรรค์ วัตถุดิบทั้งหลายล้วนเป็นผลิตผลจากแรงงานและความชาญฉลาดของมนุษย์ทั้งสิ้นและมนุษย์ต่างหากที่เป็นทรัพยากรที่แท้จริง เนื่องจากเวลา ความพยายาม และความเฉลียวฉลาดของมนุษย์นั้นสามารถนำมาใช้ในการสร้างผลิตผลเพิ่มเติมได้เสมอ
เรื่องยากลำบากเกี่ยวกับการใช้เวลาที่มนุษย์ต่างต้องเผชิญคือการเก็บรักษามูลค่าที่พวกเขาใช้เวลาของพวกเขาสร้างขึ้นมาให้คงอยู่กับพวกเขาผ่านกาลเวลาไปสู่อนาคตด้วยกัน ในขณะที่เวลาของมนุษย์มีจำกัด แต่อย่างอื่นทุกอย่างกลับล้วนมีจำนวนไม่จำกัดในทางปฏิบัติและล้วนสามารถถูกผลิตขึ้นได้เพิ่มเติมหากมนุษย์ให้เวลากับมันมากขึ้น สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์เลือกมาเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเนื่องจากทุกอย่างสามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ ผู้คนอื่นๆก็จะทำการผลิตสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับมูลค่าของมัน ดังเช่นที่กัปตันโอคีฟได้นำเอาระเบิดและเรือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาผลิตหินรายจำนวนมากเพื่อครอบครองมูลค่าที่ชาวแยปรักษาเอาไว้ในหินของพวกเขา หรือที่ชาวยุโรปได้ขนลูกปัดแก้วเต็มลำเรือไปยังแอฟริกาเพื่อไปล้วงเอามูลค่าที่ชาวแอฟริกันเก็บไว้ในลูกปัดแก้วของพวกเขา โลหะทุกชนิดนอกเหนือจากทองคำที่ถูกทำมาใช้เป็นเงินล้วนถูกผลิตเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาลจนมูลค่าของพวกมันพังทลายลง
เศรษฐกิจยุคใหม่มีธนาคารกลางสายเคนเซียนคอยเสแสร้งทำเป็นเหมือนกับว่ากำลังต่อสู้กับเงินเฟ้อในขณะที่ค่อยๆทยอยหรือแอบเร่งรีบกัดกร่อนมูลค่าของเงินของพวกเขาดังที่อธิบายในบทที่ 4 ขณะที่ชาวอเมริกาเริ่มหันมาใช้บ้านของพวกเขาเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า อุปทานบ้านพักอาศัยก็เพิ่มสูงขึ้นมากจนราคาของมันถล่มลงมา เมื่อเงินเฟ้อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ฟองสบู่จำนวนมากที่เกิดขึ้นระหว่างทางสามารถมองได้ว่าเป็นการเดิมพันในการพยายามหาหน่วยเก็บรักษามูลค่าที่ดีนั่นเอง มีเพียงทองคำที่เกือบจะแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากสภาวะทางเคมีของมันที่ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะเพิ่มปริมาณอุปทานของมันได้อย่างง่ายดาย และนั่นก็นำมาสู่ยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่การเปลี่ยนมาสู่การควบคุมทองคำโดยรัฐบาลก็ได้ทำให้ทองคำถูกจำกัดบทบาทหน้าที่ทางการเงิน และถูกแทนที่โดยเงินที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งมีประวัติที่เลวร้ายเป็นอย่างมาก
สิ่งนี้ช่วยอธิบายได้ถึงแง่มุมที่น่าสนใจของความสำเร็จทางเทคนิคที่เรียกว่าบิตคอยน์ เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติมีทรัพย์สินอันมีอุปทานจำกัดอย่างแท้จริงเป็นที่พึ่งพาได้ ไม่ว่าจะมีผู้คนใช้งานมันมากเท่าใด ไม่ว่ามูลค่ามันจะสูงขึ้นไปถึงไหน และไม่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตมันจะก้าวหน้าไปเพียงใด มันก็จะมีบิตคอยน์เกิดขึ้นบนโลกนี้เพียง 21 ล้านบิตคอยน์เท่านั้น การที่จะเพิ่มปริมาณอุปทานเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางเทคนิค เมื่อมีผู้คนต้องการเป็นเจ้าของบิตคอยน์เพิ่มมากขึ้น