fbpx

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 10 คำถามเกี่ยวกับบิตคอยน์ part 1

ยาวไปอยากเลือกอ่าน แสดง การขุด Bitcoin เป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน? เหนือการควบคุม: เหตุใดจึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงบิตคอยน์ได้ แอนติแฟรจิลิตี้: ยิ่งทุบตียิ่งแข็งแกร่ง หลังจากที่ได้อธิบายถึงหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของบิตคอยน์ไปในบทที่ 8 และกรณีการใช้งานบิตคอยน์ในรูปแบบต่างๆในบทที่ 9 แล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นการตอบคำถามสำคัญๆที่เกี่ยวข้อง

[แปล] Bitcoin Standard เมื่อระบบการเงินไม่ต้องขึ้นกับตัวกลาง บทที่ 10 คำถามเกี่ยวกับบิตคอยน์ part 1

11 Jan 2021

หลังจากที่ได้อธิบายถึงหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของบิตคอยน์ไปในบทที่ 8 และกรณีการใช้งานบิตคอยน์ในรูปแบบต่างๆในบทที่ 9 แล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นการตอบคำถามสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของบิตคอยน์

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

การขุด Bitcoin เป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน?

 

ใครก็ตามที่เข้ามาใช้งานเครือข่ายของบิตคอยน์จะทำการสร้างแอดเดรสสาธารณะ และไพรเวทคีย์ขึ้น สิ่งนี้เปรียบได้กับอีเมล์แอดเดรสและรหัสผ่าน นั่นคือ: ผู้คนจะสามารถส่งบิตคอยน์มาให้คุณได้ที่แอดเดรสสาธารณะของคุณในขณะที่คุณจำเป็นต้องใช้ไพรเวทคีย์ในการส่งบิตคอยน์ออกจากยอดบัญชีของคุณ โดยที่แอดเดรสเหล่านี้ยังสามารถแสดงเป็น QR code ได้อีกด้วย  เมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้นผู้ส่งเงินจะทำการประกาศธุรกรรมนั้นไปยังสมาชิก (node) อื่นๆในโครงข่าย โดยสมาชิกคนอื่นๆจะทำการตรวจสอบว่าผู้สร้างธุรกรรมมีบิตคอยน์เพียงพอสำหรับการทำธุรกรรมนั้นและเขาต้องไม่เคยใช้เงินจำนวนนั้นในธุรกรรมอื่นๆก่อนหน้า  เมื่อธุรกรรมถูกตรวจสอบและรับรองโดยหน่วยประมวลผลที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโครงข่ายส่วนใหญ่แล้ว ธุรกรรมนั้นก็จะถูกบันทึกลงไปในบัญชีร่วมของสมาชิกทุกคน  ในขณะที่การตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของธุรกรรมโดยสมาชิกในโครงข่ายนั้นทำได้อย่างง่ายดาย ระบบการออกเสียงที่ให้สมาชิกทุกคนมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนเท่าๆกันนั้นกลับสามารถถูกแทรกแซงได้โดยการที่ผู้โจมตีสามารถสร้าง node จำนวนมากขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องของเขา  มีเพียงการตรวจสอบความถูกต้องด้วยกำลังประมวลผลของหน่วยประมวลผลที่เกิดขึ้นจริงจากสมาชิกโครงข่าย หรือที่เราเรียกว่า proof-of-work เท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหา double spending ได้โดยไม่ต้องการตัวกลางใดๆ

 

โดยหลักแล้ว proof-of-work คือการที่สมาชิกโครงข่ายทำการแข่งขันกันเพื่อแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ยากต่อการหาคำตอบแต่ง่ายต่อการตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบ  ธุรกรรมของบิตคอย์ทั้งหมดจะถูกตรวจสอบในทุกช่วงสิบนาทีและถูกจับรวมกลุ่มและบันทึกลงในบล็อคหนึ่งบล็อค node ต่างๆจะทำการแข่งขันกันเพื่อแก้โจทย์ PoW สำหรับแต่ละบล็อค และ node ที่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องได้ก่อนเป็น node แรกจะทำการประกาศมันไปสู่สมาชิกคนอื่นๆในโครงข่าย สมาชิกต่างๆจะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบได้อย่างรวดเร็วและเมื่อความถูกต้องของธุรกรรมและ PoW ได้รับการตรวจสอบโดย node ส่วนมากในเครือข่ายแล้ว ก็จะมีบิตคอยน์ บิตคอยน์จำนวนหนึ่งจะถูกสร้างขึ้นและมอบเป็นรางวัลให้แก่ node ที่สามารถแก้ปัญ PoW ได้ รางวัลนี้เรียกว่าค่าตอบแทนในการสร้างบล็อค (block subsidy) และกระบวนการในการสร้างเหรียญใหม่นี้ได้ถูกเรียกว่าการขุดเหรียญเนื่องจากว่ามันเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถสร้างเหรียญขึ้นมาเพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับที่การขุดเหมืองทองคือวิธีเดียวที่จะผลิตอุปทานทองเพิ่มขึ้นได้นั่นเอง นอกเหนือจากค่าตอบแทนในการสร้างบล็อค node ที่สามารถให้คำตอบ PoW ที่ถูกต้องได้ยังสามารถรับค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ผู้สร้างธุรกรรมได้แนบไว้กับธุรกรรมอีกด้วย ผลรวมของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมและผลตอบแทนจากการสร้างบล็อคจะเรียกรวมๆว่าบล็อครีวอร์ด หรือรางวัลการสร้างบล็อค (block reward)

 

ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นการนำเอากำลังไฟฟ้าและกำลังประมวลผลมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นการสิ้นเปลือง แต่กระบวนการ proof-of-work ก็เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของบิตคอยน์1 PoW ยังเป็นวิถีทางเดียวที่สามารถทำให้การผลิตสินค้าดิจิทัลมีต้นทุนสูงอย่างมั่นคงได้ ด้วยการที่จำเป็นต้องมีการสูญเสียกำลังไฟฟ้าและกำลังในการประมวลผลไปในการผลิตบิตคอยน์ขึ้นมาใหม่ ทำให้บิตคอยน์สามารถเป็นเงินที่แข็งแกร่งได้ ด้วยการสร้างระบบให้มั่นใจได้ว่าการหาคำตอบทางคณิตศาสตร์จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและกำลังในการประมวลผลจำนวนมหาศาล ทำให้ node ที่อุทิศกำลังประมวลผลในกระบวนการนั้นมีแรงจูงใจอันแกร่งกล้าที่จะไม่นำเอาธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ใส่เข้าไปในบล็อคของพวกเขาเพื่อที่เขาจะสามารถได้รับบล็อครีวอร์ดได้นั่นเอง เพราะว่าการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของธุรกรรมและความถูกต้องของ PoW นั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการหาคำตอบ PoW เป็นอย่างมาก node ที่พยายามจะนำเอาธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องบรรจุลงในบล็อคนั้นก็จะถูกจับได้อย่างรวดเร็วทำให้กำลังในการประมวลผลที่เขาใช้ไปนั้นสูญเปล่า

 

PoW นั้นทำให้ต้นทุนในการสร้างบล็อกสูงลิบลิ่วในขณะที่ต้นทุนในการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของมันกลับต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนแทบจะเป็นการกำจัดแรงจูงใจในการพยายามปลอมแปลงธุรกรรมไปหมดสิ้น หากมีใครคิดจะลองก็เท่ากับว่าเขาจะต้องโยนกำลังไฟฟ้าและกำลังในการประมวลผลทิ้งไปโดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆจากการสร้างบล็อกเลย จึงเรียกได้ว่าบิตคอยน์นั้นเป็นเทคโนโลยีที่สามารถแปลงเอาพลังงานไฟฟ้ามาเป็นบันทึกบัญชีที่สัตย์จริงโดยการใช้กำลังในการประมวลผล ใครก็ตามที่นำเอาไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวนี้ก็จะได้รับเงินบิตคอยน์เป็นรางวัลตอบแทน พวกเขาจึงมีแรงจูงใจอันแข็งกล้าที่จะรักษาความมั่นคงของบิตคอยน์เอาไว้ ผลจากการผูกแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเข้ากับความซื่อสัตย์นี้ทำให้กล่าวได้ว่าบัญชีของบิตคอยน์เป็นบัญชีที่ไม่สามารถถูกแทรกแซงเปลี่ยนแปลงย้อนหลังได้เลยตลอดระยะเวลาที่มันทำงานมา โดยเคยมีเหตุการณ์ที่มีการ double-spend ธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันแล้วได้สำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว ความมั่นคงของบัญชีบันทึกธุรกรรมบิตคอยน์นี้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยว่าผู้ใช้งานจะต้องเป็นคนซื่อสัตย์เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากธุรกรรมที่ฉ้อฉลไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่จะต้องล้มเหลวได้ในระบบของบิตคอยน์ ทำให้บิตคอยน์สามารถกำจัดความจำเป็นของความเชื่อใจกันในการทำธุรกรรมให้สมบูรณ์ได้

 

การที่ผู้โจมตีจะสามารถบรรจุธุรกรรมที่ฉ้อฉลลงในบัญชีของบิตคอยน์ได้นั้น เขาจำเป็นจะต้องมีกำลังประมวลผลมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังประมวลผลทั้งหมดเบื้องหลังระบบโครงข่ายเพื่อที่จะยอมรับธุรกรรมของเขา node ที่ซื่อสัตย์ต่างที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อมไม่มีแรงจูงใจใดๆที่จะหันไปเข้าร่วมกับผู้โจมตี เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการทำลายฐานความมั่นคงของบิตคอยน์และทำให้พวกเขาได้รับผลตอบแทนน้อยลงส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าและกำลังประมวลผลที่พวกเขาเสียไปต้องสูญเปล่า ดังนั้นความหวังเดียวของผู้โจมตีคือการจัดหากำลังการประมวลผลที่มากกว่า 50% ของกำลังประมวลผลในระบบทั้งหมดเพื่อที่จะมายืนยันธุรกรรมฉ้อฉลของเขาและสร้างบล็อกต่อๆมาเฉกเช่นว่ามันเป็นธุรกรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์ การกระทำดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกๆของบิตคอยน์ในขณะที่กำลังในการประมวลผลทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังระบบยังมีขนาดเล็กมาก แต่เนื่องจากในตอนนั้นบิตคอยน์เองก็แทบไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ จึงทำให้ไม่มีการพยายามโจมตีในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อระบบเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และสมาชิกใหม่ๆก็ได้นำเอากำลังในการประมวลผลใหม่ๆเข้ามาร่วมกันป้องกันระบบ ต้นทุนในการโจมตีระบบก็สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

 

รางวัลตอบแทนที่มีให้กับ node สำหรับการตรวจสอบธุรกรรมนั้นได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นการใช้กำลังในการประมวลผลที่คุ้มค่า โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 มีกำลังประมวลผลเทียบเท่ากับคแมพิวเตอร์โน้ตบุคกว่า 2 ล้านล้านเครื่องอยู่เบื้องหลังเครือข่ายบิตคอยน์ ซึ่งมันมีกำลังประมวลผลมากกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดถึงสองล้านเท่า  และมากกว่าซุเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุด 500 ตัวรวมกันถึงสองแสนเท่า ด้วยการนำเอากำลังประมวลผลมาแปลงเป็นเงินโดยตรงนี้เองทำให้บิตคอยน์กลายมาเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

อีกหนึ่งตัวแปรที่มีผลทำให้กำลังประมวลผลนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก คือการที่การตรวจสอบยืนยันธุรกรรมและการสร้าง PoW นั้นได้ถูกย้ายจากการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปสู่หน่วยประมวลผลที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ของบิตคอยน์ ระบบวงจรเฉพาะทาง หรือ Application Specific Integrated Circuits (ASICs) เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 2012 โดยมันทำให้การเพิ่มกำลังการประมวลผลเข้าสูระบบบิตคอยน์สามารถทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากพวกมันไม่มีการใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลืองไปกับกระบวนการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์เลยแม้แต่น้อย ในปัจจุบันความมั่นคงของบัญชีธุรกรรมบิตคอยน์ถูกปกป้องโดยเครือข่ายของเครื่องขุดเฉพาะทางซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เครื่องขุดเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากตรวจสอบธุรกรรมและสร้าง proof-of-work ให้กับบิตคอยน์ หากมีเหตุอันใดที่ทำให้บิตคอยน์ต้องล้มเหลวลง เครื่อง ASICs เหล่านี้ก็จะหมดประโยชน์ในทันทีและการลงทุนของเจ้าของมันก็จะสูญเปล่า พวกเขาจึงมีแรงจูงใจที่แข็งแกร่งในการรักษาความสัตย์จริงของโครงข่ายบิตคอยน์

 

หากใครก็ตามต้องการที่จะแก้ไขข้อมูลในระบบพวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ หรืออาจถึงหลายพันล้านดอลลาร์ในการสร้างชิบ ASIC ขึ้นมาใหม่ หากผู้โจมตีสามารถแก้ไขบัญชีย้อนหลังได้สำเร็จเขาก็ไม่น่าที่จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจใดๆจากการกระทำเช่นนั้น เนื่องจากการทำลายความมั่นคงของระบบย่อมส่งผลให้มูลค่าของบิตคอยน์ลดลงจนแทบไม่เหลืออะไร อีกนัยหนึ่งก็คือ ในการที่จะทำลายบิตคอยน์ ผู้โจมตีจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด และในความเป็นจริง แม้ว่าการโจมตีดังกล่าวจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ node ที่ซื่อสัตย์ต่างๆก็ยังสามารถที่จะย้อนกลับไปหาบันทึกบัญชีก่อนที่จะเกิดการโจมตีและทำงานต่อจากจุดนั้นได้ ทำให้ผู้โจมตีจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการโจมตีฉันทามติของ node ที่ซื่อสัตย์ทั้งหลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ในช่วงปีแรกๆ ผู้ใช้งานบิตคอยน์จะติดตั้ง node และใช้มันเพื่อทำธุรกรรมของพวกเขาเองและตรวจสอบธุรกรรมของผู้ใช้งานคนอื่นๆ ทำให้ทุกๆ node นั้นเป็นทั้ง wallet และเครื่องขุด/เครื่องตรวจสอบไปในตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป หน้าที่เหล่านี้ก็ถูกแยกออกจากกัน ชิป ASIC ในปัจจุบันเชี่ยวชาญเฉพาะการตรวจสอบธุรกรรมเพื่อแลกกับผลตอบแทนเท่านั้น (ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้พวกมันถูกเรียกว่าเครื่องขุด) ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของ node สามารถสร้าง wallet ได้ไม่จำกัด ทำให้เกิดธุรกิจที่ให้บริการ wallet เพื่อให้ผู้ใช้งานบิตคอยน์สามารถรับและส่งเหรียญได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง node หรือใช้กำลังการประมวลผลในการตรวจสอบธุรกรรมด้วยตนเอง สิ่งนี้ทำให้บิตคอยน์ออกกห่างจากการเป็นระบบโครงข่าย peer-to-peer ระหว่าง node ที่เท่าเทียมกันโดยแท้จริง แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญที่เกิดจากธรรมชาติของระบบที่มีความกระจายตัวและไร้ศูนย์กลางนั้นยังคงอยู่เช่นเดิม เนื่องจากยังมี node อยู่เป็นจำนวนมากและระบบสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น การแยกหน้าที่ในการขุดกลับทำให้กำลังการประมวลผลที่อยู่เบื้องหลังระบบสามารถเติบโตขึ้นได้จนมีขนาดใหญ่อย่างน่าทึ่งในปัจจุบัน

 

ในช่วงแรกเมื่อเหรียญของมันแทบไม่มีมูลค่าใดๆ การที่ระบบโครงข่ายจะถูกทำลายหรือยึดครองโดยผู้โจมตียังเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เนื่องจากระบบในตอนนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น้อยมากจึงทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะโจมตีมัน แม้เมื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ถูกเก็บอยู่ในระบบมีมูลค่าสูงขึ้นส่งผลให้แรงจูงใจในการโจมตีระบบสูงขึ้นด้วยก็ตาม แต่ต้นทุนในการโจมตีมันกลับเพิ่มขึ้นมากกว่ามาก ทำให้ไม่มีการโจมตีเกิดขึ้นได้ แต่บางทีสิ่งที่เป็นเกราะป้องกันระบบโครงข่ายบิตคอยน์ที่แท้จริงมาตลอดอาจเป็นการที่มูลค่าของเหรียญของมันนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นคงของระบบนั่นเอง การโจมตีใดๆที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบล็อกเชน โขมยเหรียญ หรือทำธุรกรรมซ้ำซ้อนได้สำเร็จย่อมแทบไม่มีค่าใดๆต่อผู้โจมตีเลย เนื่องจากมันจะเป็นการทำให้ผู้ใช้งานทั้งระบบเห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกแซงความมั่นคงของระบบ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานระบบและการถือเหรียญลดลงอย่างรุนแรง ทำให้ราคาดิ่งลงเหว หรือพูดอีกอย่างก็คือสิ่งที่ป้องกันระบบบิตคอยน์อยู่ไม่ได้มีเพียงต้นทุนในการโจมตีที่สูงเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นว่าหากผู้ใดสามารถโจมตีระบบและโขมยเงินได้สำเร็จ เงินที่โขมยไปนั้นก็จะกลายเป็นของไร้ค่าโดยทันที เนื่องจากมันเป็นระบบที่อาศัยความสมัครใจในการเข้าร่วม บิตคอยน์จะสามารถทำงานต่อไปได้หากมันมีความสัตย์จริงเท่านั้น เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถที่จะตัดสินใจเลิกใช้มันได้ทุกเมื่อเช่นกัน

 

การกระจายกำลังการขุด และกำลังในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของโค้ด ผนวกกับความยืนหยัดมั่นคงของนโยบายทางการเงินของบิตคอยน์ คือสิ่งที่ทำให้บิตคอยน์สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ มันเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการสำหรับผู้ที่เพิ่งรู้จักบิตคอยน์ว่าบิตคอยน์จำเป็นต้องผ่านอุปสรรคทางการใช้งานและความปลอดภัยมามากมายเพียงใดตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก่อนที่มันจะสามารถมายืนที่จุดนี้ได้ในวันนี้  ยิ่งเมื่อตระหนักถึงการที่อินเตอร์เน็ตได้เปิดโอกาสให้แฮกเกอร์ต่างๆสามาถโจมตีเว็บไซต์และเครือข่ายหลากหลายชนิดเพื่อความสนุกและผลกำไรได้ ความสำเร็จนี้ก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก จำนวนของช่องโหว่ทางความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ทั่วโลกในที่เพิ่มขึ้นแต่ละวันนั้นเกิดขึ้นบนระบบที่ไม่มีอะไรให้แฮกเกอร์โขมยไปได้นอกจากข้อมูลหรือโอกาสในการสร้างแต้มทางการเมืองเท่านั้น ในขณะที่ระบบบิตคอยน์มีทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับสามารถทำงานต่อเนื่องมาได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงเนื่องจากมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานในบริบทที่เต็มไปด้วยศัตรูที่จ้องจะโจมตีมันอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่วันแรก โปรแกรมเมอร์และแฮกเกอร์ทั่วทั้งโลกได้พยายามทุกวิถีทางด้วยทุกเทคนิคที่มีที่จะฉีกมันเป็นชิ้นๆ แต่มันกลับทำงานต่อไปได้ตามแผนการอย่างไม่บิดพริ้วโดยไม่สะทกสะท้านใดๆทั้งสิ้น

เหนือการควบคุม: เหตุใดจึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงบิตคอยน์ได้

 

“ธรรมชาติของบิตคอยน์ได้ถูกออกแบบไว้ให้เมื่อวันที่เวอร์ชั่น 0.1 ได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว รูปแบบแก่นสำคัญของมันนั้นจะถูกจารึกลงบนหิน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิตของมัน ”

  • ซาโตชิ นากาโมโตะ, 17/6/2020

 

ความคงทนของบิตคอยน์นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การปัดป้องการโจมตีได้สำเร็จเท่านั้น มันยังมีความสามารถในการต่อต้านความพยายามใดๆในการเปลี่ยนแปลงลักษณะคุณสมบัติของมันได้อีกด้วย ความลึกชึ้งและความหมายที่แท้จริงของคำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้กังขาส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หากนำเอาบิตคอยน์ไปเปรียบเทียบกับธนาคารกลาง มันก็จะเป็นธนาคารกลางที่มีความเสรีไม่ขึ้นต่ออำนาจใดๆมากที่สุดในโลก หากเปรียบมันกับรัฐ มันก็จะเป็นรัฐที่มีอธิปไตยสูงที่สุดในโลก อธิปไตยของบิตคอยน์นั้นเกิดมาจากการที่กฎฉันทามติของมันทำงานในลักษณะที่ทำให้มันมีความทนทานต่อการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะพยายามเปลี่ยนแปลงมัน มันไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยที่จะกล่าวว่าไม่มีใครควบคุมบิตคอยน์ และผู้คนก็มีเพียงสองทางเลือกคือจะใช้มันอย่างที่มันเป็น หรือจะไม่ใช้มันเท่านั้น

 

ความสามารถในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่คุณสมบัติของซอฟต์แวร์ของบิตคอยน์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโค้ดของซอฟต์แวร์นั้นเป็นเรื่องที่ใครก็ตามที่พอจะมีความสามารถในการเขียนโค้ดก็สามารถทำได้โดยง่าย แต่มันถูกฝังอยู่ในกลไกทางเศรษฐศาสตร์ของตัวเงินและระบบของมัน และมันมีต้นตอมาจากความยากลำบากในการทำให้สมาชิกทุกคนในเครือข่ายยอมการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์นั้นไปพร้อมๆกัน ซอฟต์แวร์ที่ทำให้คนคนหนึ่งสามารถติดตั้งและใช้งาน node ที่เชื่อมต่อกับระบบบิตคอยน์นั้นเป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยซอร์ซโค้ด หรือที่ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซ ที่ได้รับการเผยแพร่ในเบื้องต้นโดยการร่วมมือกันระหว่าง ซาโตชิ นากาโมโตะ และ ฮาล ฟินนีย์ผู้ล่วงลับ พร้อมทั้งโปรแกรมเมอร์คนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นเป็นต้นมา ใครๆก็สามารถดาวน์โหลด และใช้งานซอฟต์แวร์นี้ได้ตามใจชอบ และยังสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ตามต้องการ สิ่งนี้ทำให้เกิดการแข่งขันในรูปแบบตลาดเสรีระหว่างบิตคอยน์รูปแบบต่างๆ โดยที่ทุกคนมีอิสระในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงซอฟต์แวร์ของเขาและเสนอให้ผู้ใช้งานตัดสินใจใช้มันได้อย่างเสรี

 

เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีโปรแกรมเมอร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกอาสาที่จะอุทิศเวลาของพวกเขาไปกับการปรับปรุงซอฟต์แวร์ของ node และเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละ node ขึ้นในขณะเดียวกัน โปรแกรมเมอร์เหล่านี้ได้สร้างบิตคอยน์ที่แตกต่างกันขึ้นมาหลายรูปแบบ โดยรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมีชื่อว่า “บิตคอยน์ คอร์ (Bitcoin Core)” นอกจากนี้ยังมีบิตคอยน์รูปแบบอื่นๆอีกด้วย และผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนแปลงโค้ดของมันเมื่อใดก็ได้  ข้อบังคับเดียวสำหรับการที่ node จะเข้าร่วมกับเครือข่ายได้คือการที่มันจะต้องปฏิบัติตามกฎฉันทามติของ node อื่นๆ  โดยธุรกรรมที่เกิดจาก node ที่ไม่ปฏิบัติตามฉันทามติดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยการแก้ไขโครงสร้างของบล็อกเชน ความสมบูรณ์ของธุรกรรม จำนวนบล็อกรีวอร์ด หรือตัวแปรตัวใดตัวหนึ่งในระบบ จะถูกกีดกันจาก node อื่นๆทั้งหมด