ทางเดียวที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้คือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของอุปทานที่มีอยู่เดิมนั่นเอง และเนื่องจากบิตคอยน์แต่ละเหรียญยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 100 ล้านซาโตชิ จึงทำให้บิตคอยน์ยังมีพื้นที่ให้เติบโตผ่านการใช้งานหน่วยที่ย่อยลงมาเรื่อยๆในขณะที่มูลค่าของมันกำลังเพิ่มขึ้นอีกมาก สิ่งนี้จึงทำให้เกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ที่เหมาะมากสำหรับการทำหน้าที่เป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่านั่นเอง
รูปที่ 21 อัตราส่วนระหว่างปริมาณที่มีอยู่เดิมในโลกกับอัตราการผลิตในแต่ละปี
ก่อนที่จะมีการคิดค้นบิตคอยน์ขึ้นมา เงินทุกรูปแบบล้วนแล้วแต่มีปริมาณไม่จำกัด จึงทำให้มันมีข้อบกพร่องในการเก็บรักษามูลค่าข้ามผ่านกาลเวลา อุปทานเงินที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ของบิตคอยน์ทำให้มันกลายเป็นสื่อกลางในการเก็บรักษามูลค่าที่เกิดขึ้นจากเวลาของมนุษย์ที่มีจำกัดได้ดีที่สุด ทำให้สามารถกล่าวได้ว่ามันเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่าที่ดีที่สุดที่มนุษยชาติเคยคิดค้นขึ้นมาเลยทีเดียว หรือพูดในอีกทางหนึ่งก็คือ บิตคอยน์เป็นวิธีที่เราสามารถซื้ออนาคตได้ในราคาที่ถูกที่สุดเนื่องจากมันเป็นสิ่งเดียวที่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีทางถูกทำให้เสื่อมมูลค่าลง ไม่ว่ามันจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากเท่าใดก็ตาม (ดูรูปที่ 21 3)
ในปีค.ศ. 2018 ด้วยอายุเพียง 9 ปีเท่านั้น บิตคอยน์ถูกใช้งานโดยผู้คนนับล้านคนทั่วโลก4 และอัตราการเติบโตของอุปทานของมันในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของอุปทานสกุลเงินสำรองระดับโลก ในแง่ของอัตราส่วนสต็อค-ทู-โฟลวที่กล่าวถึงในบทที่ 1 นั้น ปริมาณของบิตคอยน์ที่มีอยู่ในตลาดในปีค.ศ. 2017 มีมากกว่าปริมาณบิตคอยน์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายในปีค.ศ. 2017 ถึง 25 เท่า แม้อัตราส่วนนี้จะยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราส่วนสต็อค-ทู-โฟลวของทองคำ แต่ในช่วงประมาณปี 2022 อัตราส่วนสต็อค-ทู-โฟลวของบิตคอยน์จะแซงหน้าทองคำ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของทองคำได้ในช่วงประมาณปีค.ศ. 2025 และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ทองคำยังคงอยู่ที่เดิมอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงหากกลไกการขุดทองคำยังคงเหมือนเดิมตามที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 3 จนถึงประมาณปีค.ศ. 2140 ก็จะไม่มีบิตคอยน์ถูกผลิตขึ้นมาอีกตลอดไป ทำให้อัตราส่วนสต็อค-ทู-โฟลวของบิตคอยน์กลายเป็นอนันต์ นับเป็นครั้งแรกที่สินค้าใดก็ตามสามารถทำได้เช่นนี้
ประเด็นสำคัญของการลดปริมาณอุปทานและอัตราการเติบโตของอุปทานบิตคอยน์ที่ค่อยๆลดลงนั้นก็เพื่อทำให้อุปทานของบิตคอยน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีสัดส่วนที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับอุปทานที่เกิดใหม่ ในแง่มุมดังกล่าวการขุดเหมืองบิตคอยน์ก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกับการขุดเหมืองทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเทียบกับสื่อกลางการเป็นเงินอื่นๆ จะมีการใช้เวลาและความพยายามในการผลิตบิตคอยน์ใหม่ไม่มากเท่ากับการพยายามผลิตเงินอื่นๆที่สามารถผลิตได้ง่ายกว่า ทำให้เกิดการใช้เวลาและความพยายามไปกับกิจกรรมที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถนำมาแลกเป็นบิตคอยน์ได้มากกว่านั่นเอง โดยเมื่อผลรางวัลตอบแทนจากการสร้างบล็อคลดน้อยลงเรื่อยๆ ผลตอบแทนจากการอุทิศทรัพยากรต่างๆไปกับการขุดบิตคอยน์ก็จะมาจากการประมวลธุรกรรมและการสร้างความมั่นคงให้กับระบบโครงข่ายมากกว่าการสร้างเหรียญใหม่นั่นเอง
ในประวัติศาสตร์มนุษย์แทบจะเสมอมามีการใช้วัตถุที่จับต้องได้ทางกายภาพมาเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่า การเก็บรักษามูลค่าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุมีตัวตนที่จับต้องได้ทางกายภาพ แต่การมีตัวตนในลักษณะนั้นก็ทำให้การเพิ่มปริมาณอุปทานของมันทำได้ยากขึ้น บิตคอยน์สามารถมีปริมาณจำกัดได้อย่างแท้จริงแม้ว่ามันไม่มีรูปลักษณ์ทางกายภาพและเป็นเงินดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ไม่เคยมีวัตถุกายภาพใดที่สามารถเคลื่อนย้ายและแบ่งย่อยได้สามารถทำสิ่งนี้ได้สำเร็จมาก่อน บิตคอยน์ทำให้มนุษย์สามารถเคลื่อนย้ายมูลค่าในโลกดิจิทัลได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นใดในโลกกายภาพโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้การส่งมูลค่าขนาดมหึมาข้ามโลกสามารถกระทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ปริมาณที่จำกัดอย่างแท้จริงของเหรียญบิตคอยน์คือการรวมเอาองค์ประกอบที่ดีที่สุดของเงินที่มีตัวตนทางกายภาพ โดยไม่มีข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายทางกายภาพ อาจกล่าวได้ว่า บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีสำหรับการเก็บออมที่ดีที่สุดที่เคยมีมาเลยทีเดียว
อธิปไตยส่วนบุคคล
ด้วยการที่เป็นเงินสดดิจิทัลรูปแบบแรก คุณค่าหลักที่สำคัญที่สุดที่บิตคอยน์ให้กับทุกคนคือความสามารถในการเข้าถึงเงินสกุลหลักที่เป็นอธิปไตย ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของบิตคอยน์จะได้รับเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถหาได้ก่อนที่มันจะถูกคิดค้นขึ้น ผู้ถือบิตคอยน์สามารถส่งมูลค่าปริมาณสูงข้ามโลกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร มูลค่าของบิตคอยน์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงกายภาพที่ใดก็ตามบนโลกจึงทำให้มันไม่สามารถถูกขัดขวาง ทำลาย หรือยึดได้โดยกองกำลังกายภาพของไม่ว่าจะเป็นโลกการเมืองหรือโลกอาชญากรก็ตาม
ความสำคัญของสิ่งประดิษฐ์นี้ต่อความเป็นจริงทางการเมืองในศตวรรษที่ยี่สิบคือการเป็นครั้งแรกหลังจากการถือกำเนิดขึ้นของชาติรัฐสมัยใหม่ที่ผู้คนมีทางออกเชิงเทคนิคที่ชัดเจนสำหรับการหนีออกจากอิทธิพลทางการเงินของรัฐบาลที่พวกเขาอาศัยอยู่ ที่น่าสนใจคือคำอธิบายที่ดีที่สุดถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในลักษณะนี้ปรากฎขึ้นในหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นในปีค.ศ. 1997 หรือกว่า 12 ปีก่อนที่บิตคอยน์จะถือกำเนิดขึ้น หนังสือเล่มดังกล่าวรู้ล่วงหน้าถึงเงินดิจิทัลที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับบิตคอยน์รวมไปถึงผลกระทบที่มันจะมีต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์