 

กระบวนการที่เป็นผู้กำหนดตัวแปรต่างๆของบิตคอยน์เป็นตัวอย่างของกระบวนการที่อดัม เฟอร์กูสัน นักปรัชญาชาวสก็อตเรียกว่า “เป็นผลผลิตจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่ผลจากการออกแบบโดยมนุษย์ 2” แม้ว่าซาโตชิ นากาโมโตะ และ ฮาล ฟินนีย์ และคนอื่นๆได้ผลิตซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานได้แล้วในเดือนมกราคม ค.ศ. 2009 แต่มันก็ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมามากอย่างมีนัยสำคัญนับแต่นั้นมาผ่านการมีส่วนร่วมจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์นับร้อยที่ได้รับการคัดเลือกโดยผู้ใช้งานนับพันที่เปิดใช้งาน node ทั้งหลาย ไม่มีผู้มีอำนาจส่วนกลางที่สามารถควบคุมพัฒนาการของซอฟต์แวร์บิตคอยน์และไม่มีโปรแกรมเมอร์คนใดที่จะสามารถกำหนดผลลัพท์ใดๆได้เลย กุญแจสำคัญที่เป็นตัวตัดสินว่าบิตคอยน์รูปแบบใดจะได้รับการยอมรับคือการยึดแนวทางดั้งเดิมตามที่บิตคอยน์ได้ถูกออกแบบไว้แต่แรก จนอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มองได้ว่าเป็นการพัฒนาวิธีการในการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างแต่ละnodeและระบบโครงข่ายของบิตคอยน์แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบบโครงข่ายบิตคอยน์หรือกฎฉันทามติของมันแต่อย่างใด แม้การอธิบายว่าตัวแปรเหล่านี้มีอะไรบ้างนั้นจะอยู่นอกเหนือขอบเขตของหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ยังพอสรุปเกณฑ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์ได้ว่า: การเปลี่ยนแปลงใดๆที่ทำให้ node ที่เลือกใช้มันต้องหลุดออกจากฉันทามติของ node อื่นๆ จำเป็นที่จะต้องให้ node ทั้งหมดยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงจะทำให้ node ที่เริ่มใช้ข้อเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถคงอยู่ในระบบใด้ หากมี node เพียงส่วนหนึ่งยอมรับการเปลียนแปลงกฎฉันทามติใหม่นี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการแยกตัวของโครงข่ายที่เรียกว่าการฮาร์ดฟอร์ค (hard fork)

 

สิ่งนี้จึงทำให้ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถขนาดไหนแต่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บิตคอยน์ก็ไม่สามารถควบคุมบิตคอยน์ได้นั่นเอง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีหน้าที่สร้างซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้งาน node ต้องการที่จะใช้เท่านั้น แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียวที่ไม่สามารถควบคุมบิตคอยน์ได้ นักขุดเองก็เช่นกันที่ไม่ว่าพวกเขาจะมีกำลังในการประมวลผลมากเท่าใดก็ตามพวกเขาก็ไม่อาจควบคุมบิตคอยน์ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้กำลังในการประมวลผลมากเท่าใดไปกับการประมวลผลบล็อกที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ บล็อกนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับโดย node ส่วนใหญ่อยู่ดี ดังนั้นหากนักขุดคนใดพยายามที่จะเปลี่ยนกฎของระบบ บล็อกที่พวกเขาสร้างขึ้นย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกเครือข่ายที่มี node เป็นของตัวเองและนั่นก็เท่ากับเป็นการโยนทรัพยากรในการสร้าง proof-of-work ทิ้งไปโดยไม่ได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด นักขุดเองก็มีหน้าที่เพียงเป็นผู้ผลิตบล็อกที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎฉันทามติในเวลานั้นเท่านั้น

 

ถึงตรงนี้อาจจะอยากพูดว่าผู้ใช้งาน node ต่างๆนั่นเองที่เป็นผู้ควบคุมบิตคอยน์ แต่นั่นก็เป็นความจริงเพียงนามธรรมในภาพรวมๆเท่านั้น ในความเป็นจริง เจ้าของ node ก็สามารถควบคุมได้เฉพาะ node ของตนเองเท่านั้นและตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับเครือข่ายที่มีกฎเช่นใดและธุรกรรมไหนที่พวกเขาคิดว่าถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ด้วยตนเอง node ต่างๆไม่ได้สิทธิ์ในการกำหนดกฎฉันทามติมากนักเนื่องจากหากพวกเขาตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่ตรงกับฉันทามติของโครงข่ายขึ้นมา ธุรกรรมของพวกเขาก็จะถูกปฏิเสธ ทำให้ node แต่ละ node มีแรงจูงใจอันแรงกล้าที่จะรักษากฎฉันทามติของระบบเครือข่ายและรักษาความสามารถในการทำงานร่วมกับ node อื่นๆในชุดกฎฉันทามตินี้ ไม่มี node ใดที่มีอำนาจในการบังคับให้ node อื่นๆเปลี่ยนโค้ดของพวกเขา และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ระบบโดยรวมมีความเอนเอียงที่จะคงอยู่ในชุดกฎฉันทามติเดิม

 

โดยสรุปแล้ว นักพัฒนาบิตคอยน์จำเป็นต้องเผชิญกับแรงจูงใจที่จะยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยฉันทามติหากเขาหวังให้ผู้คนยอมรับโค้ดของพวกเขา นักขุดต้องปฏิบัติตามกฎฉันทามติเพื่อที่จะสามารถได้รับรางวัลตอบแทนทรัพยากรที่พวกเขาใช้ไปกับการสร้าง proof-of-work สมาชิกในระบบเครือข่ายเองก็ต้องเผชิญกับแรงจูงใจอันแข็งแกร่งที่จะคงอยู่บนกฎฉันทามติเช่นเดียวกันเพื่อที่พวกเขาจะสามารถมั่นใจได้ว่าธุรกรรมของพวกเขาจะสามารถส่งไปยังปลายทางที่ต้องการผ่านโครงข่ายไปได้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักขุด หรือเจ้าของ node แต่ละคนล้วนแล้วแต่ไม่มีความสำคัญต่อระบบเหนือผู้ใด หากพวกเขาแยกทางออกไปจากกฎที่เกิดจากฉันทามติ ผลที่ตามมาก็คือพวกเขาก็จะสูญเสียทรัพยากรของพวกเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยตราบใดที่ระบบยังสามารถให้ผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมเครือข่ายของมันได้ มันก็ย่อมจะมีผู้เข้าร่วมระบบคนใหม่เข้ามาแทนที่เอง จึงกล่าวได้ว่ากฎฉันทามติของบิตคอยน์นั้นมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ในระดับที่ว่าหากบิตคอยน์จะสามารถมีตัวตนอยู่ได้มันก็จะมีตัวตนอยู่ได้ตามตัวแปรและคุณสมบัติเหล่านี้เท่านั้น ความสามารถในการรักษาสถานะอันแข็งแกร่งของบิตคอยน์นี้เองที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงอัตราการผลิตเงินหรือตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆที่มีความสำคัญนั้นทำได้ยากเป็นอย่างยิ่ง การรักษาสมดุลย์ที่มั่นคงนี้เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้บิตคอยน์สามารถเป็นเงินที่แข็งแกร่งได้ หากบิตคอยน์ไขว้เขวไปจากกฎฉันทามตินี้ไปมูลค่าของมันในฐานะการเป็นเงินที่แข่งแกร่งย่อมลดลงไปอย่างรุนแรง

 

เท่าที่ผู้เขียนพอจะทราบมา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการพยายามรวมหัวกันเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของบิตคอยน์ครั้งสำคัญเกิดขึ้นเลยแม้สักครั้ง3 แม้แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลวแก้ไขข้อกำหนดเชิงเทคนิคของระบบก็ล้วนแล้วแต่ล้มเหลวเสมอมา เหตุผลที่แม้แต่การแก้ไขระบบที่ดูไม่มีพิษภัยยังทำได้ยากขนาดนี้มาจากลักษณะของโครงข่ายที่มีความกระจายตัว และความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้คนหลายฝ่ายที่ไม่ได้เห็นพ้องต้องกันยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้เกิดผลที่ตามมาที่พวกเขาไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ในขณะที่ความปลอดภัยจากการคงอยู่กับสถานะเดิมอันคุ้นเคยซึ่งได้ผ่านการทดสอบมาแล้วหลายต่อหลายครั้งกลับดูเป็นสิ่งที่ดูคุ้นเคยและพึ่งพาได้มากกว่า ความไม่ผันแปรของบิตคอยน์ถือได้ว่าเป็นจุดเชลลิ่ง (Schelling point) ที่มั่นคงของมัน4 เนื่องจากมันสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมระบบทุกคนยึดถือมันเอาไว้อย่างเหนียวแน่นในขณะที่การตัดสินใจแยกทางจากมันย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงจากการสูญเสียอันใหญ่หลวง

 

หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งในระบบเครือข่ายบิตคอยน์ตัดสินใจที่จะแก้ไขตัวแปรสักตัวในโค้ดของบิตคอยน์โดยการสร้างซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันกับสมาชิกผู้อื่นในโครงข่ายได้ ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ฟอร์ค (fork) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างสกุลเงินและเครือข่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกันขึ้นมาอีกสกุลหนึ่ง ตราบใดที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งคงอยู่ในเครือข่ายเดิม พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการขุดเหมือง ผลพวงจากขนาดของโครงข่าย และชื่อที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคย การที่เครือข่ายที่เกิดขึ้นใหม่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ มันจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ใช้งานส่วนมาก กำลังขุด และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดย้ายมายังระบบใหม่พร้อมๆกัน หากมันไม่สามารถได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการนั้น ผลที่ตามมาก็จะหนีไม่พ้นการที่จะเกิดบิตคอยน์สองสกุลที่ต้องมาแข่งขันกันบนกระดานของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน หากผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการฟอร์คหวังที่จะได้รับชัยชนะ พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องขายเหรียญของพวกเขาในโครงข่ายเดิมและภาวนาว่าคนอื่นจะทำเช่นเดียวกัน

 

ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของเหรียญในฟอร์คเดิมพังทลายลงและราคาของเหรียญในฟอร์คใหม่พุ่งสูงขึ้น เป็นการดึงดูดกำลังขุดและเครือข่ายทางเศรษฐกิจมายังเครือข่ายใหม่ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวแปรใดๆในการทำงานของบิตคอยน์มักจะส่งให้เกิดผลประโยชน์กับคนบางกลุ่มแลกกับผลเสียที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่นๆ มันจึงเป็นเรื่องยากที่เสียงส่วนใหญ่จะย้ายไปยังเหรียญใหม่ หรือพูดง่ายๆก็คือ ผู้ถือครองบิตคอยน์ส่วนใหญ่เลือกที่จะถือมันไว้เพราะพวกเขาถูกดึงดูดเข้ามาด้วยธรรมชาติของกฎเกณฑ์ที่ทำงานโดยอัตโนมัติและความสามารถในการต้านทานการชักจูงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยกลุ่มบุคคลที่สามของบิตคอยน์นั่นเอง คนเหล่านี้จึงไม่น่าที่จะต้องการทำสิ่งใดที่เป็นการเสี่ยงต่อการมอบอำนาจในการควบคุมตัวแปรพื้นฐานของระบบให้กับผู้คนกลุ่มใหม่ที่สร้างชุดของซอฟต์แวร์ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบเดิมได้ขึ้นมา ประเด็นที่ว่ามีผู้ถือครองบิตคอยน์ด้วยเหตุผลดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ในระบบหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือการที่ระบบมีผู้คนแบบนี้มากพอที่จะมั่นใจได้ว่าไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็จะเลือกที่จะอยู่กับระบบเดิมเสมอ เว้นแต่จะการทำงานของระบบเดิมนั้นจะถูกควบคุมแทรกแซงหรือมีปัญหาขึ้นมาทางใดทางหนึ่ง

 

หากตัดกรณีที่ระบบปัจจุบันจะเกิดการล้มเหลวอย่างหายนะเช่นนั้นออกไป มันก็ปลอดภัยที่จะกล่าวว่าจะมีสัดส่วนของ node ที่เลือกที่จะอยู่กับระบบเดิมมากพออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจคงอยู่กับระบบเดิมกลายเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับสมาชิกคนอื่นๆทุกคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะย้ายไปอยู่ในฟอร์คใหม่ดีหรือไม่ ปัญหาในการตัดสินใจย้ายไปยังระบบใหม่คือการที่หนทางเดียวที่จะช่วยให้ระบบใหม่ประสบความสำเร็จได้คือการที่คุณต้องขายเหรียญในบล็อกเชนเก่าของคุณ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากที่จะขายเหรียญบนเครือข่ายเก่าของเขาเพื่อที่จะย้ายไปยังเครือข่ายใหม่เพียงเพื่อที่จะพบว่าไม่ได้มีใครย้ายตามมาด้วยและราคาของเหรียญใหม่ก็พังทลายลง โดยสรุปคือ การย้ายไปยังบิตคอยน์รูปแบบใหม่โดยฉันทามติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่แทบทั้งหมดพร้อมใจจะทำการย้ายไปพร้อมๆกัน และการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะย้ายไปก่อนโดยที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้ย้ายตามไปด้วยย่อมส่งผลให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจแก่คนคนนั้นอย่างแทบจะแน่นอน

 

เนื่องจากการย้ายไปยังระบบรูปแบบใหม่เช่นนี้นั้นมักเป็นการมอบอำนาจในการควบคุมทิศทางในอนาคตของบิตคอยน์ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ผู้ถือครองบิตคอยน์ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้สำเร็จได้ ย่อมมีความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ในการมอบอำนาจให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือบิตคอยน์ไม่มากก็น้อย และมีแนวโน้มสูงที่จะต้อต้านการกระทำดังกล่าว การที่มีผู้คนกลุ่มนี้อยู่นั้นทำให้การที่จะสนับสนุนฟอร์คใดๆเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับสมาชิกคนอื่นๆทุกคน บทวิเคราะห์นี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดบิตคอยน์จึงสามารถต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมันอย่างมีนัยสำคัญมาถึงทุกวันนี้ ปัญหาในการรวบรวมความร่วมมือจากผู้คนที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันโดยที่หลายคนในนั้นยังมีความถือมั่นในความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ของบิตคอยน์เป็นสำคัญให้หันมาย้ายระบบเครือข่ายพร้อมๆกันนั้นเป็นปัญหาที่ดูจะไม่มีทางแก้ได้ ทำให้ไม่มีเหตุจำเป็นใดที่ใครจะต้องย้ายออกจากบิตคอยน์ในรูปแบบปัจจุบัน

 

ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตเหรียญเพื่อที่จะเพิ่มผลรางวัลจากการขุดอาจดึงดูดความสนใจจากนักขุดได้ แต่มันจะไม่สามารถดึงดูดเจ้าของเหรียญที่มีอยู่เดิมได้เลยและพวกเขาก็มีแนวโน้มสูงที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เช่นเดียวกัน การแก้ไขเพื่อเพิ่มขนาดบล็อกของบิตคอยน์อาจเป็นประโยชน์ต่อเหล่านักขุดเหมืองเนื่องจากพวกเขาจะสามารถบรรจุจำนวนธุรกรรมลงในแต่ละบล็อกได้มากขึ้นและอาจทำให้พวกเขาสามารถรับค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมได้มากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนอุปกรณ์การขุดเหมืองของพวกเขา แต่มันก็ไม่น่าที่จะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ถือบิตคอยน์ระยะยาวได้ เนื่องจากพวกเขาจะห่วงว่าขนาดของบล็อกที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้บล็อกเชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมากอย่างรวดเร็วและทำให้การติดตั้งและใช้งาน node มีต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลให้มีจำนวน node ในระบบลดน้อยลง ทำให้ระบบเครือข่ายมีการรวมศูนย์มากขึ้น และเสี่ยงต่อการโจมตีมากขึ้น โปรแกรมเมอร์ที่พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ node ไม่มีอำนาจใดๆในการบังคับให้ผู้ใช้งานยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ สิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถทำได้คือการเสนอโค้ดแล้วให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกดาวน์โหลดและใช้งานโค้ดเวอร์ชั่นใด โค้ดใดที่สามารถทำงานร่วมกับโค้ดที่มีอยู่เดิมย่อมมีแนวโน้มที่จะได้รับการดาวน์โหลดและใช้งานมากกว่าโค้ดที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันกับระบบเดิมได้เนื่องจากทางเดียวที่มันจะได้สามารถทำงานได้สำเร็จคือเมื่อผู้คนส่วนใหญ่แทบทั้งระบบหันมาใช้งานมันแทนโค้ดเวอร์ชั่นเดิม

 

ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้บิตคอยน์มีแนวโน้มอันแข็งกล้าที่จะรักษาสภาพเดิมของมันเอาไว้ ที่ผ่านมามีเพียงการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดในประเด็นที่ไม่เป้นข้อถกเถียงเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับในขณะที่ความพยายามอื่นๆในการทำให้ระบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญล้วนแล้วแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าทั้งสิ้น ภายใต้ความสะใจของเหล่าผู้พิทักษ์บิตคอยน์ระยะยาวที่ไม่ต้องการอะไรจากเงินของพวกเขามากไปกว่าความไม่สามารถหยุดยั้งและเปลี่ยนแปลงได้  ความพยายามในลักษณะดังกล่าวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือความพยายามในการเปลี่ยนแปลงขนาดของบล็อกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกรรมนั่นเอง มีหลายต่อหลายโปรเจคต์ที่ได้ดึงเอาผู้คนที่เป็นที่รู้จักในโลกและผู้ใช้งานบิตคอยน์ยุคแรกๆ และได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการพยายามทำให้เหรียญของพวกเขาเป็นที่รู้จัก แม้แต่หนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในโลกของบิตคอยน์ กาวิน แอนเดรเซน (Gavin Andresen) พร้อมด้วยกลุ่มผู้ได้เสียผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งรวมทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถและนักธุรกิจทีมีทุนจำนวนมากหลายคนได้พยายามผลักดันให้เกิดการฟอร์คบิตคอยน์ที่มีขนาดบล็อกใหญ่ขึ้นอย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง

 

ในตอนแรก แอนเดรเซ่นและนักพัฒนาอีกคนหนึ่งนาม ไมค์ เฮิร์น (Mike Hearn) ได้นำเสนอ Bitcoin XT ในเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดบล็อกจาก 1 MB เป็น 8 MB แต่ node ส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธที่จะอัพเดทซอฟต์แวร์ของพวกเขาและเลือกที่จะคงอยู่กับระบบที่มีบล็อกขนาด 1 MB มากกว่า หลังจากนั้น เฮิร์นก็ได้ถูกจ้างวานโดย “กลุ่มภาคีบล็อกเชนสำหรับสถาบันทางการเงิน” เพื่อที่จะนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสู่ตลาดการเงิน กลุ่มภาคีดังกล่าวได้เผยแพร่บทความพร้อมทั้งประวัติที่ดูน่าเลื่อมใสเกี่ยวกับเขาในนิวยอร์คไทมส์ซึ่งมีเนื้อหาสรรเสริญว่าเขาคือผู้ที่กำลังพยายามต่อสู้ช่วยเหลือบิตคอยน์ให้พ้นจากชะตากรรมแห่งความล้มเหลวที่เลี่ยงไม่พ้ร เฮิร์นได้เขียนบทความ “บทสรุปของการทดลองที่เรียกว่าบิตคอยน์” โดยอ้างว่าการขาดการเติบโตทางขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมของบิตคอยน์เป็นอุปสรรคที่ทำให้บิตคอยน์ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ก่อนที่จะประกาศว่าเขาได้ขายบิตคอยน์ทั้งหมดของเขาไปแล้ว ราคาบิตคอยน์ในวันนั้นอยู่ราวๆ $350 โดยภายในเวลาสองปีต่อมาราคาของมันขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 เท่า ในขณะที่ “กลุ่มภาคีบล็อกเชน” ดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตสินค้าใดๆขึ้นมาได้เลย

 

แต่กาวิน แอนเดรเซ่นก็ไม่ย่อท้อ เขาได้นำเสนอฟอร์คใหม่ของบิตคอยน์ภายใต้ชื่อ ”Bitcoin Classic” ที่จะทำการขยายขนาดบล็อกของบิตคอยน์ขึ้นเป็น 8 เมกะไบต์ แต่ความพยายามนี้ก็ไม่ได้ไปได้ไกลกว่าความพยายามในครั้งแรก และภายในมีนาคม ค.ศ. 2016 จำนวนของ node ที่สนับสนุนเขาก็เริ่มที่จะร่อยหรอลง แต่กลุ่มผุ้สนับสนุนแนวทางในการขยายขนาดบล็อกก็ได้รวมตัวกันเกิดเป็นข้อเสนอ Bitcoin Unlimited ในปี 2017 ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตชิปในการขุดบิตคอยน์รายใหญ่ที่สุดและเหล่านายทุนผู้ควบคุมโดเมน bitcoin.com โดยพวกเขาได้ใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการพยายามสร้างกระแสยอมรับบล็อกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างกระแสในสื่อต่างๆมากมาย สร้างความรู้สึกตื่นกลัววิกฎติที่จะเกิดขึ้นในผู้คนที่ติดตามข่าวสารจากสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วไม่มีการพยายามฟอร์คใดๆเกิดขึ้นเนื่องจาก node ส่วนใหญ่ยังคงใช้งานซอฟต์แวร์บิตคอยน์ที่ใช้งานร่วมกันได้กับบล็อกขนาด 1MB ต่อไป 

 

กระทั่งท้ายที่สุดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2017 โปรแกรมเมอร์กลุ่มหนึ่งซึ่งรวมไปด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนการขยายขนาดบล็อกในช่วงเวลาก่อนหน้าได้นำเสนอฟอร์คใหม่ของบิตคอยน์ภายใต้นามว่าบิตคอยน์แคช (Bitcoin Cash) ชะตากรรมของบิตคอยน์แคชเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาของฟอร์คที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของบิตคอยน์ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับบล็อกเชนดั้งเดิม และเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนและธุรกิจเกี่ยวกับบิตคอยน์ยังคงมุ่งความสนใจไปยังบิตคอยน์ดั้งเดิมอยู่ ทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ยังคงสูงกว่ามูลค่าของบิตคอยน์แคชเป็นอย่างมาก และส่งผลให้ราคาของบิตคอยน์แคชตกต่ำลงเรื่อยๆจนถึงจุดต่ำสุดเหลือเพียง 5% ของมูลค่าบิตคอยน์ในเดือนพฤษจิกายน 2017 ไม่เพียงแค่ว่าการฟอร์คครั้งนี้ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้เท่านั้น มันยังเต็มไปด้วยปัญหาเชิงเทคนิคที่ทำให้มันแทบไม่สามารถใช้งานได้ด้วยซ้ำ อีกทั้งการที่เหรียญใหม่นี้ใช้อัลโกริทึ่มในการขุดเช่นเดียวกับบิตคอยน์จึงทำให้นักขุดสามารถใช้กำลังการประมวลผลที่พวกเขามีอยู่ได้ในทั้งสองระบบเพื่อรับรางวัลตอบแทนได้จากทั้งสองเครือข่ายควบคู่กันไป