ในหนังสือ The Sovereign Individual เจมส์ เดวิดสัน และ วิลเลียม รีส-มอกก์ (James Davison and William Rees-Mogg) ได้กล่าวว่ารัฐชาติสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยกฎหมายควบคุมทุกสิ่งอย่าง ระดับภาษีที่สูงลิบ และแรงผลักดันของการเข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการนั้นได้เจริญเติบโตขึ้นจนกลายเป็นสิ่งที่เป็นภาระที่กดขี่เสรีภาพของประชาชนไม่ต่างจากโบสถ์ในยุคกลาง และมันก็มีความสุกหง่อมพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่แพ้กัน ด้วยภาระภาษีอันหนักหน่วง การควบคุมผู้คนและพิธีกรรมต่างๆ ทำให้ต้นทุนในการบำรุงรักษาศาสนาสูงเกินกว่าที่สังคมยุโรปในยุคกลางจะรับไหว องค์กรทางการเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ จึงกำเนิดขึ้นและผลักให้การปกครองของโบสถ์หมดความสำคัญลงไป การเฟื่องฟูของเครื่องจักร แท่นพิมพ์ ทุนนิยม และชาติรัฐสมัยใหม่ได้ให้กำเนิดกับยุคของสังคมอุตสาหกรรมและแนวความคิดพลเมืองยุคใหม่
ห้าร้อยปีต่อมา สังคมอุตสาหกรรมและชาติรัฐสมัยใหม่นั้นเองได้กลายเป็นสิ่งที่กดขี่ คร่ำครึ และกลายเป็นภาระของสังคมในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆค่อยๆกัดกินอำนาจและเหตุผลของการมีอยู่ของมันไปเรื่อยๆ “ไมโครโปรเซสเซอร์จะล้มล้างและทำลายระบอบชาติรัฐ” เป็นข้อสรุปที่ชวนคิดของหนังสือเล่มดังกล่าว องค์กรรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำลายความสามารถของรัฐในการบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ควรเพื่อใช้บริการของรัฐ การปฏิวัติดิจิทัลจะทำลายอำนาจของชาติรัฐสมัยใหม่ที่มีต่อประชาชนของพวกเขา ลดความสำคัญของประเทศชาติในฐานะของการเป็นผู้ควบคุมดูแล และให้อำนาจและอธิปไตยเหนือชีวิตตนเองแก่ผู้คนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
เราสามารถเห็นกระบวนการดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้วสืบเนื่องจากการปฏิวัติทางการติดต่อสื่อสารระยะไกล ในขณะที่โรงพิมพ์ทำให้ผู้คนยากจนบนโลกสามารถเข้าถึงความรู้ต้องห้ามที่ถูกผูกขาดโดยองค์กรทางศาสนา มันก็ยังมีข้อจำกัดจากการมีตัวตนเชิงกายภาพที่ทำให้มันสามารถถูกยึด ถูกสั่งห้ามจำหน่าย ห้ามอ่าน หรือเผาทิ้งได้ ข้อขำกัดเหล่านี้ไม่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ โลกที่มีความรู้ทั้งหมดของมนุษยชาติที่พร้อมให้ผู้คนเข้าถึงได้โดยไม่มีทางใดเลยที่รัฐบาลจะสามารถควบคุมหรือกีดกันได้อย่างมีประสิทธิผล
ในลักษณะเดียวกัน พัฒนาการทางข้อมูลและการสื่อสารกำลังทำให้การค้าและการจ้างงานสามารถทลายข้อจำกัดของรัฐบาลและกฎหมายต่างๆลงได้ เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนที่สุดจากบริษัทอย่างเช่น Uber และ Airbnb ที่ไม่ได้มีการขออนุญาตรัฐบาลแต่อย่างใดในการนำเสนอสินค้าของพวกเขาจนประสบความสำเร็จและสามารถทำลายกฎหมายและข้อบังคับรูปแบบดั้งเดิมลงไปได้ ผู้คนยุคใหม่สามารถทำการแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่เขาพบปะในโลกออนไลน์ผ่านระบบของตัวตนและการป้องกันความปลอดภัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมและความเคารพซึ่งกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องหันไปพึ่งพาอาศัยระบบการบังคับควบคุมของรัฐบาลแต่อย่างใด
การติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตราคาถูกยังได้ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สำหรับการทำงานหมดความสำคัญลงไป ผู้ผลิตสินค้าต่างๆสามารถเลือกที่จะตั้งรกรากกิจการที่ใดก็ใด้ในขณะที่ผลผลิตจากแรงงานของพวกเขาซึ่งค่อยๆเปลี่ยนสภาพกลายเป็นข้อมูลและสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ทางกายภาพล้วยสามารถส่งไปได้ทั่วโลกในทันที กฎหมายข้อบังคับและภาษีของรัฐบาลค่อยๆลดอำนาจลงเมื่อผู้คนสามารถทำงานและอยู่อาศัยที่ใดก็ได้ตามที่ต้องการและส่งงานของพวกเขาผ่านระบบการสื่อสารทางไกล
เมื่อมูลค่าของผลผลิตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของสินค้าที่ไม่สามารถจับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าของที่ดินและปัจจัยทางการผลิตสินค้าเชิงกายภาพก็ค่อยๆลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ผลตอบแทนของการใช้กำลังเพื่อยึดเอาปัจจัยทางการผลิตเชิงกายภาพเหล่านั้นลดน้อยลงไปด้วย ต้นทุนในการสร้างผลผลิตค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในตัวผู้คนแต่ละคน ทำให้การใช้อำนาจความรุนแรงขู่เข็นเพื่อยึดครองต้นทุนเหล่านั้นไร้ความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลิตผลส่วนบุคคลของแต่ละคนกลายเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับความยินยอมของแต่ละบุคคลอย่างแยกจากกันไม่ได้ เมื่อผลผลิตและความอยู่รอดของไพร่ผูกติดอยู่กับแผ่นดินที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของการใช้ความรุนแรงจึงเป็นวิธีที่ได้ผลดีในการกระตุ้นให้เหล่าไพร่ทั้งหลายสร้างผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของแผ่นดิน ในลักษณะคล้ายกัน การที่สังคมอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งต้นทุนทางการผลิตเชิงกายภาพและผลผลิตที่จับต้องได้ของมันก็ส่งผลให้การถูกยึดครองโดยรัฐเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากดังที่ศตวรรษที่ยี่สิบได้แสดงให้เห็นผ่านการนองเลือดหลายต่อหลายหน แต่เมื่อความสามารถทางปัญญาของผู้คนเริ่มกลายมาเป็นกำลังหลักในการสร้างผลผลิตของสังคม การข่มขู่กันด้วยความรุนแรงก็ย่อมได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ มนุษย์สามารถย้ายถิ่นฐานไปยังเขตปกครองที่เป็นมิตรต่อเขามากกว่าได้อย่างง่ายได้ หรือเขาสามารถสร้างผลิตผลบนคอมพิวเตอร์ของพวกเขาโดยที่รัฐบาลไม่มีทางรู้เห็นได้เลยว่าเขากำลังสร้างอะไรอยู่
ตัวต่อชิ้นสุดท้ายที่ยังขาดหายไปในภาพจิ๊กซอวของโลกยุคดิจิทัลคือความสามารถในการส่งเงินและมูลค่า แม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถล้มล้างข้อจำกัดและการควบคุมเชิงภูมิศาสตร์และรัฐบาลลงได้ แต่การชำระเงินยังคงเป็นส่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจธนาคารผูกขาดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเดียวกับธุรกิจผูกขาดที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอื่นๆทั้งหมด ธุรกิจธนาคารก็ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและจำกัดความสามารารถในการขูดรีดค่าธรรมเนียมและค่าเช่าของพวกเขามาเป็นเวลาหลายปี การผูกขาดธุรกิจในลักษณะนี้กลายเป็นสิ่งถ่วงความเจริญมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเศรษฐกิจของโลกเติบโตและเชื่อมต่อถึงกันทั้งโลกมากขึ้น