 

แต่ด้วยมูลค่าของบิตคอยน์ที่สูงกว่าบิตคอยน์แคชอยู่มากทำให้กำลังประมวลผลที่อยู่เบื้องหลังระบบของบิตคอยน์ยังคงสูงกว่าของบิตคอยน์แคชมากเช่นกัน และนักขุดบิตคอยน์สามารถย้ายไปขุดบิตคอยน์แคชได้ทุกเมื่อที่รางวัลในการขุดสูงขึ้น สิ่งนี้ทำให้บิตคอยน์แคชตกอยู่ในที่นั่งลำบากนั่นก็คือ: หากระดับความยากในการขุดสูงเกินไปก็จะทำให้ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างบล็อกใหม่และการประมวลธุรกรรมยืดยาวนานขึ้น แต่หากระดับความยากลดลงต่ำเกินไป เหรียญก็จะถูกขุดขึ้นใหม่อยาางรวดเร็วและอุปทานของมันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันทำให้มีอุปทานของบิตคอยน์แคชเกิดขึ้นใหม่เร็วกว่าบนเชนของบิตคอยน์และจะส่งผลให้รางวัลตอบแทนในการขุดบิตคอยน์แคชหมดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะนำมาสู่การฮาร์ดฟอร์คเพื่อปรับอัตราการเติบโตของอุปทานเพื่อที่จะให้รางวัลตอบแทนในการขุดแก่นักขุดต่อไป ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับเชนที่แยกตัวออกไปจากบิตคอยน์เท่านั้นแต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นกับบิตคอยน์เองเลย การขุดบิตคอยน์นั้นใช้กำลังประมวลผลส่วนใหญ่ที่สุดในอัลกอริทึ่มของมัน และการเพิ่มขึ้นของกำลังการประมวลผลก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมาเสมอเมื่อนักขุดค่อยๆเพิ่มกำลังขุดของตน แต่สำหรับเหรียญที่แยกตัวออกมาจากบิตคอยน์นั้น มูลค่าเหรียญและระดับความยากที่ต่ำกว่าของมันทำให้มันตกอยู่ใต้ความเสี่ยงที่จะมีกำลังขุดขนาดใหญ่จากเชนที่มีมูลค่าสูงกว่าโฉบเข้ามาร่วมขุดเพียงชั่วขณะแล้วจากไป

 

หลังจากความล้มเหลวในการท้าทายต่ำแหน่งของบิตคอยน์ครั้งนี้ ก็ได้มีการพยายามที่จะทำการฟอร์คบิตคอยน์เพื่อเพิ่มขนาดบล็อกให้ใหญ่ขึ้นสองเท่า ซึ่งเป็นผลจากการเจรจากันระหว่างกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพในวงการบิตคอยน์ ซึ่งความพยายามครั้งนี้ก็ได้ล้มเลิกไปในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเมื่อเหล่าผู้สนับสนุนมันตระหนักได้ว่าพวกเขาแทบไม่มีโอกาสที่จะสามารถได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่และมันจะเป็นเพียงการสร้างโครงข่ายและเหรียญขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่มีความแน่วแน่ในบิตคอยน์ต่างเรียนรู้ที่จะไม่ให้ความสนใจกับความพยายามเหล่านี้เพราะพวกเขาตระหนักดีแล้วว่าไม่ว่าจะมีการสร้างกระแสรุนแรงเท่าใด ท้ายที่สุดแล้วการพยายามที่จะแก้ไขฉันทามติของบิตคอยน์ย่อมลงเอยด้วยการสร้างเหรียญที่ลอกเลียนแบบบิตคอยน์ขึ้นมาอีกเหรียญหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับพวก altcoins หรือเหรียญทางเลือกต่างๆ ที่ลอกเอารายละเอียดปลีกย่อยต่างๆไปจากบิตคอยน์แต่กลับไม่สามารถมีคุณสมบัติที่สำคัญข้อเดียวของบิตคอยน์ได้ นั่นคือความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง จากข้อถกเถียงเบื้องต้นทำให้ควรจะเห็นได้ชัดว่าข้อได้เปรียบของบิตคอยน์นั้นไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว ความสะดวก หรือความง่ายในการใช้งานของมันเลย มูลค่าของบิตคอยน์มาจากการที่มันมีนโยบายทางการเงินที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ง่ายๆแม้แต่คนเดียว จึงกล่าวได้ว่าเหรียญใดก็ตามที่มีจุดกำเนิดมาจากการที่มีผู้คนกลุ่มหนึ่งปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆของบิตคอยน์นั้นได้สูญเสียคุณสมบัติสำคัญข้อเดียวที่ทำให้บิตคอยน์มีมูลค่าตั้งแต่แรกไปแล้ว

 

การใช้งานบิตคอยน์เป็นเรื่องตรงไปตรงมา แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันนั้นเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ บิตคอยน์เป็นระบบที่อาศัยความสมัครใจในการใช้งาน ทำให้ไม่มีใครถูกบังคับให้ใช้มัน แต่ผู้ใดก็ตามที่ต้องการจะใช้มันก็จำเป็นที่จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ของมันด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงบิตคอยน์ทางใดก็ตามเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และหากมีผู้ใดพยายามที่จะกระทำเช่นนั้น เขาก็จะลงเอยด้วยการสร้างสิ่งลอกเลียนแบบที่ไร้ความหมายขึ้นมาเพื่อเพิ่มเติมเข้าไปยังรายชื่อของเหรียญนับพันที่มีอยู่แล้ว ผู้ที่ต้องการใช้บิตคอยน์นั้นต้องใช้มันอย่างที่มันเป็น ต้องยอมรับข้อกำหนดของมันและใช้ในสิ่งที่มันสามารถให้ได้เท่านั้น บิตคอยน์มีอธิปไตยเป็นของตนเองในความหมายทั้งหมดทั้งปวง กล่าวคือมันทำงานตามกฎของมันเอง และไม่มีบุคคลภายนอกคนใดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงกฎเหล่านี้ได้ มันอาจทำให้เข้าใจง่ายขึ้นเสียด้วยซ้ำหากเราเปรียบข้อกำหนดการทำงานของบิตคอยน์เหมือนกับการหมุนรอบแกนของโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาว กล่าวคือมันเป็นพลังที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราและเราทำได้เพียงใช้ชีวิตอยู่กับมันโดยไม่อาจแก้ไขมันได้แต่อย่างใด

 

แอนติแฟรจิลิตี้: ยิ่งทุบตียิ่งแข็งแกร่ง

 

บิตคอยน์นั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดแอนติแฟรจิลิตี้ (antifragility) ของนัซซิม ทาเล็บ โดยเขาได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่าเป็นการได้รับประโยชน์จากภยันตรายและความวุ่นวาย บิตคอยน์นั้นไม่เพียงแต่ทนทานต่อการโจมตีเท่านั้น แต่มันสามารถกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่แอนติแฟรไจล์ (antifragile) หรือยิ่งทุบตียิ่งแข็งแกร่งทั้งในระดับเทคนิคและเศรษศาสตร์เลยทีเดียว แม้ความพยายามในการทำลายบิตคอยน์ได้ล้มเหลวมาตลอดถึงปัจจุบัน แต่หลายต่อหลายครั้งที่การโจมตีครั้งต่างๆกลับทำให้บิตคอยน์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยทำให้นักพัฒนามองเห็นจุดอ่อนและทำการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีที่ล้มเหลวแต่ละครั้งก็เป็นเหมือนกับดาวประดับยศ เป็นข้อพิสูจน์และสิ่งที่ชักจูงให้ผู้ใช้งานและผู้คนภายนอกตระหนักถึงความมั่นคงของระบบ