เดวิดสัน และ รีส-มอกก์ ได้คาดเดาเอาไว้ดั่งรู้อนาคตว่ารูปแบบของเงินดิจิทัลที่จะกลายมาเป็นทางออกของโลกจะมีลักษณะเช่นใด กล่าวคือ: รูปแบบของเงินที่มีความปลอดภัยมั่นคงด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่ตัดขาดจากข้อจำกัดทางกายภาพทั้งปวง ซึ่งไม่สามารถหยุดยั้งหรือถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้แต่อย่างใด แม้มันอาจดูเหมือนเป็นคำทำนายที่ดูเป็นไปไม่ได้ในวันที่หนังสือเล่มดังกล่าวถูกเขียนขึ้น มันกลับกลายเป็นความจริงอัดชัดเจนที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกหลายล้านคน แม้ว่าความสำคัญของมันยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจก็ตาม
บิตคอยน์ รวมถึงเทคโนโลยีการเข้ารหัสโดยทั่วไปนั้นเป็นเทคโนโลยีเชิงป้องกันที่ทำให้ต้นทุนในการป้องกันทรัพย์สินและข้อมูลนั้นต่ำกว่าต้นทุนในการโจมตีมันเป็นอย่างมาก มันทำให้การลักโขมยเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนและมีต้นทุนที่สูงลิบ จึงทำให้มันเป็นเทคโนโลยีที่ส่งเสริมใครก็ตามที่ต้องการอยู่อย่างสงบสุขโดยไม่ต้องการรุกรานผู้อื่นผู้ใด บิตคอยน์ยังมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขสมดุลย์ของอำนาจที่เอนเอียงมาในศตวรรษที่แล้วเมื่อรัฐบาลสามารถที่จะรวมเงินมาไว้ในธนาคารกลางและทำให้ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยรัฐบาลเพื่อสวัสดิภาพและความอยู่รอด เงินที่มั่นคงในอดีตอย่างทองคำไม่ได้มีข้อได้เปรียบเหล่านี้ ความมีตัวตนทางกายภาพของมันทำให้มันตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของการควบคุมโดยรัฐบาล การที่มันไม่สามารถขนย้ายไปยังที่ต่างๆได้โดยง่ายหมายความว่าการชำระเงินโดยทองคำต้องกระทำผ่านตัวกลางอย่างธนาคารและธนาคารกลาง ทำให้การริบทองคำเป็นเรื่องง่ายดาย
ในทางกลับกันสำหรับบิตคอยน์นั้นการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมเป็นเรื่องที่ง่ายและเรียกได้ว่าไม่มีต้นทุนเลยแม้แต่น้อยเนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงบัญชีบันทึกธุรกรรมร่วมจากอุปกรณ์ชนิดใดก็ได้ทีสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย5 แม้ว่าการขยายความสามารถในการรองรับการใช้งานของบิตคอยน์อาจจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่สามเป็นตัวกลาง แต่มันก็แตกต่างจากการชำระเงินด้วยทองคำอยู่ในแง่มุมที่สำคัญๆหลายแง่มุมด้วยกัน ข้อแรก ทุกการกระทำของบุคคลที่สามนั้นในที่สุดก็จะต้องจบลงในบัญชีร่วมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทำให้มีความโปร่งใสและง่ายต่อการตรวจสอบ บิตคอยน์ได้มอบโอกาสในการเดินหนีออกจากรัฐบาลที่มีความเผด็จการ บ้าอำนาจ มีแนวความคิดแบบเคนเซียนและสังคมนิยมให้กับผู้คนยุคใหม่ มันเป็นการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาอันร้ายแรงของการที่รัฐบาลเอาตัวรอดโดยการสูบเลือดเนื้อผู้คนที่มีกำลังการผลิตที่บังเอิญอาศัยอยู่บนแผ่นดินของพวกเขา หากบิตคอยน์เจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆจนสามารถได้ส่วนแบ่งของความมั่งคั่งของทั้งโลกได้มากขึ้น มันอาจผลักดันให้รัฐบาลกลาบเป็นองค์กรที่ต้องอาศัยความสมัครใจของประชาชนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ทางเดียวที่พวกเขาจะได้รับ ‘ภาษี’ จากประชาชนโดยสมัครใจคือการให้บริการที่ประชาชนพร้อมใจที่จะจ่ายเพื่อใช้บริการ
การศึกษาแนวความคิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มไซเฟอร์พังค์ (Cypherpunk) อันเป็นจุดกำเนิดของมันจะทำให้เราสามารถเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ทางการเมืองของบิตคอยน์ได้ดียิ่งขึ้น ดังที่นายทิมโมธี เมย์ (Timothy May) ได้กล่าวเอาไว้:
ผลลัพธ์จากการนำเอาเทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบพับลิคคีย์อันแข็งแกร่งคงกระพันเข้ากับโครงข่ายสังคมเสมือนในโลกไซเบอร์จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อันน่าสนใจในธรรมชาติของระบบสังคมและเศรษฐกิจ crypto anarchy คือการเกิดขึ้นของ anarcho-capitalism ในโลกไซเบอร์เสปซที่ก้าวข้ามขอบเขตพรมแดนระหว่างประเทศและปลดแอกผู้คนให้สามารถสร้างข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มใจ … Crypto anarchy คือการปลดแอกผู้คนออกจากการบังคับโน้มน้าวด้วยกำลังของกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ตัวพวกเขาในโลกกายภาพที่ไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาเป็นใครในโลกอินเตอร์เน็ต และจากรัฐบาลต่างๆ สำหรับนักเสรีนิยมเทคโนโลยีการเข้ารหัสอันแข็งแกร่งจึงเป็นหนทางที่จะทำให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงรัฐบาลได้นั่นเอง6
เมย์ได้อธิบายไว้ว่าวิสัยทัศน์ของ anarcho-capitalism คือปรัชญาทางการเมืองที่พัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนชาวอเมริกัน เมอเรย์ รอธบาร์ด (Murray Rothbard) ในจริยธรรมแห่งเสรีภาพ (The Ethics of Liberty) รอธบาร์ดได้อธิบายถึง anarcho-capitalism ว่าเป็นการนำเอาแนวคิดของเจตจำนงเสรีและการครอบครองเป็นเจ้าของโดยตนเองมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีหลักการสอดคล้องกันเพียงหนึ่งเดียวดังนี้:
ในอีกแง่หนึ่ง หากคำนึงถึงสถานะความเป็นสากลของหลักจริยธรรมแห่งเสรีภาพ และสิทธิเสรีภาพพื้นฐานตามธรรมชาติของบุคคลและทรัพย์สินที่ได้มาภายใต้หลักจริยธรรมดังกล่าว ที่ไม่ว่าใคร ที่ไหน หรือเวลาใดล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพื้นฐานเช่นเดียวกันซึ่งคือ: กรรมสิทธิ์ในตนเอง กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรที่ตนเคยครอบครองและเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ได้ใช้ และกรรมสิทธิ์ในทุกอย่างที่กำเนิดจากกรรมสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเหล่านั้นไม่ว่าจะผ่านทางการแลกเปลี่ยนหรือการมอบให้กันโดยสมัครใจ กฎเหล่านี้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “กฎแห่งกรรมสิทธิ์โดยธรรมชาติ” สามารถนำมาใช้งานได้อย่างชัดเจน และกรรมสิทธิ์ในรูปแบบดังกล่าวสามารถได้รับการปกป้องไม่ว่าในช่วงเวลาใดหรือสถานที่ไหน และไม่ว่าสังคมจะอยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม เป็นไปไม่ได้เลยที่ระบบสังคมรูปแบบอื่นๆจะสามารถถูกมองว่าเป็นกฎธรรมชาติสากล เนื่องจากการที่มีผู้คนคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถออกกฎควบคุมเหนือคนอีกกลุ่มได้ (ซึ่งกฎข้อบังคับทั้งหลายย่อมมีอำนาจควบคุมเช่นนั้นโดยแน่) ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กฎเกณฑ์เดียวกับทุกคนในสังคมได้ มีเพียงโลกแห่งเสรีภาพที่ไร้ผู้ปกครองโดยแท้จริงเท่านั้นที่จะสามารถเติมเต็มหลักสิทธิตามธรรมชาติและกฎแห่งธรรมชาติได้ หรือที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการตอบสนองข้อแม้ของจริยธรรมแห่งเสรีภาพสำหรับมนุษยชาติได้ทั้งปวง 7