 

ทีมนักพัฒนาอาสาสมัคร นักตรวจสอบ และแฮคเกอร์จากทั่วทั้งโลกล้วนหันมาให้ความสนใจทั้งในเชิงวิชาชีพ การเงิน และ เชิงปัญญาในการช่วยกันพัฒนาปรับปรุงโค้ดและเครือข่ายของบิตคอยน์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จุดอ่อนหรือช่องโหว่ใดๆที่พบในข้อกำหนดรายละเอียดในโค้ดจะดึงดูดผู้คนเหล่านี้ให้เข้ามาเสนอ ถกเถียง ทดสอบแนวทางแก้ไขและนำเสนอแก่ผู้ใช้งานเพื่อให้ได้รับการยอมรับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากอดีตถึงปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิบัติงานที่ทำให้โครงข่ายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งสิ้น แต่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เป็นการแก้ไขหัวใจการทำงานของบิตคอยน์ นักเขียนโค้ดเหล่านี้สามารถที่จะเป็นเจ้าของเหรียญบิตคอยน์ได้ ซึ่งจำทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะทำงานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบิตคอยน์จะสามารถเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จได้ และความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบิตคอยน์ตลอดมาก็เป็นการตบรางวัลทางการเงินให้แก่นักเขียนโค้ดเหล่านี้และทำให้พวกเขาสามารถที่จะอุทิศเวลาและความพยายามในการรักษาระบบการทำงานของบิตคอยน์เอาไว้ นักพัฒนาที่มีชื่อเสียงที่ทำงานดูแลรักษาบิตคอยน์บางส่วนยังร่ำรวยจากการลงทุนในบิตคอยน์มากเพียงพอที่จะทำให้เขายึดเอาหน้าที่ในการดูแลระบบบิตคอยน์เป็นหน้าที่หลักได้โดยไม่จำเป็นต้องรับค่าจ้างจากใคร

 

ในแง่ของความสนใจจากสื่อ บิตคอยน์ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนที่ดีของสำนวนที่ว่า “การเผยแพร่ชื่อเสียงไม่ว่าในรูปแบบใด เป็นการเผยแพร่ที่ดีทั้งสิ้น” ในฐานะเทคโนโลยีใหม่ที่น้อยคนจะเข้าใจ บิตคอยน์ย่อมได้รับการกล่าวถึงอย่างผิดๆ หรือการแสดงออกในเชิงปฏิปักษ์อย่างเห็นได้ชัดในสื่อต่างเสมอ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ เว็บไซต์ 99bitcoin.com ได้รวบรวมมากกว่า 200 บทความอันโด่งดังที่ได้ประกาศจุดจบของบิตคอยน์มาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักเขียนบางคนที่เขียนบทความเหล่านี้มองว่าบิตคอยน์นั้นขัดต่อความเข้าใจโลกของพวกเขา โดยเฉพาะในมุมมองเงินของรัฐหรือศรัทธาต่อความสำคัญในการมีอุปทานทางการเงินที่ยืดหยุดในแบบเคนเซียนโดยปฏิเสธที่จะฉุกคิดว่าเขาอาจเป็นฝ่ายผิดเสียเอง ในทางกลับกัน พวกเขากลับสรุปเอาว่าการมีอยู่ของบิตคอยน์ต่างหากที่เป็นสิ่งผิด พวกเขาจึงพยากรณ์ว่าอีกไม่นานมันจะต้องตาย นักเขียนบางกลุ่มก็มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าบิตคอยน์จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลกถึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ และเมื่อพวกเขาไม่สามารถทำให้บิตคอยน์เปลี่ยนแปลงไปตามที่พวกเขาต้องการได้พวกเขาก็สรุปว่ามันจำเป็นต้องตาย การโจมตีบิตคอยน์ของคนเหล่านี้ทำให้พวกเขาเขียนถึงบิตคอยน์และทำให้บิตคอยน์เป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งคำประกาศมรณกรรมเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด กำลังประมวลผล จำนวนธุรกรรม และมูลค่าตลาดของบิตคอยน์ก็ยิ่งโตขึ้นมากเท่านั้น จนผู้เขียนคนนี้สรุปได้ว่าผู้ถือบิตคอยน์จำนวนมากหันมาเห็นความสำคัญของบิตคอยน์จากการที่มันยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้จะถูกมองว่าไม่มีทางไปรอดมาหลายต่อหลายครั้งนี่เอง มรณประกาศต่างๆของบิตคอยน์ไม่มีอำนาจใดๆที่จะหยุดยั้งมันได้ แต่มันกลับดูเหมือนว่าจะเป็นการช่วยให้สาธารณชนเกิดความสงสัยอยากรู้อยากเห็นว่าเหตุใดบิตคอยน์จึงสามารถทำงานต่อไปได้ทั้งที่มีข่าวร้ายและการโจมตีจากสื่อมากมายขนาดนี้

 

ตัวอย่างที่แสดงถึงความแอนตี้แฟรไจล์ของบิตคอยน์ได้ดีเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง 2013 เมื่อหน่วยเอฟบีไอบุกเข้าจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเว็บไซต์ซิลค์โรด (silk road) ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่ผู้คนมีเสรีภาพในการซื้อและขายสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการบนอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงยาเสพย์ติดผิดกฎหมาย ด้วยการผูกโยงภาพลักษณ์ของบิตคอยน์ในความคิดของสาธารณชนเข้ากับยาเสพย์ติดและอาชญากรรมนี้ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าการปิดตัวลงของเว็บไซต์ดังกล่าวจะทำลายประโยชน์ในการใช้งานของบิตคอยน์ลง ราคาบิตคอยน์ในวันนั้นร่วงลงจากราวๆ $120 มาถึง $100 แต่มันกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและพุ่งไปถึง $1,200 ต่อบิตคอยน์ภายในเวลาไม่กี่เดือน จนถึงขณะที่กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ ราคาของบิตคอยน์ก็ไม่เคยลงไปต่ำกว่าระดับที่มันเคยอยู่ในช่วงก่อนที่จะมีการปิดเว็บไซต์ซิลค์โรดอีกเลย การเอาตัวรอดจากการปิดตัวของซิลค์โรดโดยไร้บาดแผลใดๆของบิตคอยน์นี้เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่ามันเป็นมากกว่าเงินของอาชญากร และในระหว่างเหตุการณ์นั้นเองบิตคอยน์ยังได้รับการเผยแพร่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากการข่าวการปิดซิลค์โรดในสื่อต่างๆอีกด้วย

 

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเจริญเติบโตเมื่อถูกโจมตีของบิตคอยน์เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2017 หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศระงับกิจการตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายบิตคอยน์ในประเทศจีน แม้ว่าปฏิกิริยาตอบสนองในช่วงแรกจะเต็มไปด้วยความตระหนกแตกตื่นที่ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ลดลงประมาณ 40% แต่ราคาก็เริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนราคาได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าจากระดับก่อนที่จะมีคำสั่งห้ามซื้อขายบิตคอยน์จากรัฐบาลเสียอีก แม้ว่าการสั่งระงับตลาดไม่ให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนบิตคอยน์สามารถมองได้ว่าเป็นสิ่งขัดขวางการยอมรับและใช้งานบิตคอยน์ผ่านการลดสภาพคล่องของมันลง แต่มันกลับดูเหมือนจะเป็นการเน้นย้ำคุณค่าหลักของบิตคอยน์เสียมากกว่า มีการทำธุรกรรมนอกตลาดแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้นในจีน ทำให้ปริมาณการซื้อขายในเว็บไซต์อย่าง localbitcoins.com พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติกาล อาจกล่าวได้ว่าการระงับการซื้อขายในจีนส่งผลให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม เพราะมันทำให้ประชาชนชาวจีนต้องหันมาถือบิตคอยน์ในระยะยาวแทนที่จะแลกเปลี่ยนซื้อขายมันในระยะสั้น

Article bitcoin-standard
Writer

Maybe You Like