หลักการอหิงสานี้เป็นหลักพื้นฐานของแนวคิด anarcho-capitallism ของรอธบาร์ด และบนหลักการพื้นฐานนี้การกระทำการรุนแรงใดๆไม่ว่าจะโดยรัฐบาลหรือโดยบุคคลย่อมไม่สามารถอ้างเหตุผลใดๆเพื่อสร้างความชอบธรรมได้ เนื่องจากลักษณะที่อาศัยความสมัครใจโดยสมบูรณ์และความรักสันติอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้บิตคอยน์สามารถมอบระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับโลกที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือกันโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ต่างจากภาพลักษณ์ของอนาธิปไตยโดยทั่วไปที่มักทำให้นึกถึงภาพนักเลงสวมไอ้โม่ง ภาวะอนาธิปไตยของบิตคอยน์นั้นเป็นอนาธิปไตยที่สงบสุข ที่หยิบยื่นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการหลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐบาลและเงินเฟ้อให้แก่ผู้คน มันไม่พยายามที่จะบังคับให้ใครใช้มัน และหากมันจะเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จได้ก็เป็นเพราะคุณประโยชน์ในการเป็นเทคโนโลยีสำหรับเงินและการชำระหนี้ที่เป็นกลาง ไม่ใช่เพราะการบังคับให้ผู้คนใช้งานมันแต่อย่างใด
เนื่องจากบิตคอยน์ยังมีการใช้งานในระดับที่ต่ำมาก จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้ มันจึงสามารถเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำสำหรับผู้คนที่ต้องการหลีกเลี่ยงข้อบังคับของรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มธุรกิจธนาคาร และเป็นทางเลือกในการเก็บรักษามูลค่าเอาไว้ในหน่วยเก็บรักษามูลค่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงที่ไม่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของการพิมพ์เงินของรัฐบาล หากเมื่อใดที่มันถูกใช้งานในวงกว้างค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมบนบล็อคเชนก็น่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญดังที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ในหัวข้อการขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน ทำให้มันอาจไม่คุ้มค่าเท่าใดนักที่ผู้คนจะทำธุรกรรมที่ไม่สามารถยับยั้งได้บนบล็อคเชนในกรณีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม การใช้งานบิตคอยน์ในวงกว้างย่อมมีผลดีต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่มากกว่าผลเสียของข้อจำกัด ผ่านการลดความสามารถของรัฐบาลในการพิมพ์เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการภาครัฐ เงินของรัฐบาลในศตวรรษที่ยี่สิบนั่นเองที่เป็นต้นกำเนิดรัฐที่แทรกแซงควบคุมกิจการของประชาชนอย่างหนักหน่วงโดยมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางเผด็จการ ในสังคมที่ตั้งอยู่บนเงินที่แข็งแกร่ง การแทรกแซงโดยรัฐบาลที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานานเนื่องจากมันไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะยอมเสียเงินให้มันต่อไป